วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

กลุ่มอาชีพบ้านรักษ์กะลา สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นด้วยฐานทุนทางวัฒนธรรม

 28 ส.ค. 2560 23:08 น.    เข้าชม 3132

      ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่หนุ่มสาววัยทำงาน นิยมที่จะย้ายถิ่นฐานออกไปทำงานนอกพื้นที่ ในทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ห่างไกล จึงเหลือเพียงคนแก่และเด็กอยู่กันเพียงลำพังเป็นจำนวนมาก เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย การที่จะลดกระแสการออกไปทำงานนอกพื้นที่ได้ มีความจำเป็นต้องปลูกฝังความเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนก่อน “กลุ่มบ้านรักษ์กะลา” คือ ชื่อของกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาว ใน ตำบลบ้านกลาง อำเภอปะนาเระ จังหวัดนราธิวาส ที่ร่วมกันผลิตภัณฑ์เครื่องใช้และของที่ระลึกที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น รากไม้ กะลามะพร้าว เปลือกหอย ลดปัญหาการออกไปทำงานนอกพื้นที่ ในช่วงเวลาว่างจากการช่วยพ่อแม่ทำอาชีพหลัก คือ อาชีพประมง ซึ่งจะมีเวลาว่างในฤดูมรสุม 4 เดือน ที่ออกทะเลไม่ได้ เยาวชนคนหนุ่มสาว ก็ไปทำงานในมาเลเซีย ถึง 80% ปัญหาชุมชนถูกทิ้งร้าง เพราะเยาวชนออกไปทำงานนอกพื้นที่ นับวันจะมีมากขึ้นๆ
      นายสาหะซูไลมัน อันอดับ ผู้ก่อตั้งกลุ่มบ้านรักษ์กะลา ซึ่งมีบทบาทในการเป็นอาสาพัฒนาชุมชนมาก่อน และได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน ให้เริ่มเห็นปัญหาและร่วมกันแก้ไขโดยสร้างพื้นที่ให้เยาวชนมาฝึกอาชีพร่วมกัน  โดยเอาวัตถุดิบในชุมชนมาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น รากไม้ กะลามะพร้าว เปลือกหอย ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน กลุ่มรักษ์กะลา จึงเป็นพื้นที่กลางในการทำอาชีพเสริม และเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการคิดและลงมือทำทั้งผู้ใหญ่ เยาวชนและเด็ก ทั้งในและนอกระบบมาเรียนรู้ร่วมกัน และกระตุ้นจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดของตัวเอง เป็นพลังที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน การคิดและลงมือทำ อย่างเป็นกระบวนการ ทำให้กลุ่มบ้านรักษ์กะลาเติบโตขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้คนในชุมชน กล้าที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม จากแรกๆ มีเพียง 3 - 4 คน แต่ตอนนี้ ต้องมีการคัดกรองคนที่ตั้งใจจริงๆ และมีการแบ่งกลุ่มตามอายุของเยาวชนอีกด้วย
      “สมาชิกบางคนก็เป็นเยาวชนนอกระบบ บางคนก็เรียนหนังสือ หลังเลิกเรียน ก็มาทำกิจกรรมที่นี่ ได้ไปออกค่าย ได้ไปออกบูธขายของ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีในห้องเรียน ทำให้ได้รับแรงบันดาลใจ ในอนาคตอาจจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง มั่นคงและทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนได้” นายสาหะซูไลมัน อธิบายถึงหลักคิดในการทำงานพัฒนาศักยภาพกลุ่มเยาวชน ทำให้เห็นว่าการพัฒนาชุมชน นอกจากจะทำให้ทุกคนมีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ จะต้องควบคู่ไปกับการปลูกฝังความรู้สึกรัก ความภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดให้กับเยาวชนที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นพลังขับเคลื่อนชุมชนในรุ่นต่อๆ ไป

เพิ่มมนต์เสน่ห์ทางวัฒนธรรม
      ในแต่ละพื้นที่มีบริบทในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ประชาชนในแต่ละท้องถิ่น จะมีภูมิปัญญาของตนเอง ในการสร้างผลิตภัณฑ์จากวัสดุในท้องถิ่น ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และถ้าทำได้ย่อมไม่มีใครอยากออกไปทำงานนอกพื้นที่แน่นอน ภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงนับเป็นคลังสมบัติที่นำมาใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด เช่น ลวดลายบนเรือกอและ จ.ปัตตานี เป็นลวดลายที่สืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งบ้านรักษ์กะลา มีแนวความคิดจะนำลวดลายเหล่านี้ให้มาปรากฏอยู่บนผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ลวดลายเหล่านี้ ถูกวาดและถ่ายทอดโดย ลุงมะยานัม อูมา ศิลปินช่างเขียนลายเรือกอและที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในปัตตานี ผู้มีวิถีชีวิตเรียบง่ายอยู่ที่ชุมชน ต.บ้านกลาง บ้านเกิดของเขาแห่งนี้ มีความสุขกับงานศิลปะและอยากให้เด็กๆ ในชุมชนได้ประโยชน์จากงานศิลปะ
      “อันดับแรกที่ผมคิด คือ วัฒนธรรมกับหัตถกรรมต้องอยู่ด้วยกัน พยายามหาโจทย์ว่า งานหัตถกรรมเรามีอยู่แล้ว แต่ยังขาดมนต์เสน่ห์ ขาดการถ่ายทอดกลิ่นอายของท้องถิ่น  ซึ่งในท้องถิ่นก็มีปราชญ์ชาวบ้าน มีต้นทุนอยู่แล้ว ในปะนาเระ มีอยู่คนเดียว” นายสาหะซูไลมัน เล่าถึงการขบคิดเพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

      การพัฒนารูปแบบของชิ้นงานและการวาดลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดปัตตานี ลงบนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบ้านรักษ์กะลา นอกจากจะเพิ่มมูลค่าของสินค้าแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ให้คนภายนอกได้รู้จักลวดลาย ซึ่งเป็นศิลปะประจำท้องถิ่นของจังหวัดปัตตานี และหัวใจสำคัญคือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับรุ่นลูกหลาน ซึ่งเป็นเยาวชนในท้องถิ่นนั่นเอง เพราะในทางปฏิบัติแล้ว สิ่งที่เป็นปัญหา คือ การขาดคนเขียนลายที่มีจำนวนน้อย จึงมีความจำเป็นต้องวางรากฐานให้เยาวชนในพื้นที่ช่วยสืบสานศิลปะแขนงนี้ต่อไป เสน่ห์ของผลิตภัณฑ์บ้านรักษ์กะลา จึงมิได้อยู่เพียงแค่การสร้างชิ้นงาน แต่คือ กระบวนการสร้าง "คน" ผ่านการค้นหาคุณค่าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาไปสู่การฟื้นพลังเด็กและเยาวชนนอกระบบ
      “เมื่อก่อนลวดลายจะอยู่ที่เรือเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็น ลายปัตตานีกับนราธิวาสจะต่างกัน ลายนราธิวาสจะมีกนกผสมอยู่ แต่ในปัตตานีในแต่ละหมู่บ้าน ก็มีช่างที่ลายแตกต่างกัน งานศิลป์ถ้าเราได้จับจริงๆ แม้แต่ข้าวก็ลืมกิน แต่ละชุมชนจะมีของดีอยู่แล้ว เราต้องดูว่า ในหมู่บ้านเรามีอะไรให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ทางที่ดีจะมีเส้นเดียว ทางไม่ดีมักมีหลายเส้น กลัวว่าเด็กจะหลงทาง ต้องรักษาดีๆ ทุกคนเป็นเมล็ดพันธุ์มีความเก่งความสามารถอยู่ในตัว อยู่ที่เราจะขยันรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ดูแลหรือไม่ อยากให้พ่อแม่เข้ามาดูว่า ที่กลุ่มเป็นยังไง ถ้าพ่อแม่เข้าใจเราก็ไม่เหนื่อยมาก” อาจารย์มะยานัม ให้ข้อคิด
      การจะพัฒนาบ้านเมืองได้ ต้องอาศัยคนที่มีจิตสาธารณะมาทำงานร่วมกัน แต่ก่อนที่จะเกิดกระบวนการเหล่านั้นได้ ประชาชนจะต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเสียก่อน กลุ่มบ้านรักษ์กะลา เชื่อว่า การที่ผู้ใหญ่สร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์นั้น เปิดโอกาสให้พวกเขาเหล่านี้ ได้คลุกคลีกับสิ่งที่ตนเองชอบ จะเป็นการขัดเกลาความคิดให้กับเด็กๆ สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ และจะกลับมาทำประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป และยังเชื่อมั่นอีกว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกหลานนั้น พวกเขาสามารถยึดเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน และไม่ลืมที่จะกลับมาตอบแทนบ้านเกิดของตนเอง

ความคิดเห็น