วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ.2567

สร้าง จชต. 4.0 ด้วย Cloud Technology

 3 ก.ย. 2560 19:11 น.    เข้าชม 3082

      ในโลกยุคปัจจุบัน หากใครยังใช้คำว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศ” ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นคนที่ค่อนข้างเชย เพราะว่าคำว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศ”นั้น เป็นเรื่องของอดีตไปเสียแล้ว เนื่องจากว่า ตอนนี้โลกได้ก้าวเข้าไปสู่ยุค Digital Era หรือยุคแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีขอบเขตกว้างขวาง ลึกซึ้ง ไปมากกว่าคำว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศ” เสียแล้ว หากพูดในเชิงนักเทคโนโลยี อาจกล่าวได้ว่า โลกเราของเราในขณะนี้ กำลังอยู่ในยุค “Digital Transformation” หรือยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านจาก “เทคโนโลยีสารสนเทศ” หรือที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า “Information Technology” ไปสู่ “เทคโนโลยีดิจิทัล” หรือ “Digital Technology” ซึ่งขอบเขตของมันจะไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพียงอย่างเดียว แต่ Digital Technology คือ วิถีชีวิต หรือ Life Style ของผู้คนในโลกปัจจุบัน       การแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ถึงแม้ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ชายขอบแดนใต้ของประเทศไทย แต่ก็ไม่สามารถหลีกพ้น อิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัลได้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อย่างเป็นระบบแล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหา จชต. ได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากวิถีชีวิต ของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่ และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องใน จชต. ตกอยู่ภายใต้บริบทของเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว       ในบรรดาหลากหลายรูปแบบของเทคโนโลยีดิจิทัลCloud Technology” เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีดิจิทัลที่สำคัญยิ่ง ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาประยุกต์ใช้รองรับมาตรการในการแก้ไขปัญหา จชต.​อย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม เราอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องนำ Cloud Technology มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหา จชต. เนื้อหาต่อไปนี้ จะช่วยขจัดความสงสัยได้ไม่มากก็น้อย ลดงบประมาณ แต่กลับเพิ่มประสิทธิภาพ       ในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการลงทุนนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในส่วนของงานตาม Agenda สำคัญของรัฐบาล และงานตามหน้าที่ หรือที่เรียกกันว่างาน Function

      การลงทุนส่วนใหญ่ จะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดหาครุภัณฑ์เครื่องแม่ข่ายและระบบ หรือใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ และความต่อเนื่องของระบบ อย่างไรก็ตามการลงทุนเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนแบบแยกส่วน กล่าวคือ ต่างหน่วย ต่างองค์กร ก็แตกต่าง มีระบบสารสนเทศของตนเอง จึงทำให้การลงทุนมีความซ้ำซ้อน และงบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับงานตาม Agenda และ Function ในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และจากการที่แต่ละหน่วยงานต่างมีระบบของตนเอง จึงทำให้ขาดการบูรณาการข้อมูลข่าวสารสำคัญระหว่างหน่วยงาน ทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้       Cloud Technology จะเป็นเทคโนโลยี ที่จะช่วยแก้ไขในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจาก Cloud Technology จะช่วยสร้าง Cloud Ecosystem ที่รวมทุกอย่างไว้ใน Ecosystem นี้ ไม่ว่าจะเป็น Hardware Software/Application และ Data ทั้งหลายทั้งปวง เมื่อทุกอย่างถูกนำมาอยู่ใน Cloud Ecosystem ก็ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรทั้งหลายง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญของการบริหารจัดการ ทั้งในส่วนของงานตาม Agenda และงานตาม Function มี Big Data รองรับการวางแผน และคาดการณ์สถานการณ์ในทุกมิติ       หากมีใครถามว่า ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะจบลงเมื่อไหร่ คงไม่มีใครกล้าฟันธง เพราะมันเป็นเรื่องที่จะคาดเดาจริงๆ อย่างไรก็ตาม หากเราศึกษาประวัติศาสตร์เราจะเห็นว่าพฤติกรรมของมนุษยชาติ มักจะวนไปวนมา แบบมี Pattern หรือรูปแบบที่พอจะคาดเดาได้ ดังที่ Cloud Technology จะช่วยสร้าง Cloud Ecosystem เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงในทุกมิติที่หน่วยงานในพื้นที่รวบรวม จะทำให้เกิดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เราเรียกกันฮิตติดปากว่า “Big Data”       Big Data นี้จะช่วยในเรื่องการบริหารจัดการในปัจจุบัน และการคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น หากนำข้อมูลการก่อความไม่สงบในรอบ 10 ปี นี้ มารวมวิเคราะห์กับข้อมูลในด้านอื่นๆ ก็จะทำให้เห็นความสัมพันธ์ เห็นอะไรบ้างอย่าง ที่จะนำไปสู่การคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างใกล้เคียงความจริง       ในมิติของข้อมูลด้านการพัฒนา ก็จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา สามารถวางแผนการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประสิทธิผลต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีนัยสำคัญ เข้าถึงพี่น้องประชาชนได้ง่ายขึ้น และทำให้พี่น้อง จชต.​ มีความสุขมาก

      ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะไปแห่งหนตำบลใด ก็จะเห็นแต่ผู้คน ก้มหน้าก้มตา เอานิ้วกดหน้าจอโทรศัพท์มือถือ จนมีศัพท์ใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ คำว่า “สังคมก้มหน้า”       สาระสำคัญของคำว่า “สังคมก้มหน้า” ก็คือ ในโลกปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ ในทุกสังคม ในทุกวัฒนธรรม ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “เทคโนโลยีดิจิทัล”  ทุกคนถูกเชื่อมต่อกันผ่าน “โทรศัพท์มือถือ” และ/หรือ “Mobile Device” และ Mobile Device เหล่านี้ ก็คือ อุปกรณ์ส่วนหนึ่งของ Cloud Ecosystem นั่นเอง       หากเกิด Cloud Ecosystem รองรับการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นหมายความว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสามารถเชื่อมต่อกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ฯ ได้ทันที โดยไม่จำกัดว่า พี่น้องประชาชนคนนั้น จะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ อาชีพอะไร ศาสนาใด ส่งผลให้เกิดการเข้าถึงพี่น้องประชาชน และการที่พี่น้องประชาชนจะเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐ ก็จะเป็นเรื่องง่าย... เมื่อพี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจะเพิ่มมากขึ้น โอกาสในการยุติการก่อความไม่สงบในพื้นที่จะง่ายขึ้น และเร็วขึ้น เริ่มจากงานสำคัญ แล้วจึงค่อยขยายผล       ฟังดูแล้ว การสร้าง Cloud Ecosystem รองรับงานในทุกมิติของการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูจะเป็นเรื่องยาก หรือบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ แต่เป็นเรื่องจริง และเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย แต่ภาพยังปรากฏชัดเจนมากนัก ....ทุกวันนี้ มีมากมายหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราและชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับอิทธิพลจาก Cloud Technology ทั้งที่เรารู้ตัว และเราไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น บริการต่างๆ ที่เราใช้ในโทรศัพท์มือถือ ส่วนใหญ่จะปฏิบัติงานภายใต้ Cloud Ecosystem ทั้งสิ้น       อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีบริบทต่างไปจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ก็อาจจะมีอุปสรรคในการเริ่มต้นบ้าง แต่หากมีการวางแผนที่ดี มีการจัดลำดับความเร่งด่วน ก็จะสามารถสร้าง Cloud Ecosystem มาสนับสนุนงานแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างแน่นอน       ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป้าหมายสำคัญยิ่งของประเทศไทย 4.0 ก็คือ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนคนไทย ภายใต้ความเหลื่อมล้ำที่ต่ำมาก ในทำนองเดียวกัน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ดังนั้น การทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก้าวไปสู่การเป็น จชต. 4.0 จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง Cloud Technology และ Cloud Ecosystem จะเป็นเทคโนโลยีซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ความคิดเห็น