วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน 3 จชต. ตามแนวทาง Thailand 4.0

 21 ส.ค. 2560 22:55 น.    เข้าชม 3848

      พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กล่าวไว้ว่า “การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่มีภูมิลำเนาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้" นั้นจะต้องทำให้เยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ตามศักยภาพของตนเองอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การที่จะไปถึงจุดนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาแบบสองทาง ให้นักเรียนถาม ตอบ ชี้แจง เรียนรู้นอกห้อง ค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต โดยให้ครูและนักเรียนเรียนรู้ไปด้วยกัน สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ดี
      สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในคำกล่าวของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ข้างต้น ก็คือ การปรากฏของคำสำคัญ (Key Word) น่าสนใจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง Thailand 4.0 นั่นคือ คำว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เน้นย้ำให้จัดการศึกษาแบบสองทาง ให้นักเรียนถาม ตอบ ชี้แจง การเรียนรู้นอกห้อง และ การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต คำสำคัญเหล่านี้ เป็นคำที่แปลกใหม่ แตกต่างจากในอดีต กล่าวคือ ในอดีตนั้น เมื่อพูดถึงการปรับปรุงการศึกษาแล้ว คำสำคัญส่วนใหญ่จะอยู่ที่ นักเรียน ครู กระบวนการต่างๆ ในการให้การศึกษา เป็นต้น
แก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 3 จชต.
      เป็นเวลามากกว่าทศวรรษ ที่หน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงองค์กรภาคเอกชน จำนวนมาก ได้เข้าไปบุกเบิกงานวิจัยด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิเช่น สำนักงานกองทุนการวิจัย (สกว.) โดยมีทั้งการวิจัยเพื่อแก้โจทย์ ที่ดำเนินการโดยเพียงหน่วยงานเดียว และงานวิจัยร่วมระหว่างหลายหน่วยงาน อาทิเช่น งานวิจัยร่วมระหว่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
      หากนำงานวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาแยกแยะเป็นกลุ่มๆ แล้ว จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเครือข่ายการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาครู และคุณภาพการศึกษา, 2) ด้านอาชีพ (การมีงานทำ และเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน), 3) ด้านอิสลามศึกษา และพหุวัฒนธรรมศึกษา, 4) ด้านสื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา, 5) ด้านระบบบริหารจัดการการศึกษา และ 6) ด้านคุณภาพ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
      ผลงานวิจัยในแต่ละด้าน ถูกนำมาต่อยอดเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ องค์ความรู้เหล่านี้ สามารถนำมาเป็นต้นแบบของการศึกษาที่ตอบโจทย์ของคนทุกช่วงวัยได้
4 สาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 3 จชต.

      จากผลการวิจัยทางด้านการศึกษาหลายๆ งานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ค้นพบว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกิดขึ้นจาก 4 สาเหตุ นั่นคือ
1. ขาดข้อมูลพื้นฐาน (Lack of Basic Information): ไม่มี หรือขาดข้อมูลสภาวการณ์ด้านเด็กเยาวชน และข้อมูลชุมชน ที่จะใช้เป็นข้อมูลในการตั้งโจทย์ในการทำงาน
2. ขาดการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน/บุคคลสำคัญในชุมชน และชุมชน: (Lack of Participation of Key Persons and Communities): เมื่อขาดการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน/บุคคลสำคัญในชุมชน รวมไปถึงประชาชนในชุมชน การดำเนินการใดๆ ย่อมไม่มีพลัง ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
3. ขาดกระบวนการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (Lack of Co-Learning and Sharing Process): การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องใช้องค์ความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเกิดขึ้นจากการบูรณาการร่วมกัน แล้วนำความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ร่วมกัน ไปใช้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง หากขาดซึ่งกระบวนการดังกล่าว ก็ไม่สามารถสร้างองค์ความรู้ร่วมที่จะนำมาใช้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
4. ขาดกลไกในการบริหารจัดการ (Lack of Management Mechanism): เมื่อขาดกลไกในการบริหารจัดการ ก็ยากที่จะจัดการความสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้ และพัฒนางานร่วมกันระหว่างรัฐ กับ ชุมชน รวมไปถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
      จากการค้นพบต้นตอของสาเหตุดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นำมาสู่การพัฒนาแนวทางการในการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาจนถึงปัจจุบัน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำคุณภาพชีวิต

      ดังที่กล่าวในย่อหน้าที่ 2 ของบทความนี้ ว่า “การปรากฏของคำสำคัญ (Key Word) น่าสนใจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง Thailand 4.0 อยู่หลายคำ อาทิเช่น การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เน้นย้ำให้จัดการศึกษาแบบสองทาง ให้นักเรียนถาม ตอบ ชี้แจง การเรียนรู้นอกห้อง การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต”.....คำถามก็คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเรียนรู้นอกห้อง การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต มีความสอดคล้องกับแนวทาง Thailand 4.0 อย่างไร หัวใจสำคัญของ Thailand 4.0
      การขับเคลื่อนให้ประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง แต่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ต่ำมาก และเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การสร้างนวัตกรรม (Innovation) และขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Driven) อย่างไรก็ตามก็ไปสู่จุดนั้นได้ คนไทยจำเป็นจะต้องคุณภาพ โดยเฉพาะในมิติของการมีความคิดสร้างสรรค์ แล้วนำเอาความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น ไปสร้างเป็นนวัตกรรม เพื่อใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
      การดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านศึกษา หรือการทำคุณภาพของคนเป็นไปตามมาตรฐาน และไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นการดำเนินการที่ยาวนาน และต่อเนื่อง ซึ่งก็มีวิวัฒนาการดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในมิติของแนวทาง Thailand 4.0 แล้ว การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะต้องนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิตของพี่น้องในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพิ่มเติมความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมด้วยการศึกษาแบบสองทาง
      การศึกษาในยุค Thailand 4.0 จะต้องเน้นในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ที่มุ่งไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้วย โดยความคิดสร้างสรรค์นั้น เกิดขึ้นเมื่อคนเราเมื่อต้องการแก้ไขปัญหาใด ก็จะนำความรู้ที่ตนเองมีอยู่ และค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วนำสองสิ่งนี้ มาผสมผสานจนเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ หากยิ่งความรู้ และข้อมูลมากเท่าใด ความหลากหลายของความคิดสร้างสรรค์ก็จะมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดนวัตกรรมก็เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นจึงต้องนำการเรียนแบบสองทาง และเรียนรู้จากนอกห้องเรียน มากระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น มากกว่าการเรียนในห้องเรียนแต่เพียงอย่างเดียว เสริมกระบวนการศึกษาแบบสองทาง ด้วยการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
      
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า การส่งเสริมการศึกษาแบบสองทาง และการศึกษานอกห้องเรียน นั้นเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนคิดแบบสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวไปแล้วว่า ยิ่งมีข้อมูลถูกส่งเข้าไปในกระบวนการคิดแบบสร้างสรรค์มากเท่าไหร่ ความหลากหลายของความคิดสร้างสรรค์ และโอกาสที่จะเกิดนวัตกรรม ก็จะมีมากขึ้น ยิ่งมีความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากยิ่งขึ้น ได้อย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น อินเทอร์เน็ต ก็เป็นเครื่องมือ หรือช่องทาง ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข้อมูลไหลเข้าสู่ระบบการคิดมากยิ่งขึ้น...การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ก็คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือ/กลไกหนึ่ง ในการเพิ่มระดับความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

      การศึกษาถือได้ว่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น...หากมีความเหลื่อมล้ำในด้านนี้เกิดขึ้น นั่นย่อมหมายถึง จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของคุณภาพชีวิตของผู้คน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องพยายามพัฒนาหนทางในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และได้นำหนทางเหล่านั้น มาใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผลการดำเนินการก็ดีขึ้นตามลำดับ...อย่างไรก็ตามเป้าหมายสุดท้าย ก็คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0 ซึ่งในตอนนี้ได้เริ่มเดินหน้าดำเนินการแล้ว...สำหรับผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไร เราคงจะต้องมาติดตาม และให้กำลังใจผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป  

ความคิดเห็น