วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

การต่อสู้กับอุทกภัย กับการสร้างสันติสุข

 14 ก.ย. 2560 18:21 น.    เข้าชม 2319

      หากเราไปถามคนไทย ไม่ว่าจะในภาคไหนว่า “เคยประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมไหม” แทบทุกคนที่ถูกถาม จะตอบว่า “เคย” พูดง่ายๆ ว่า “น้ำท่วม” กับ “คนไทย” เป็นของคู่กัน แต่อาจจะมีประสบการณ์มากน้อย แตกต่างกันไป ตามบริบทของเวลาและสถานที่...หากพูดถึงน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ทุกๆ คน จะต้องร้อง อ๋อ!!! เพราะอุทกภัยปี 2554 น้ำท่วมกันเกือบทั้งประเทศ แต่หากอุทกภัยครั้งนั้น เกิดขึ้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่ภาคอีสาน หรือที่ภาคเหนือ คนภาคกลาง อาจจะจินตนาการไม่ออก ว่าพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพี่น้องในภาคอีสาน หรือพี่น้องในภาคเหนือ รู้สึกอย่างไร เพราะไม่ได้มีประสบการณ์ร่วม       แต่ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อุทกภัยเกิดขึ้นที่ไหน ปริมาณน้ำจะมากมายเพียงใด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ “น้ำใจและความหวังดี” จะไม่เหือดแห้ง และหลั่งไหลมาต่อสู้กับอุทกภัยอย่างมากมายมหาศาลเช่นเดียวกัน       บทความนี้ มิใช่ บทความที่จะมาเล่าเรื่องราวของ “น้ำท่วม” แต่จะเป็นบทความที่ต้องการสื่อให้เห็นถึงว่า “จุดประสงค์ของการเกิดขึ้นของสังคม ก็คือ การมาอยู่ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” หากสังคมใดที่ไม่สามารถตอบสนองต่อจุดประสงค์หลักดังกล่าว สังคมนั้นๆ ก็เป็นเพียงสังคม ที่กำลังรอเวลาแห่งการสูญสลายไปในที่สุด สังคม : การรวมตัวเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน       เราเคยตั้งคำถามตนเองหรือไม่ว่า ทำไมคนเราจึงต้องมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม...คำตอบที่มีต่อคำถามนี้ เป็นคำตอบง่ายๆ แสนจะธรรมดา นั่นคือ คนเราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ แต่คนเราจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นสังคม การที่คนเรามาอยู่รวมกัน ก็จะทำให้คนเราสามารถช่วยเหลือกัน สร้าง และพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆ และทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมนั้นๆ ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จะทำให้สังคมนั้น สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน       ประเทศไทย ก็คือ สังคมขนาดใหญ่ สังคมหนึ่ง ที่ถูกหลอมรวมเป็นประเทศ ด้วยสังคมในหลากหลายรูปแบบที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง ในเรื่องความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ภายใต้สิ่งที่เหมือนกัน และสิ่งที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้ ในลักษณะ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” กล่าวคือ ให้ผู้คนในสังคมต่างให้เกียรติและเคารพใน “จุดต่าง” และร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับ “จุดร่วม”       สิ่งสำคัญยิ่ง ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสังคม เหนือ ใต้ ออก ตก ของประเทศไทย ก็คือ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในยามที่อีกสังคมหนึ่ง เกิดความเดือดร้อน หรือแม้กระทั่งการร่วมมือกันทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เป็นความเชื่ออันยิ่งใหญ่ที่เหมือนกัน หากจะพูดเป็นภาษาชาวบ้านแบบไม่ต้องแปล ก็คือ “ความมีน้ำใจของคนไทย” นั่นเอง ต่อสู้ “อุทกภัย” คือ จุดร่วมแห่งความรู้สึก       ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น “เหนือ ใต้ ออก ตก” ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์เกี่ยวกับอุทกภัยทั้งสิ้น ดังนั้นความเข้าใจถึงความยากลำบากของชีวิตที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย จึงเป็นความรู้สึกร่วมระหว่างพี่น้องประชาชนคนไทย ดังนั้น ครั้งใด ที่เกิดอุทกภัย มวลน้ำหลั่งไหลไปในพื้นที่ใด มวลน้ำใจของพี่น้องคนไทยจากทุกสารทิศ ก็จะหลั่งไหลตามไปในทันที เนื่องจากความรู้สึกเข้าใจ เห็นใจ ที่มีต่อผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งเกิดจากการมีประสบการณ์ “ร่วม” ในเรื่องนี้มาเช่นเดียวกัน       พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นพี่น้องประชาชนคนไทยอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีประสบการณ์จากการเกิดอุทกภัยเป็นประจำในพื้นที่ ซึ่งแม้ว่าสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะตกอยู่ภายใต้บริบทของเหตุการณ์การก่อความไม่สงบของกลุ่มผู้มีความคิดต่าง ซึ่งอาจจะทำให้วิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดความไม่ปกติไปบ้าง แต่ด้วยการมี “ประสบการณ์ร่วม” ในเรื่องการประสบอุทกภัย ความมีน้ำจิตน้ำใจอันดีของพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ถูกส่งให้หลั่งไหลไปสู่พี่น้องประชาชนคนไทยในพื้นที่อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ล่าสุด “โครงการรินน้ำใจ เพื่อพี่น้องชายอีสาน” เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยในจังหวัดสกลนคร และพื้นที่ใกล้เคียง ที่ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ในรอบ 30 ปี

แสวงหา “จุดร่วม/ประสบการณ์ร่วม” แล้วเดินหน้าร่วมกันสร้าง “สังคมสันติสุข”        จะเห็นได้ว่า คนเรารวมตัวกันเป็นสังคม เพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ร่วม และถ้าหากว่า คนในสังคมมีความเข้าใจ และมีประสบการณ์ร่วมในเรื่องใดๆ จะเกิดความเข้าใจ เห็นใจ แล้วนำมาซึ่งความมีน้ำใจในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน       หากเปรียบ “สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” กับ “สถานการณ์อุทกภัย” จะเห็นได้ว่า “สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ได้สร้าง “ประสบการณ์แห่งความทุกข์” ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ประสบการณ์แห่งความทุกข์” ก็คือ “จุดร่วม” ที่นำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มพี่น้องประชาชนที่มี “ประสบการณ์แห่งความทุกข์” เหมือนๆ กัน การรวมตัวกัน ก็คือ สร้างประสบการณ์ใหม่ ที่ตรงกันข้ามกับ “ประสบการณ์แห่งความทุกข์” นั่นคือ “ประสบการณ์แห่งความสุข” โดยทุก “ประสบการณ์แห่งความสุข” จะหลอมรวมไปสู่จุดมุ่งหมายสุดท้ายนั่นคือ “การสร้างประสบการณ์แห่งสันติสุข”

      ณ ปัจจุบัน ปรากฏการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปรากฏการณ์เหล่านี้ มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้าง “สังคมสันติสุข” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ “สังคมสันติสุข” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นผู้กำหนด เพราะคนเหล่านั้น คือ เจ้าของ “ประสบการณ์แห่งความสุข”

ความคิดเห็น