วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

ทำไมถึงมาเป็น…สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนใน 3 จชต.

 21 ก.ย. 2560 19:14 น.    เข้าชม 16383

      เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา กองบัญชาการกองอาสาสมัครรักษาดินแดน ได้เปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปเพื่อบรรจุเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากเปิดรับสมัคร ก็มีประชาชนคนวัยหนุ่มจำนวนมาก แห่เข้าสมัครกันเป็นเรือนพัน ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ 12 อำเภอ ของจังหวัดปัตตานี เปิดรับสมัครทั้งสิ้น 216 อัตรา เปิดรับสมัครได้เพียง 2 วัน ก็มีผู้สนใจมาสมัครเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนกว่า 800 คน หรือในจังหวัดยะลา ก็มีประชาชนสมัคร เข้ารับการคัดเลือกนับพันคนเลยทีเดียว       สิ่งที่น่าประหลาดใจ ก็คือ ทำไมจึงมีจำนวนประชาชนคนหนุ่มจำนวนหลักพันต่างแห่มาสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ในปัจจุบันถูกมองว่า ตกอยู่ในสถานการณ์การก่อความไม่สงบ และมีเหตุร้ายรายวันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่       บทความเรื่อง “ทำไมถึงมาเป็น…สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนใน 3 จชต.” จะนำเสนอเหตุผลว่า “ทำไม” ให้กับท่านผู้อ่าน อย่างไรก็ตามก่อนที่จะนำเสนอ “เหตุผล” ว่า “ทำไม” เรามาทำความรู้จักกับ “สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน” กันสักนิดหนึ่ง เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความเป็นมา ที่มาที่ไปของ “สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน” สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน คืออะไร       สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของหน่วยงานราชการที่เรียกว่า “กองอาสารักษาดินแดน” เป็นกองกำลังกึ่งทหาร เพื่อสำรองไว้ช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ เป็นกำลังสำรองของฝ่ายทหาร เมื่อมีการร้องขอ ทั้งในยามปกติและในยามศึกสงคราม โดยการรับสมัครประชาชนที่สมัครใจเข้ามาเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการและผู้บัญชาการโดยตำแหน่ง       กองอาสารักษาดินแดน แบ่งการจัดหน่วยออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค โดยส่วนกลาง ได้แก่ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ ส่วนภูมิภาค ได้แก่ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บังคับการ และมีนายอำเภอ เป็นผู้บังคับกองร้อย       สำหรับบทบาทภารกิจของ อส. ได้กำหนดไว้ 6 ประการ คือ 1) บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก, 2) ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ, 3) รักษาสถานที่สำคัญ และการคมนาคม, 4) ป้องกันการจารกรรม สดับตรับฟังและรายงานข่าว, 5) ทำความช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหาร ตามที่ทหารต้องการและตัดทอนกำลังข้าศึก, 6) เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่ง ที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น       นอกจากนั้นแล้ว อส. ยังมีบทบาทหน้าที่ในด้านต่างๆ อีกมากมาย อาทิเช่น ด้านการบริการประชาชน การรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด การจัดระเบียบสังคม การป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ใน 3 จชต.

      เมื่อพิจารณาบทบาทหน้าที่ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายแล้ว จะเห็นได้ว่าบทบาทหน้าที่ของ อส. นั้น ค่อนข้างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากบริบทความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ค่อนข้างแตกต่างไปจากบริบทด้านความมั่นคงในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ดังนั้น บทบาทหน้าที่ของ อส. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะหนักไปในเรื่องการตอบสนองมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาทิเช่น ทำหน้าที่ร่วมกับชุดรักษาความสงบประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) และชุดอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) ทั้งนี้เพื่อป้องกันและรักษาความสงบในหมู่บ้าน โดยทำงานร่วมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสนับสนุนการทำงานร่วมกับฝ่ายทหาร และตำรวจ หรือหน่วยกำลังต่างๆ ที่เข้าไปทำงานในพื้นที่อย่างมีเอกภาพ ทำไมถึงมาเป็น…สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนใน 3 จชต.

      ดังที่กล่าวไปแล้ว สถานการณ์ หรือบริบทด้านความมั่นคงในพื้นที่ มีความรุนแรงมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ มีเหตุร้ายรายวันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงของเหตุการณ์ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับด้านความมั่นคง ตามมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม ในทุกครั้งที่มีการประกาศรับสมัครผู้สนใจ เข้ารับการคัดเลือกเป็น อส. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กลับมีคนหนุ่มคนสาวมากมายนับพัน แห่มาสมัครเข้ารับการคัดเลือก ทำไม และ อะไร คือคำตอบของพฤติกรรมเหล่านี้ ต่อไปนี้ เป็นความคิดของประชาชนส่วนหนึ่ง ทั้งที่เป็น อส. และที่เป็นผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก “จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี และทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มาหลายปี เมื่อทราบว่า มีการเปิดรับสมัคร อส.จึงตัดสินใจสมัคร เพราะต้องการมาทำงานในพื้นที่บ้านของตนเอง และต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ตนพร้อมที่จะไปทำงานในทุกพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้” “เป็นคนชอบทำงานที่เป็นงานท้าทาย ถ้าเป็นไปได้อยากรับผิดชอบ และให้ความช่วยเหลือภายในหมู่บ้านตนเอง เพราะบางครั้งในหมู่บ้าน ก็มีปัญหาเกิดเหตุร้ายอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย และปัญหายาเสพติด จึงมั่นใจว่า เป็นผู้หญิงก็สามารถทำงานไม่แพ้ผู้ชาย ตนพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์” “อส.เป็นสิ่งที่ดี เพราะตนเองเป็นเด็กในพื้นที่ จ.ยะลา ถ้ารับแจ้งหรือมอบหมาย ก็สามารถไปได้ทั่วถึงทันที และจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าได้เป็น อส.จะได้รับเงินเดือน ค่าครองชีพดี และสวัสดิการดี ตนเองก็อยากจะเชิญชวนให้เพื่อนๆ ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาสมัครเป็น อส. มาช่วยกันปกป้องดูแลรักษาพื้นที่ต่อไป” จากเหตุผลของการเข้าสู่การเป็น “สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน” ข้างต้น พบว่า สิ่งที่เป็นความคิดเห็นร่วมที่ปรากฏ มีด้วยกัน 2 เหตุผลนั่น ก็คือ 1. การได้กลับมาทำงานในพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของตนเอง และการได้มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ และ/หรือปัญหาภัยแทรกซ้อนต่างๆ ในชุมชนของตน 2. งาน อส. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นงานที่ความท้าทาย       ไม่ว่าจะเป็นใคร เกิดขึ้นอยู่ ณ แห่งหนตำบลใด ย่อมจะต้องมีความรักความหวงแหนต่อถิ่นฐานบ้านเกิด และจะต้องมีความรับผิดชอบไม่มากก็น้อยต่อความเจริญก้าวหน้า และความสงบสุขของภูมิลำเนาของตนเอง การได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจนี้ ภายใต้ค่าตอบแทนที่ไม่มากนัก ภายใต้สวัสดิการในระดับหนึ่ง ก็ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ พร้อมสละความสุขส่วนตน มาปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาสมัครรักษาดินแดง โดยเฉพาะการเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้...ซึ่งพวกเขาถูกขนานนามว่า “นักรบประชาชน”

ความคิดเห็น