วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

เสื่อของแม่...เสื่อกระจูด บ้านทอน

 12 ส.ค. 2560 02:12 น.    เข้าชม 6200

“พระราชินีฯ พูดว่าให้สานกระจูด กระจูดนี้ไม่ให้หาย ให้สอนคนอื่นด้วย เวลาเราแก่แล้ว คนอื่นก็เป็นเวลาเราไม่อยู่แล้ว ไม่ให้หาย เราภูมิใจมากเลย”
      เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ทรงพบเห็นปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมากมาย จึงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยพระราชทานความช่วยเหลือครอบครัวราษฎร ที่มีฐานะยากจน โดยพระราชทานกลุ่มอาชีพต่างๆ ให้กับราษฎร เพื่อเป็นอาชีพเสริมในยามว่างได้มีงานทํา และมีรายได้ที่แน่นอน และเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยและวัตถุดิบในท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ซึ่งเป็นที่มาของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ จังหวัดนราธิวาส และในขณะที่พระองค์ได้เสด็จเยี่ยมประชาชนในตำบลโคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเสื่อกระจูด ที่ประชาชนนำมาปูเป็นลาดพระบาท นั่นจึงเป็นที่มาของกลุ่มจักสานเสื่อกระจูดหนึ่งในงานโครงการศิลปาชีพของพระองค์ โดยส่งเสริมให้เป็นงานนอกภาคเกษตรสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในครัวเรือน
“สาดจูด” ศิลปะแห่งวิถีชีวิต

      ด้วยสภาพพื้นที่ของบ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาสนั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ติดทะเล จึงทำให้มีพื้นที่ทำนาน้อยมาก เมื่อกว่า 100 ปีก่อน ชาวบ้านทอน จึงมักต้องไปหาซื้อข้าวเปลือกจากนอกหมู่บ้านมาเก็บไว้บริโภค ชาวบ้านจึงต้องมีภาชนะขนาดใหญ่เพื่อมาบรรจุเก็บรักษาข้าวเปลือกที่ซื้อมาในปริมาณมากๆ ในแต่ละครั้ง จึงได้คิดนำกระจูด ซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นอยู่แหล่งตามธรรมชาติบริเวณน้ำขัง ตามริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลน ซึ่งเรียกว่า "พรุ” อย่างมากมาย จึงนำมาจักสานเป็นกระสอบเพื่อเก็บข้าวเปลือก จึงทำให้มีผู้คนเริ่มสนใจในประโยชน์ใช้สอยของกระจูดและขอซื้อนำไปใช้บ้าง จนเป็นที่นิยมแพร่หลาย และต่อมาได้คิดค้นริเริ่มคิดพัฒนานำกระจูดมาสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือนต่างๆ มากขึ้น นอกจากนั้นยังนำกระจูดมาสานเป็น "สาดจูด” หรือเสื่อกระจูด เพื่อใช้สำหรับปูนั่ง ปูนอน การสานเสื่อจูด ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงสืบทอดจากบรรพบุรุษมาแต่ครั้งอดีต เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน มีการสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น นอกจากสานเป็นเสื่อแล้ว ยังสานเป็นกระสอบสำหรับบรรจุสิ่งของ เช่น ข้าวสาร ข้าวเปลือก น้ำตาล หรือเกลือ ขั้นตอนการทำเสื่อกระจูดนั้น ชาวบ้านจะตัดต้นกระจูดจากป่าพรุ หรือปัจจุบัน ได้มีการนำมาปลูกไว้ในที่ดินของตัวเองด้วย เพื่อเป็นการอนุรักษ์เพิ่มจำนวนต้นกระจูด จากนั้นจะนำต้นกระจูดสด หมักโคลนดินเหนียวคลุกจนได้ที่แล้ว นำกระจูดที่หมักแล้ว ตากแดด ประมาณ 1-2 วัน เมื่อแห้งดีแล้ว จะรวมกันเข้าเป็นมัด นำไปเข้าเครื่องรีด จากนั้นก็เก็บไว้ในที่ร่ม ไม่ให้โดนแดด-ลม ก่อนที่จะนำไปย้อมสี ตากแห้งก่อนจะรีดอีกครั้ง ก่อนนำไปใช้สาน โดยแต่เดิมจะสานเป็นลายเรียบง่าย เป็นสีธรรมชาติ ต่อมาได้มีการย้อมสีสันและสาน ให้เกิดลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมภาคใต้ และในการรับเสด็จในครั้งนั้น ชาวบ้านได้นำเสื่อกระจูดที่สานเป็นลวดลายสีสันงดงามมาจัดวางเป็นลาดพระบาทรับเสด็จพระราชินี
รับเสด็จด้วยลาดพระบาทจากเสื่อกระจูด
      การทอดพระเนตรเห็นเสื่อกระจูดของพระองค์ในครั้งนั้น ทำให้เกิดความสนพระทัยเป็นอย่างมาก และทรงทราบว่ากระจูดเป็นพืชที่ขึ้นในหนองน้ำ มีอยู่ทั่วไปในภาคใต้ จึงได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งกลุ่มจักสานกระจูดขึ้นที่บ้านทอน ต.โคกเคียน เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์งานหัตถกรรมพื้นบ้าน และส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น นอกจากโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการจัดตั้งกลุ่มจักสานงานกระจูดขึ้น พระองค์ยังรับสั่งให้ค้นหาผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีฝีมือทางด้านการจักสานกระจูดมาเป็นครูผู้สอนให้กับชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย โดยให้ใช้ลวดลายแบบโบราณ โปรดให้เก็บรักษาลวดลายต่างๆ เหล่านั้นไว้ ได้แก่ ลายแม่น้ำ ลายลูกแก้ว ลายแหวน ลายลูกศร เป็นต้น ต่อมาได้มีการพัฒนาโดยทรงจัดให้มีการแข่งขันในการสาน การประกวดลวดลาย เพื่อให้มีการพัฒนารูปแบบ และรูปทรงของผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ เช่น ทําซอง เป็นกล่อง เป็นกระเป๋า เพื่อใส่สิ่งของ เป็นต้น และผู้ที่ได้รับรางวัล ก็จะได้มาเป็นครูถ่ายทอดวิชาที่ศูนย์ฝึกอาชีพ ที่อยู่ในการดูแลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง โดยชาวบ้านสามารถเข้าไปฝึกฝนการทำเสื่อกระจูด หรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระจูด ที่ศูนย์ฝึกอาชีพ โดยมีครูที่เป็นเกษตรกรในพื้นที่ ที่จะช่วยส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นใหม่ ต่อๆ ไป  เมื่อเรียนไปแล้ว ก็สามารถจัดตั้งกลุ่มในหมู่บ้านเพื่อที่จะสามารถผลิตขายสู่ท้องตลาดได้ ทางศูนย์ยังช่วยดูแลการฝึกอาชีพ และต่อยอดสู่การแปรรูป โดยนำเสื่อมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นแฟ้ม กระเป๋า กล่อง แฟ้ม หมวก กรอบรูปหรือของใช้อื่นๆ โดยทางโครงการศิลปาชีพ และศูนย์พิกุลทอง จะมีการจัดการประกวดผลงานศิลปาชีพ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับประชาชน
มุ่งมั่นอนุรักษ์และสืบสาน

      ปัจจุบัน กลุ่มศิลปาชีพบ้านทอน ตำบลโคกเคียน จังหวัดนราธิวาส ยังคงสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน การจักสานงานกระจูด ไม่ให้สูญหายไป โดยสมาชิกกลุ่มไม่ได้ทำเพียงสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ สืบสานและถ่ายทอดให้กับลูกหลาน เยาวชนคนรุ่นใหม่ นักเรียนในโรงเรียน และผู้ที่มีความสนใจ เพื่อให้ศิลปะและภูมิปัญญานี้คงอยู่ต่อไป โครงการศิลปาชีพจักสานเสื่อกระจูดเติบโต มีสมาชิกเพิ่มขึ้นและขยายตัวเกิดกลุ่มขึ้นอีกหลายกลุ่มตามหมู่บ้านต่างๆ ในตำบลโคกเคียน รวมทั้งหมด 6 กลุ่ม จำนวนสมาชิกมากกว่า 200 คน และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยขึ้น การจัดตั้งโครงการศิลปาชีพ ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้รายได้จากกระจูดนี่เองที่เป็นรายได้ส่งให้ลูกเรียนจนจบ ชาวบ้านไม่ว่าคนรุ่นเก่าหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ ต่างสำนึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงมีความรักและห่วงใยให้กับประชาชนทุกคน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมแต่อย่างใด ดังนั้น นอกจากจะรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว สมาชิกกลุ่มทุกคน ยังสนองพระราชเสาวนีย์ที่พระองค์ทรงมีให้ไว้ด้วยทรงต้องการให้คนไทยนั้นรัก และภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของไทยเรา

      ผู้ที่สนใจงานหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ สามารถสนับสนุนได้ทั้งที่ศูนย์ศิลปาชีพ สวนจิตรลดา, ร้านพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, บริษัทไทยคราฟท์ แฟร์เทรด จำกัด, งานกาชาด และงานมหกรรม OTOP ของกรมพัฒนาชุมชน ส่วนในพื้นที่สามารถหาซื้อและเยี่ยมชมการผลิตได้ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส, ศูนย์ OTOP จังหวัดนราธิวาส และที่ทำการกลุ่มทั้ง 6 กลุ่ม ต.โคกเคียน อ.เมือง จังหวัดนราธิวาส
 

ความคิดเห็น