วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

อดุลย์ เร็งมา นายแพทย์ผู้รักษาคนไข้ด้วยหัวใจ

 18 ส.ค. 2560 23:21 น.    เข้าชม 2641

      อดุลย์ เร็งมา ลูกชาวสวนยางฐานะยากจนคนหนึ่ง มีความใฝ่ฝันอยากเป็นคุณหมอตั้งแต่เด็ก จากภาพประทับใจที่เห็นหมอสวมชุดทำงานสีขาว ไปฉีดยา ฉีดวัคซีน ให้ความรู้กับชาวบ้านและเด็กๆ ในความรู้สึกแล้ว หมอเป็นอาชีพที่เป็นฮีโร่ เป็นอาชีพที่บริสุทธิ์ แต่ไม่คิดว่าตัวเองจะมีโอกาสได้เป็นหมอ เพราะพ่อแม่เป็นชาวสวนยางที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ครอบครัวของเขา มีพี่น้องถึง 4 คน แต่ตัวเขาเองนั้น คิดว่าถ้ารอมรดกไม่มีทางที่จะมีโอกาสที่ดี มีแต่การศึกษาเท่านั้น ที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาได้ จึงพยายามตั้งใจเรียนให้มากที่สุด เมื่อจบชั้นมัธยมได้สอบเข้าเรียนคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และด้วยความกรุณาของคณาจารย์ เห็นถึงความตั้งใจ ได้เสนอให้รับทุนเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ 
      ด้วยโอกาสทางการศึกษาจากทุนของพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ที่อดุลย์ เร็งมา ได้รับนั้น ทำให้เขาซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างมาก จึงมุ่งมั่น ศึกษาหาความรู้วิชาแพทย์ เพื่อทดแทนคุณของพระองค์ ได้เป็นหมออย่างที่ตั้งใจ และกลับมาบ้านเกิดของตนเอง รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลรือเสาะ เป็นเวลา 10 ปี และได้รับโอกาสสำคัญยิ่งในบทบาทของผู้บริหารโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ทำให้หมอมีความตั้งใจที่จะบริหารงานในสถานที่แห่งนี้ ให้มีความเหมาะสมในการเป็นรพ.เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โจทย์ที่หมออดุลย์ได้รับ คือ โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และหมอคิดว่า ต้องทำให้สมพระเกียรติ ทำเพื่อพระองค์ท่าน ซึ่งจากการที่หมออดุลย์ได้ใช้เวลาช่วงที่โรงพยาบาลยังสร้างไม่เสร็จ ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ ทำให้มุมมองการบริหาร มีทั้งความกว้างขวางและลุ่มลึกมากขึ้น

      “นี่คือโรงพยาบาลของในหลวง ทั้งประเทศไทยมี รพ.เฉลิมพระเกียรติเพียง 9 แห่ง เท่านั้น ก่อนหน้านี้ทุกฝ่ายมองว่า ยี่งอไม่จำเป็นต้องมี รพ. เพราะห่างจากอำเภอเมือง 18 กม. แต่คนยี่งอมองว่า อำเภออื่น มีหมดแต่อำเภอยี่งอ ที่มีประชากรสี่หมื่นกว่าคน ไม่มี รพ.เป็นของตัวเองบ้าง จึงเป็นที่มาของความพยายามในการรวบรวมที่ดิน เพื่อไปเสนอให้ทางสาธารณสุขว่า ต้องมี รพ.ของคนยี่งอ ที่ดินที่นี่ 100 % มาจากการบริจาคของคนยี่งอ ส่วนการก่อสร้าง กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรงบประมาณให้ ในปี พ.ศ. 2550 สร้างเสร็จ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553   และเราใช้วันพ่อ เป็นฤกษ์เปิดโรงพยาบาลของพ่อเรา”

      การสาธารณสุขเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเมื่อมีโรงพยาบาลอยู่ใกล้บ้านทำให้รู้สึกอุ่นใจ ทำให้ไม่ต้องเดินทางไปรักษาในพื้นที่อื่น ซึ่งห่างไกลชุมชน นับว่าเป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจในวิชาชีพของคุณหมออดุลย์ ที่ได้มีโอกาสเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลยี่งอ เพราะการได้เข้ามาทำงานในโรงพยาบาล ที่เป็นของประชาชนทุกคนในชุมชน ถือเป็นความยิ่งใหญ่ที่ได้ตอบแทนคุณพ่อของแผ่นดิน นอกจากจะได้รับทุน การศึกษาและการเข้ามาบริหารงานใน รพ.ยี่งอ ยังได้รับโอกาสสำคัญอีกครั้ง ในการถวายรับใช้สมเด็จพระเทพฯ เนื่องในโอกาสทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลยี่งอ เฉลิมพระเกียติ 80 พรรษา เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2556 ด้วยความที่หมออดุลย์ ต้องการทำให้โรงพยาบาลนี้ ควรค่ากับความเป็นโรงพยาบาลนี้เฉลิมพระเกียรติ จึงได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบบริการให้ตรงกับความต้องการของคนในชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและสร้างความเป็นกันเองให้กับคนในชุมชน เพื่อให้รู้สึกว่า รพ.เหมือนบ้าน ที่มีทุกคนในชุมชนรวมเป็นครอบครัวเดียวกัน

      “ก่อนที่โรงพยาบาลยี่งอ จะสร้างเสร็จ เราใช้สถานีอนามัยยี่งอ เป็นที่ทำการชั่วคราว และทำให้มองเห็นว่าถ้าเรารองรับ ณ จุดบริการอย่างเดียว ไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของการออกหน่วยบริการเชิงรุกให้มากที่สุด ขยายบริการ ออกบริการตรวจใกล้บ้านใกล้ใจ แบบฟูลทีม มีหมอ มีพยาบาล มีเภสัช มีทีมพร้อม หนึ่งตำบลมี 1 สอ. เราออกทุก สอ. ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป คนไข้โรคเรื้อรังก็ไปรับยาใกล้บ้าน เป็นการตอบแทนคนยี่งอ ที่อยากได้ รพ. ไม่ได้หมายความว่า ต้องมาหาที่ รพ.อย่างเดียว แต่อยู่ใกล้บ้านเค้ามากที่สุด ส่วนตัว รพ. ด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ เราต้องการทำให้สมพระเกียรติ จึงมีการบริหารโดยพยายามลดความรู้สึกของความเป็นโรงพยาบาลลงให้มากที่สุด เป็นที่มาของคอนเซ็ปท์ Hospital เป็นโรงพยาบาลที่บริการเสมือนโรงแรม  service as hotel คนไข้ได้รับความสะดวกสบายไม่ต้องรอนาน และในเมื่อที่นี่เป็นโรงพยาบาลของชุมชน เราก็ต้องตอบแทนให้เค้ารู้สึกว่า รพ.ที่นี่ไม่ใช่ของรัฐ เป็นของพวกเขานี่แหละ ร่วมกันสร้างขึ้นมา เป็น community owned hospital ชุมชนเป็นเจ้าของ
      นอกจากการตรวจรักษาใน รพ. หมออดุลย์ ยังลงพื้นที่เยี่ยมเยียนรักษาผู้ป่วยถึงบ้านอีกด้วย เพราะการบริหารงานในโรงพยาบาลอย่างเดียวนั้น คงไม่เพียงพอ แต่ต้องรู้จักพื้นที่และคนในพื้นที่ รวมถึงเข้าใจทุกสภาพความแตกต่างของคนในพื้นที่ด้วย เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้าถึงชุมชน คือ ต้องเข้าใจและมีความจริงใจให้กับคนในชุมชน
      “จริงๆ แล้วทางกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย ใกล้บ้านใกล้ใจอยู่แล้ว แต่เรามาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของชุมชนยี่งอ ให้ใกล้ชุมชนมากที่สุด เข้าใจ จริงใจ แบ่งหมอชัดเจนว่า ตำบลนี้ หมอคนนี้รับผิดชอบ การมีพื้นที่รับผิดชอบ จะได้เข้าใจมากกว่าการไปตรวจตามหน้าที่ เวลาไปหมายถึง มากกว่าการตรวจ อาจต้องไปเยี่ยมบ้าน  ถ้ามีผู้ป่วยติดเตียง มีผู้ป่วยที่ต้องทำแผล มีผู้ป่วยที่มารับบริการที่สถานีอนามัยไม่ได้

      จากการบริหารงานของหมออดุลย์และบุคลากรทุกท่านที่ดูแลคนไข้ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ รพ.แห่งนี้ เปรียบเสมือนบ้านของประชาชนทุกคน และนอกจากการบริหารงานในโรงพยาบาลแล้ว การรักษาคนไข้ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะหน้าที่ของหมอ ต้องช่วยเหลือผู้ป่วยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่คำนึงถึงคำว่าผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น หลักคิดในการบริหาร “โรงพยาบาลของในหลวง” คือ การน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหาร และชีวิตส่วนตัวของหมอ ก็ใช้เศรษฐกิจพอเพียงเช่นเดียวกัน แบ่งชีวิตเป็นสามส่วน คือ ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และการงาน ทุกเช้าตื่นมาตีสี่ จะละหมาดและมาออกกำลังกาย ก่อนมาทำงาน มีสุขภาพที่พร้อมให้บริการประชาชน ตอนเย็นหลังเลิกงาน ก็กลับสู่ชีวิตครอบครัว ไม่ว่าจะอยู่บทบาทไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร หรือเป็นหมอ หมออดุลย์เน้นความสำคัญว่า ต้องมีความเข้าใจ และจริงใจ  แม้ว่าต้องทำงานรักษาผู้ป่วยในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องเสี่ยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ไม่เคยมีความคิด ที่จะย้ายออกไปทำงานนอกพื้นที่ เพราะที่นี่ คือ บ้านเกิด และตั้งใจจะพัฒนาชุมชนให้มีความมั่นคงและสงบสุข 

      “อาชีพหมออยู่ได้ทั่วโลก สามจังหวัดก็เหมือนกัน เราเป็นกลุ่มคนที่ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่ได้มองว่าเป็นศัตรู แต่เราอยู่ตรงกลาง เราดูแลสุขภาพไม่ว่าเค้าจะมีหน้าที่อะไร ถ้าหมอทุกคนวิ่งหาโรงพยาบาลใหญ่ วิ่งเข้าหาเมืองหลวง พื้นที่ชายขอบจะเป็นอย่างไร คนต้องเดินทางไปหาหมอต้องใช้สามสี่ชั่วโมง ถ้าเราลดกระบวนการเหล่านี้ ให้บริการใกล้บ้านมากที่สุด เข้าใจมากที่สุด จะช่วยได้เยอะ ผมตั้งปณิธานไว้ว่า จะตอบแทนพระคุณแผ่นดิน ในหลวงและพระราชวงศ์ ทุกวันนี้ ยังถามตัวเองว่า ตอบแทนได้ดีพอหรือยัง เพราะการทำดีไม่มีวันจบสิ้นจนกว่าชีวิตจะหาไม่ การทำดีอยู่ที่ใจ ตั้งใจ เข้าใจและจริงใจ ทำไปเรื่อยๆ ณ วันนี้ผมก็ยังรู้สึกติดค้างบุญคุณในพระองค์ท่าน ทรงเป็นตัวอย่างในการพระราชทุนให้ผู้ด้อยโอกาส ผมตั้งกองทุนจากทุนของผม เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้เด็กยากจนในพื้นที่ ทรงเป็นต้นแบบ ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมต้องให้ด้วย ไม่ใช่แค่ทำงานใช้ทุนอย่างเดียว”
      ด้วยสิ่งที่ในหลวงทรงมอบให้ทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตและการสาธารณสุขที่ดีขึ้น ซึ่งหมออดุลย์ขอทำหน้าที่ดูแลประชาชนของพระองค์ เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณ เป็นเวลามากกว่า 20 ปี ที่นายแพทย์อดุลย์ เร็งมา อุทิศตัวเพื่อรักษาคนไข้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันคุณหมออดุลย์ ยังบริหารงานโรงพยาบาลควบคู่กับการตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยตนเอง โดยไม่ลดชั่วโมงการทำงาน โดยหวังให้ประชาชนในพื้นที่ มีสุขภาพที่แข็งแรงและได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ดี ได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการบริหารงานโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียติ 80 พรรษา ให้เปรียบเสมือนบ้านของประชาชนทุกคนในชุมชนอย่างแท้จริง…

ความคิดเห็น