วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

สืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านเพื่อสันติสุข

 30 ส.ค. 2560 18:18 น.    เข้าชม 2573

      ศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น สะท้อนให้พวกเราได้เห็นถึงวิถีชีวิต และความเชื่อของคนในสมัยโบราณ ในปัจจุบันความเชื่อต่างๆ อาจจะลบเลือนไปบ้าง แต่ก็ยังทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมและเป็นสิ่งที่คนรุ่นหลัง ควรเรียนรู้และอนุรักษ์ไว้  “สีละ”  คือ การแสดงพื้นบ้าน ที่มีปรากฏทางภาคใต้ตอนล่าง ของประเทศไทยมาเนิ่นนาน โดยได้รับอิทธิพลของชาวมุสลิม ที่ย้ายถิ่นฐานจากประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย เป็นการแสดงศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว รูปแบบการแสดงได้นำกระบวนท่าของการต่อสู้ ที่มีท่วงท่าทะมัดทะแมง มาสอดแทรกด้วยลีลาท่ารำที่อวดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน ขา และมีการใช้ลีลาของนิ้วมือ ที่พลิ้วไหวสอดคล้องกับท่วงทำนองเพลงช้า และเพลงเร็วที่บรรเลงประกอบการแสดง  นักแสดงมีความสง่างามด้วยท่วงท่าของการรำที่มีความนิ่ง เป็นเสน่ห์ที่น่าติดตามของการแสดงสีละ วิถีที่เป็นดังเกราะคุ้มกันความสุข       ศิลปะการแสดงและดนตรีพื้นบ้าน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สร้างสมจากบรรพบุรุษ และเป็นเครื่องหมายแสดงเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้านสามารถใช้บรรเลง เพื่อความรื่นเริง คลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน โดยจะบรรเลงควบคู่ไปกับการแสดง และการละเล่น ใช้บรรเลงเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ที่บ้านบอเกาะ  ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส การแสดงพื้นบ้าน “สีละ” ยังคงเป็นสิ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตและจิตใจของคนในชุมชนอย่างเหนียวแน่น สีละ เป็นภาษามลายู เรียกชื่อ ศิลปะการป้องกันตัว สร้างความสามัคคีในชุมชนและยังเป็นศาสตร์ ในการฟื้นฟูบำบัดจิตใจอีกด้วย

      การแสดง สีละ ไม่ได้สร้างความบันเทิงสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นศิลปะป้องกันตัว เป็นการต่อสู้ด้วยน้ำใจนักกีฬา ผู้เรียนวิชานี้ ต้องมีศิลปะ มีวินัย ที่จะนำกลยุทธ์ไปใช้ในการป้องกันตัว มิใช่ไปทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ตัวนักแสดงได้ฝึกสมาธิ และฝึกฝนร่างกาย นอกจากนี้ ยังเป็นศาสตร์ในการฟื้นฟูบำบัดจิตใจ รักษาผู้ป่วยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวบ้านบางคน เป็นผู้ป่วยติดเตียง พอได้ยินเสียงดนตรี ได้ชมการแสดงก็อาการดีขึ้น ในด้านการเรียนสีละนั้น จะมีสถานที่เรียนเหมือนกับค่ายมวย ผู้เรียนไหว้ครูก่อน โดยเตรียมผ้าขาว ข้าวสมางัด  ด้ายขาว และแหวน 1 วง มามอบให้กับครูฝึก ผู้เรียนจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 15 ปี ระยะเวลาในการเรียน 3 เดือน 10 วัน (หรือ 100 วัน) ก็จะมีการสอบ โดยทดสอบลีลาการรำและการใช้อาวุธ การแต่งกายของนักสิละ ประกอบด้วย ผ้าโพกศีรษะ สวมเสื้อคอกลมหรือคอตั้ง นุ่งกางเกงขายาว แล้วมีผ้าโสร่ง เรียกว่า ผ้าซอเกตลายสดสวยทับพร้อมกับผ้าลือปักคาดสะเอว หรือใช้เข็มขัดคาดแทนให้กระชับ และเหน็บกริช ตามฉบับนักสู้ไทยมุสลิม       การแสดงสีละ จะมีเพลงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เครื่องดนตรีประกอบไปด้วย ฆ้องใหญ่ กลองมลายู และปี่ชวา เมื่อได้ฟังแล้ว ทำให้รู้สึกมีพลัง เมื่อดนตรีของการแสดงสีละดังขึ้น ชาวบ้านได้ยินเสียงกลอง ก็จะออกมารวมตัวกัน ถือเป็นจุดรวมของชุมชน ถ้ามีเสียงดนตรีในลักษณะนี้ ชาวบ้านจะออกมาดู เมื่อผู้นำชุมชน มีกิจกรรมงานพัฒนาใดๆ จึงมักจะใช้การแสดงสีละนี้เอง ในการดึงชาวบ้านออกมา ผู้ชายมาออกแรงทำงาน ผู้หญิงมาเสิร์ฟน้ำ ทำกับข้าว ทำขนม ตั้งวงพูดคุยเล่าสู่กันฟังถึงความเป็นอยู่ ดังนั้น นอกจากดนตรีพื้นบ้าน จะสามารถชักจูงให้คนในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรักใคร่ปรองดอง ช่วยกันสอดส่องดูแลพื้นที่ชุมชนของตนเอง ให้ปลอดภัยจากอันตรายที่จะเข้ามาได้ ทำให้เป็นพื้นที่แห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง สืบสานเพื่อสันติสุข

      คีรีตาน ยิตอซอ ลูกหลานบ้านบอเกาะ เป็นบุคคลหนึ่งที่หลงใหลในเสน่ห์ของดนตรีพื้นบ้าน เขามีความสามารถในการเล่นดนตรีพื้นบ้านได้เกือบทุกชนิด โดยตัวเขาเกิดมาในครอบครัวที่เล่นดนตรีชนิดนี้ มาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณพ่อ จนถ่ายทอดมาถึงเขา ทำให้มีความรักความผูกพันกับดนตรีพื้นบ้าน และได้พยายามเผยแพร่ถ่ายทอดให้คนอื่นได้เห็น ได้ซึมซับวัฒนธรรมที่ดีงามและน่าหลงใหลนี้ คีรีตาน หรือ มัง เล่าถึงความประทับใจในดนตรีพื้นบ้านว่า       “เครื่องดนตรีพื้นบ้านมีเสน่ห์ภายในตัว ถ้าเรียนรู้กับมันจริงๆ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยาก เพราะไม่มีตัวโน้ต เล่นแบบ by heart อาศัยความจำ ช่วงหลังไม่ค่อยมีวัยรุ่นสนใจ จึงคิดว่าจะต้องอนุรักษ์สิ่งดีๆ ของบ้านเรา  นำเสนอให้คนได้เห็นว่า เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ก็ใช้กับดนตรีสมัยใหม่ได้ เยาวชนบางคนไม่รู้จักดนตรีพื้นบ้านเลย  เราก็พยายามนำเสนอให้เยาวชนรุ่นใหม่มารู้จัก”       เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่คนในชุมชนให้ความสำคัญ และร่วมกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้าน และการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านนั้น ที่ขาดไม่ได้ คือ ผู้สืบทอด ต้องอาศัยเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการช่วยสืบสานสิ่งที่มีค่าเหล่านี้ให้กับคนรุ่นหลัง ดังเช่น คีรีตาน ยะตอซอ หรือแบมังที่เด็กๆ เรียกกัน เป็นผู้สืบทอดรุ่นปัจจุบันของครอบครัวที่มีความหลงใหลในดนตรีพื้นบ้าน แม้ว่าชีวิตของมัง จะผกผันต้องมาทำงานที่ปัตตานี แต่ยังไม่ละทิ้งความชอบ และนำความสามารถติดตัวมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ต่อยอดดนตรีพื้นบ้านสู้ดนตรีสร้างสรรค์สังคม

      ปัจจุบัน มัง คือ หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเยาวชน “บ้านพิราบขาว” องค์กรจิตสาธารณะเพื่อสร้างสันติสุขชายแดนใต้ ซึ่งทำงานช่วยเหลือเยาวชนนอกระบบ โดยใช้เสียงดนตรี เป็นเครื่องจรรโลงขัดเกลาจิตใจ ทีมงานบ้านพิราบขาว แต่ละคนต่างมีอาชีพการงานของตัวเอง แต่เมื่อใดก็ตามที่มีภารกิจเกี่ยวกับการบำบัดฟื้นฟูเยาวชน ที่ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานในท้องถิ่น พวกเขาจะมารวมตัวกัน นำดนตรีที่ผสมผสานระหว่างดนตรีสมัยใหม่และดนตรีพื้นบ้าน ไปแสดงให้กำลังใจเยาวชนที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูจิตใจ เป็นการนำดนตรีมารักษาจิตใจเยาวชน ให้มีภูมิคุ้มกันที่ดี       เมื่อมีงานแต่ละครั้ง ทีมงานพิราบขาว ก็จะทำการประเมินกลุ่มเป้าหมายและเตรียมเนื้อหาสาระ มาใช้ในการสร้างสรรค์เพลงที่จะใช้ในกิจกรรม โดยเป็นเพลงสนุกๆ สร้างสรรค์ และสอดแทรกเนื้อหาสาระ เช่น เล่าเรื่องราววิถีชีวิตบ้านเราว่า มีปัญหาอะไรบ้าง ให้น้องๆ ได้คิดตามเนื้อเพลง และเนื่องจากทางกลุ่ม ต้องการนำเสนอดนตรีที่มีกลิ่นอายความเป็นคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงหยิบเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาผสมผสานกับดนตรีสากล เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ให้น้องๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้เห็นและฟังดนตรีที่แปลกใหม่  ได้สร้างรอยยิ้มให้กับคนในพื้นที่       กลุ่มพิราบขาว มีความโดดเด่นในเรื่องการใช้ดนตรีให้กำลังใจคนที่หลงผิด ซึ่ง มัง อาศัยความสามารถเฉพาะตัวในการออกแบบเครื่องดนตรีพื้นบ้าน และนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเครื่องดนตรีสากล บางครั้งประดิษฐ์คิดค้นเครื่องดนตรีใหม่ด้วยตนเอง นำไปให้เยาวชนรู้จักและทดลองเล่น เพราะดนตรีพื้นบ้านไม่ได้มีแบบแผนตายตัว อาศัยความสนุกสนานและการมีส่วนร่วมของผู้คนเป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้พิราบขาวสามารถเข้าไปอยู่ในจิตใจของเยาวชน ที่หลงผิดให้เปิดใจกลับตัวมาสู่สังคมอีกครั้ง

      “เชื่อมั่นว่า ทุกคนรักในเสียงดนตรี สามารถปลอบประโลมจิตใจคน ทำให้ลืมสิ่งร้ายๆ ที่ผ่านมาได้ บำบัดฟื้นฟูจิตใจ สร้างความสุข สร้างรอยยิ้ม ให้ทุกคนหันกลับมาคิดสิ่งที่ดี ลืมสิ่งที่ร้ายที่ผ่านมา ขัดเกลาให้เขาได้ทำอะไรดีๆ ให้กับบ้านเรา อย่างน้อยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสันติสุขได้ โดยทำให้เด็กและเยาวชนสร้างพื้นที่ตัวเองให้เกิดสันติสุขก่อน”       เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ด้วยปัญหาสังคมที่รุมเร้า เด็กและเยาวชนบางคน อาจจะพลาดพลั้งหรือหลงผิดไป ผู้ใหญ่ควรจะให้โอกาส ไม่ซ้ำเติม ให้พวกเขากลับมามีที่ยืนในสังคมได้อีกครั้ง เพราะเด็กทุกคนมีความฝัน แม้ว่าจะเคยหลงผิดไปบ้าง แต่ถ้าพวกเขามีความเชื่อมั่นในความฝันอีกครั้งหนึ่ง ก็จะสามารถสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ความคิดเห็น