วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

Social Enterprise กับการแก้ไขปัญหา จชต.

 25 ส.ค. 2560 19:10 น.    เข้าชม 3086

      ในช่วงหลายปีมานี้ คำว่า “Social Enterprise” หรือ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” เป็นคำที่ถูกพูดถึงค่อนข้างบ่อยในสังคมไทย...โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคปฏิรูป เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย 4.0 นี้ คำว่า “Social Enterprise” เป็นคำที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศค่อนข้างมาก เนื่องจากเหล่านักคิดชั้นนำ ต่างมองว่า ธุรกิจ ไม่ใช่ “ต้นทุน” บวก “กำไร” แต่ยังรวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในและนอกกระบวนการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นการที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทย จะเดินทางไปในอนาคตได้อย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นั้น การส่งเสริมให้เกิด “Social Enterprise” ให้มากที่สุดจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทำไมต้อง Social Enterprise       Social Enterprise หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่าเมื่อสังคมก้าวหน้า ขยายขนาด และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นตามมาโดยทวีความซับซ้อน หลากหลาย และความรุนแรงเช่นเดียวกัน จนยากที่หน่วยงานภาครัฐจะรับมือได้ทั้งหมด ในขณะที่หน่วยงานเอกชนก็มักดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงานและผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) โดยตรง เช่น ผู้ถือหุ้น เท่านั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จึงเกิดหน่วยงานที่เรียกว่า องค์การพัฒนาเอกชน (Non-governmental Organization - NGO) อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานขององค์กรพัฒนาเอกชนมักต้องพึ่งพาแหล่งทุนจากภายนอก ในลักษะต่างๆ เช่น การรับบริจาค การขอการสนับสนุนแบบให้เปล่า ทำให้ประสบปัญหาความต่อเนื่องในการดำเนินงาน ข้อจำกัดในการขยายขอบเขตและงาน และความยั่งยืนขององค์กร นี่เป็นข้อจำกัดที่เป็นจุดกำเนิดของกิจการเพื่อสังคม ที่ดำเนินงานเพื่อเป้าหมายทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงการดำเนินงานและขยายงานให้เต็มศักยภาพ
แผนภาพต่อไปนี้ แสดงความแตกต่างต่างระหว่าง NGO, Social Enterprise, Social Business และธุรกิจที่

หวังผลกำไร

Image Credit:
https://www.clearlyso.com/wp-content/uploads/2015/03/3socialbusinessdiagram.png

ประชารัฐ VS Social Enterprise       คำอีกคำหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง นั่นคือ คำว่า “ประชารัฐ” จริง ๆ แล้วโดยนัยคำว่า “ประชารัฐ” มีนัยที่เหมือนกับคำว่า “Social Enterprise หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม” กล่าวคือ ประชารัฐ และ Social Enterprise หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม ต่างก็เป็นการรวมตัวระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือ ภาคธุรกิจ และ ชุมชน โดยผลการประกอบการเน้นตอบโจทย์ของชุมชน และเพื่อการลงทุนต่อยอดในอนาคต อย่างไรก็ตามในบริบทของประเทศไทย หากใช้คำว่า “Social Enterprise” มันอาจจะดูไกลตัวสำหรับคนไทย ดังนั้น การประดิษฐ์คำให้สามารถสื่อสารกับสังคมไทย และไม่ดูไกลตัวมากเกินไป คำว่า “ประชารัฐ” ก็สามารถนำมาใช้สื่อสารแทนคำว่า “Social Enterprise” ได้เป็นอย่างดี สถาบันวานิตาฯ กับการพัฒนา Social Enterprise ใน 3 จชต.       อีกหนึ่ง Social Enterprise ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ สถาบันวานิตาเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน (WANITA Economic Empowerment Academy) ซึ่งแนวคิดของสถาบันนี้ก็คือ การสร้างจุดเชื่อมประสานกลางในงานส่งเสริมกลุ่มอาชีพ และสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของผู้หญิง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในลักษณะ One Stop Service ตั้งแต่วัตถุประสงค์ต้นน้ำ นั่นคือ เป็นแหล่งเรียนรู้ เพิ่มพูนศักยภาพ  และพัฒนาทักษะในด้านธุรกิจ และภาวะผู้นำของผู้หญิง ต่อจากนั้นจะดำเนินการเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจเพื่อสนับสนุนการเปิดตลาดใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผู้หญิง และเชื่อมโยงกับภาคเอกชนทั้งใน และต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านทุนนวัตกรรม และองค์ความรู้ อีกทั้งยังเป็นศูนย์บริการข้อมูล และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อมประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินการของสถาบันวานิตาฯ นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ได้ช่วยสร้าง Social Enterprise หรือ วิสาหกิจชุมชนไปแล้ว กว่า 25 กลุ่ม เกิด 2 ชุมชนต้นแบบ มีวิสาหกิจชุมชน 3 กลุ่ม ได้แก่ ได้รับรางวัลการประกวดรางวัล STI Award ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) บางส่วน ของ Social Enterprise ในพื้นที่ใน 3 จชต.       เชื่อหรือไม่ว่า ในปัจจุบันมี Social Enterprise หรือ วิสาหกิจชุมชน มากมาย เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่าง Social Enterprise บางส่วน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลองกองผลไม้ดี ชายแดนใต้

      จากสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ “ลองกอง” ซึ่งเป็นผลไม้ที่อร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ ต้องประสบปัญหาทางด้านการตลาด และการขาย ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และประชารัฐ สถาบันส่งเสริม และพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวทางพระราชดำริ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท และ ศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา จัดโครงการ “ลองกองผลไม้ดีชายแดนใต้” ทั้งนี้เพื่อผนึกกำลังในการสร้าง วิสาหกิจเพื่อสังคมเฉพาะกิจ แก้ปัญหาด้านการตลาด และการขายให้กับ “ลองกองผลไม้ดี ชายแดนใต้” "WO-MANIS" พลิกชีวิตสาวมุสลิมปลายด้ามขวาน

      เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในโลกนี้ ย่อมจะต้องมีสตรีเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ เนื่องจากสตรี คือ เพศแม่ที่ยิ่งใหญ่...เช่นเดียวกัน สตรีหม้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องสูญเสียสามีไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบ สตรีผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ กำลังใช้ผืนผ้าส่งเสียงเล็กๆ ไปยังผู้คนในสังคม

      WO-MANIS คือ ชื่อของ Social Enterprise หรือธุรกิจประชารัฐ ที่ดึงเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในเหล่าสตรีหม้ายใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มาผสมผสานกับหลักการบริหารจัดการทางธุรกิจ และสร้างความร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจเพื่อสังคม ดีไซเนอร์จิตอาสา อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Facebook เป็นช่องทางการขายยุคใหม่ ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรภาคเอกชน (อโซก้า ประเทศไทย) โดยผลกำไรที่ได้นั้นก็นำมาเป็นรายได้แก่สตรีหม้าย และสมทบเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กกำพร้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้       นั่นคือ แนวคิด Social Enterprise หรือ วิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นโครงการองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการผสานประโยชน์กันในลักษณะ Win Win Solution ระหว่าง ชุมชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐ โดยผลลัพธ์สุดท้ายให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพขีวิตให้กับชุมชนเป็นหลัก...อาจกล่าวได้ว่า Social Enterprise หรือ วิสาหกิจชุมชน จะกลายเป็นอีกเครื่องมือสำคัญเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากการรวมตัวกันของทุกภาคส่วนภายใต้บริบทของ Social Enterprise ตั้งอยู่บน Win Win ของทุกฝ่าย

ความคิดเห็น