วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

รางวัลครูเจ้าฟ้า...จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน

 31 ก.ค. 2560 19:04 น.    เข้าชม 1875

      ในผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ ยังมีพื้นที่ทุรกันดารที่ประชาชนไทยอยู่อาศัยอยู่ห่างไกลความเจริญ อีกทั้งพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยต่อชีวิต จากเหตุการณ์ความไม่สงบ หากทว่าในพื้นที่เหล่านี้ก็มีกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ หลากหลายที่มีความมุ่งมั่นที่ช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในถิ่นทุรกันดารมาโดยตลอด โดยเฉพาะอาชีพครูซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองปฏิบัติหน้าที่เพื่อเด็ก เยาวชน เป็นแม่พิมพ์และแบบอย่างของการพัฒนาเยาวชนและประชาชนให้เป็นคนดีและคนเก่ง เพื่อจะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต การเสียสละความสุขส่วนตัว มุ่งมั่นเพื่อส่วนรวมเช่นนี้ สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการเผยแพร่ผลงานคุณงามความดี และยกย่องเชิดชูเกียรติ เพื่อให้เป็นแบบอย่างการทำความดีให้ปรากฏแก่สังคม ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ร่วม ๑๐ ปี ได้มีรางวัลอันทรงเกียรติที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับครูผู้เสียสละเช่นนี้ โดยเราอาจจะได้ยินชื่อรางวัลเป็นที่คุ้นหูว่า รางวัล “ครูเจ้าฟ้า” แต่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่า รางวัล“ครูเจ้าฟ้า” อันทรงเกียรตินี้ มีอยู่ด้วยกันถึงสองรางวัลด้วยกัน ที่เกิดจากปณิธานทางด้านการศึกษาของเจ้าฟ้าองค์ประธานทั้งสองพระองค์ อันได้แก่  “รางวัลครูเจ้าฟ้า กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” และ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
“รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”
      สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสนพระทัยและห่วงใยใน การพัฒนาด้านการศึกษาของประชาชนผู้ด้อยโอกาสในการท้องถิ่นทุรกันดารอย่างสม่ำเสมอตลอดมา หลังจากที่พระองค์ท่านทรงสิ้นพระชนม์ ในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ “โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า” ซึ่งอยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จึงได้จัดทำโครงการครูดีเด่น “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ เป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ครูเสียสละที่ปฏิบติงานในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเดินทางไปปฏิบัติงานเพื่อเด็ก เยาวชนและประชาชนที่อยู่ห่างไกล โดยร่วมกับสำนักงาน กศน.  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนในการดำเนินการคัดเลือกครูดีเด่น ซึ่งเริ่มในปี ๒๕๕๒ เป็นปีแรก ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงาน คุณงามความดีและยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ได้รับรางวัลให้เป็นแบบอย่างของการทำดีในสังคมไทย โดยกำหนดการประกาศผลรางวัลในวันที่ ๖ พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
      การมอบรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์มาแล้ว 9 รุ่นด้วยกัน รวมทั้งสิ้นรุ่นละ 9 คนต่อปี โดยทุกรุ่นจะประกอบไปด้วย ๑.ครูอาสาสมัคร ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา (ศศช.) ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ๒.ครูตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ๓.ครูประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  โดยครูทั้งสามกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทุรกันดารบนพื้นที่สูง ในเขต ๙ จังหวัดภาคเหนือ และเขตพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้  อย่างน้อยเป็นเวลา ๓ ปีขึ้นไป  โดยรุ่นที่ ๙ ได้เข้ารับรางวัลไป เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ มูลนิธิ พอ.สว. ที่ผ่านมา “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

      เป็นอีกหนึ่งรางวัลที่เกิดขึ้นในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในปี ๒๕๕๘ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดตั้งรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระปรีชาด้านการศึกษา ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในระดับต่างๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นห่างไกลทั่วประเทศ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งพระนามรางวัลว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดตั้ง “มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อเป็นองค์กรหลักในการวางแผนการดำเนินงานและพิจารณารางวัล
      รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้มีผลงานดีเด่น สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม ๑๑ ประเทศ (ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา พม่า บรูไน และติมอร์เลสเต) ประเทศละ ๑ รางวัล จำนวนรวม ๑๑ รางวัล ในปี ๒๕๕๗ นี้จะเป็นปีแรกที่ทั้ง ๑๑ ประเทศ เริ่มดำเนินการคัดเลือกครูพร้อมกัน และจะดำเนินการคัดเลือกครูในทุก ๒ ปี โดยคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจะเสนอกรอบแนวคิด ส่วนการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกและกลไกให้ขึ้นกับดุลยพินิจของแต่ละประเทศ งานพระราชทานรางวัลจะจัดราวเดือนตุลาคม ในส่วนของประเทศไทย ครูจะผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับจังหวัด คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง และคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จะได้รับรางวัล ดังนี้ คือ ๑. ครูผู้มีคะแนนสูงสุดจากการตัดสินของคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จะได้รับ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี”  ๒. ครูผู้มีคะแนนลำดับที่ ๒ และลำดับที่ ๓ จากการตัดสินของคณะกรรมการมูลนิธิ  รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จะได้รับ “รางวัลคุณากร” ๓. ครูผู้มีคะแนนลำดับที่ ๔ ถึงลำดับที่ ๑๗ จากการตัดสินของคณะกรรมการส่วนกลาง จะได้รับ “รางวัลครูยิ่งคุณ” และ ๔. ครูผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับจังหวัดและได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการวิชาการจะได้รับ “รางวัลครูขวัญศิษย์”  โดยปัจจุบันดำเนินการมาเป็นปีที่ ๒
ครูเจ้าฟ้า กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
      จากการดำเนินงานเวลา ๙ ปีของโครงการครูดีเด่น “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”  มีครูจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับรางวัลมาแล้ว ๒๗ ท่าน  การทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ น้อยคนนักที่จะยอมเสียสละความสุขส่วนตัวและความปลอดภัยในชีวิต แต่ความทุ่มเทของครูเจ้าฟ้าแต่ละท่านนั้นยากที่จะบรรยายได้หมด บางท่านปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เป็นเวลาเกิน ๒๐ ปี  บางท่านไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่สอนนักเรียนจากรุ่นสู่รุ่น และบางคนได้รับจดหมายขู่เอาชีวิตจากผู้ไม่หวังดี  ความเป็นครูนั้นไม่เพียงแต่ทำหน้าที่มุ่งมั่นสอนนักเรียนในโรงเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้ ให้มีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับเด็กในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ แต่นักเรียนของพวกท่านบางคน ยังมีนักเรียนนอกระบบการศึกษา นักศึกษาพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มพัฒนาอาชีพในชุมชน รวมไปจนถึงผู้ต้องขังในเรือนจำ ที่พวกเขามอบโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยน้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับทุกกลุ่มเป้าหมาย
      ครูแวเยาะ แวอาแซ ผู้ได้รับรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ ปี ๒๕๕๕ ครู กศน. ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ตัวครูเองเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องฝ่าฟันเพื่อให้ได้รับโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยให้ชีวิตเธอดีขึ้น โดยได้โอกาสการเรียนจากระบบการศึกษานอกโรงเรียน เพราะฐานะไม่เอื้ออำนวย แต่ไม่ละความพยายามที่จะเรียนหนังสือ ครูแวเยาะจึงทำงานทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้ตัวเองได้เรียนแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความยากลำบากแค่ไหน ก็ไม่ละทิ้งโอกาสในการเรียน จนได้โอกาสเป็นครู กศน.ที่บ้านเกิดของตนเองในที่สุด ซึ่งนอกจากบทบาทหน้าที่ความเป็นครูที่มุ่งมั่นในด้านการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสในนักศึกษานอกระบบมีโอกาสทางการศึกษาสูงมากขึ้น แม้ไม่ได้เรียนในระบบสามัญ  ครูแวเยาะยังมีส่วนร่วมในการจัดตั้งกลุ่มสร้างอาชีพให้กับชุมชนด้วย โดยนำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาประยุกต์สร้างเงินสร้างรายได้ให้กับชุมชนตำบลแหลมโพธิ์ เช่นการทำสิ่งประดิษฐ์จากเปลือกหอย  โดยตัวครูแวเยาะนั้นไม่ได้คิดกลัวกับเหตุการณ์ความสงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งที่เคยเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยกับตัวเอง เพราะตัวครูเองมีแนวคิดที่ชัดเจนว่า การศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้  ช่วยให้คนในพื้นที่สามารถสื่อสารกับคนต่างพื้นที่ ต่างศาสนา ได้อย่างเข้าใจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญในการการรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้องและสามารถทำความเข้าใจและวิเคราะห์ข่าวสารได้ด้วยตัวเองมากขึ้น  อีกทั้งเธอยังแนะนำให้นักศึกษารู้จักความพอเพียงและการออมที่มีผลต่อการพัฒนาชีวิตของเธอมาแล้ว

      ครูกานต์ชนก มางัดสาเระ ครูหัวใจแกร่งจาก โรงเรียนบูกิตประชาอุปถัมภ์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ผู้ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับ รางวัล “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี ๒๕๖๐ จาก มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นผู้ที่ยืนหยัด เสียสละ และทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่สีแดงมานานกว่า ๒๐ ปี แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่ โดยไม่เคยคิดที่จะย้ายออกไปเลยสักครั้ง ทั้งที่โรงเรียนแห่งนี้เป็นเป้าหมายของการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่อำเภอเจาะไอร้องถึง ๔ ครั้ง นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา เหตุการณ์เผาอาคารสถานที่ในโรงเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่นับรวมกับความรุนแรงในพื้นที่ทั้งเสียงปืนและระเบิดอีกนับครั้งไม่ถ้วน “ครูกานต์ชนก” จึงเป็นครูเพียงคนเดียวที่ยืนหยัดอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้มายาวนานที่สุด ด้วยสิ่งที่เชื่อมั่นมาตลอดในวิชาชีพครู นั่นคือ คนเราเมื่อมีการศึกษา จิตวิญญาณและจิตใต้สำนึกจะถูกขัดเกลาและยกระดับให้สูงขึ้น ซึ่งคนที่เป็นครูเท่านั้นจึงจะสามารถสร้างหรือยกระดับจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ให้เด็กๆ เป็นคนดีได้ เมื่อเป็นคนดีแล้วทุกอย่างย่อมที่จะต้องดีตามขึ้นไปด้วยกัน  และครูยังยึดเอาพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตคือ เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา คือครูต้องเข้าถึงและเข้าใจเด็ก ผู้ปกครอง และชุมชน โดยครูพยายามปลูกฝังให้เด็กนักเรียนทุกคน “รักบ้านเกิด” และยังพยายามส่งเสริมให้เด็กๆ ได้รับโอกาสในการเรียนสูงที่สุด หลายคนเมื่อเรียนจบแล้วก็กลับมาทำงานในพื้นที่ในหลากหลายอาชีพ และมีลูกศิษย์ถึง ๕ คนที่กลับมาเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพทำหน้าที่ “ครู” เพื่อให้โอกาสกับเด็กๆ เหมือนกับที่ตนเองได้รับจากครูผู้เป็นต้นแบบของพวกเขา
      ทุกสิ่งที่ครูทุกท่านทำไป ไม่เคยคิดว่าทำไปเพื่อรางวัลใด แต่เป็นหน้าที่ที่พวกท่านรักและมุ่งมั่นที่จะทำให้ดีที่สุด  แต่รางวัลที่ได้มาก็ทำให้พวกเขาภูมิใจและหายเหนื่อย และมุ่งมั่นต่อไปด้วยความเชื่อที่ว่า การศึกษาจะสร้างเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี ซึ่งคนดีเหล่านี้จะนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอีกไม่ช้า
 

ความคิดเห็น