วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

สืบสานลมหายใจศิลปะพื้นบ้านปลายด้ามขวาน วายังกูเละ

 22 ธ.ค. 2560 23:00 น.    เข้าชม 3606

      “วายังกูเละ” เป็นคำเรียกที่พี่น้องชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้เรียกการแสดงหนังตะลุงแบบมลายู หรือวายังกูลิ ซึ่งเป็นศิลปะเล่นเงาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนี้เท่านั้น หนังตะลุงวายังกูเละแตกต่างจากศิลปะการแสดงอื่นๆ ตรงที่เป็นละครชาวบ้านใช้บทพากย์และเจรจามากกว่าบทร้อง เล่าเรื่องโดยการใช้ตัวละครที่เป็นรูปหนัง แกะสลักจากหนังสัตว์เป็นรูปต่างๆ แล้วมาระบายสี โดยต้องเป็นรูปสมมติ ไม่ให้เป็นรูปเหมือนจริงเพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักศาสนา ภาษาที่ใช้เป็นภาษามลายูเพื่อให้คนในพื้นที่ซึ่งสื่อสารกันด้วยภาษามลายูนั้นสามารถเข้าถึงเรื่องราวและอรรถรสของของหนังตะลุงพื้นบ้านได้ง่าย
      ศิลปะการแสดงแขนงนี้นับวันกำลังจะหายไปตามกาลเวลา ถือเป็นการแสดงที่หาชมได้ยาก  ปัจจุบันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหลือคณะหนังตะลุงที่ได้รับความนิยมเพียง 2 คณะเท่านั้น คือ คณะหนังเต็ง สาคอ ตะลุงบันเทิง และเดะเลาะ ตะลุงศิลป์ ซึ่งมีความแตกต่างกัน คณะเดะเลาะ จะมีการนำเครื่องดนตรีสากลมาใช้ในการเล่นด้วย ส่วนคณะหนังเต็ง สาคอ จะอนุรักษ์หนังตะลุงแบบดั้งเดิม โดยการบรรเลงเครื่องดนตรีดั้งเดิม       การแสดงหนังตะลุงมลายู หรือ วายังกูเละ มีการสอดแทรกคติคำสอน จริยธรรมอยู่ในเรื่องราวการแสดง เป็นกุศโลบายของคนโบราณ การแสดงจะใช้นิทานพื้นบ้านปรัมปรานำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และที่สำคัญที่ถือเป็นวัฒนธรรมร่วม คือการเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นหลักของหนังตะลุง ไม่ว่าจะเป็นหนังตะลุงมลายู หรือหนังตะลุงไทยพุทธ บทบาทตัวละครมีหลากหลาย มีทั้งฤษี โต๊ะครู โจร ตำรวจ ผู้ร้าย ผู้ดี       คณะหนังตะลุงจะประกอบไปด้วยสมาชิก 10-15 คน มีนายหนังและลูกคู่ซึ่งลูกคู่ก็หมายถึงผู้เล่นเครื่องดนตรี ตามแบบฉบับดั้งเดิมจะใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านในภาคใต้ ได้แก่ ทับ กลอง ฉิ่ง โหม่ง ต่อมายุคหลังมีการเล่นปี่ หรือซอเพิ่มขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่ทำขึ้นเอง ในปัจจุบันนอกจากหาคนเล่นหนังที่มีความสามารถได้ยากแล้ว ลูกคู่ก็เป็นบุคลากรที่หาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
เต็งสาคอ ตะลุงบันเทิง กับบทบาทการอนุรักษ์ สืบทอด และเผยแพร่

      หนังตะลุงแบบมลายู หรือวายังกูเละแบบดั้งเดิม คือ การใช้เครื่องดนตรีแบบดั้งเดิมประกอบการแสดงสด โดยไม่มีการเปิดเพลงหรือใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่ “คณะหนังเต็งสาคอตะลุงบันเทิง” เป็นคณะเดียวที่มีการแสดงแบบดั้งเดิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะหนังตะลุงคณะนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมีคุณมะยาเต็ง สาเมาะ หรือแบเต็ง เป็นผู้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษของเขาซึ่งเป็นนายหนังกันมาหลายชั่วคน

      ศิลปะการแสดงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรำมโนราห์ สีละ ดิเกฮูลู หรือกุมปังจะได้รับความนิยมจากเยาวชนรุ่นใหม่ในการสืบทอดความเป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ศิลปะการแสดงหนังตะลุงจะได้รับความนิยมค่อนข้างน้อย สาเหตุมาจากนักแสดงอยู่เบื้องหลังฉาก ผู้คนไม่เห็นความสามารถ แต่ที่สำคัญคือ เยาวชนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้เห็นศิลปะการแสดงแขนงนี้ คุณมะยาเต็งมีความกังวลว่า ศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่างวายังกูเละ กำลังถูกกาลเวลาลบเลือนหายไปจากท้องถิ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กๆ รุ่นใหม่ไม่มีความสนใจจะประกอบอาชีพนี้ ในส่วนของความนิยมของคนดูก็ลดน้อยลงทุกที ไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเหมือนในสมัยก่อน  คุณมะยาเต็งจึงได้พยายามเผยแพร่ศิลปะแขนงนี้ให้คนได้รู้จักมากที่สุดโดยการพยายามนำศิลปะแขนงนี้ออกมาให้เยาวชนรุ่นใหม่มีโอกาสได้รับชมมากขึ้นตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ออกไปให้ความรู้ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งในการแสดงวายังกูเละ คณะหนังตะลุงเต็งสาคอ พยายามอนุรักษ์การแสดงวายังกูเละแบบดั้งเดิมไว้  นอกจากการแสดงแล้วก็ยังมีการไปเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้ในการแกะหนัง ขับหนัง เชิดหนังหรือการเป็นลูกคู่       นอกจากการออกแสดงเผยแพร่ตามที่ต่างๆ แล้ว คุณมะยาเต็ง ยังหวังว่าจะค้นพบเพชรงามที่มีความรักและสนใจในศิลปะการแสดงแขนงนี้อย่างแท้จริง จึงได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจมาเรียนรู้ที่บ้านของเขาได้โดยเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ในปัจจุบันเยาวชนที่มาเรียนรู้มีทั้งนักศึกษาที่มาหาความรู้ทางวิชาการ และผู้ที่ตั้งใจมาเรียนเพื่อเป็นความรู้ติดตัวในการประกอบอาชีพ ดังนั้นในคณะหนังตะลุงเต็งสาคอ นอกจากจะมีคุณมะยาเต็ง สาเมาะ หรือแบเต็งเป็นนายหนัง ซึ่งหมายถึงหัวหน้าคณะหรือเจ้าของคณะพร้อมด้วยสมาชิกอีกส่วนหนึ่ง ภายในบ้านของแบเต็งยังมีเยาวชนที่มาอาศัยอยู่กับคณะเป็นการชั่วคราวเพื่อศึกษาเรียนรู้ฝึกฝนการเล่นหนังตะลุง ความหวังฝากไว้กับคนรุ่นใหม่

      เยาวชนที่มาอยู่เพื่อเรียนรู้ที่โรงหนังตะลุงเต็งสาคอในช่วงปิดเทอม จะได้มาอยู่เรียนรู้และตามไปในสถานที่แสดงจริงๆ โดยแรกเริ่มนายหนังจะเล่าประวัติความเป็นมาของวายังกูเละให้รู้ก่อน แล้วสอนการแกะหนัง โดยเด็กๆ จะต้องหัดวาดรูปตัวละครแบบลงบนกระดาษก่อน แล้วเอาทาบลงบนหนัง วาดแบบลงแล้วแกะฉลุลวดลายก่อนลงสี โดยอาจฝึกการแกะตัวตลกก่อนเพราะการแกะตัวตลกจะแกะหยาบๆ ไม่ละเอียดเหมือนตัวพระตัวนาง  ต่อจากการเรียนรู้เรื่องการแกะหนังก็ค่อยก้าวต่อไปที่เรื่องการเชิดหนังและการเป็นลูกคู่ ซึ่งสิ่งสำคัญคือการเรียนรู้จังหวะ    คนจะเป็นนายหนังต้องตีกลองได้ แม่นยำในจังหวะ การทำความรู้จักจังหวะ เริ่มจากการเล่นฉิ่ง พอเล่นได้จังหวะ  ก็มาลองเล่นกับเครื่องดนตรีอื่น เช่น โหม่ง ทับ หรือฆ้องว่าเข้ากันหรือไม่ ถ้าจิตใจมีศิลปะอยู่ในตัวจะเกิดจังหวะในการขับเคลื่อนได้ในเวลาไม่นาน บางคนมีแววด้านเสียงก็จะให้เป็นนักร้องดิเกฮูลู หรือสีละ จะเห็นได้ว่าหนังตะลุงโรงเดียวจะเป็นแหล่งรวบรวมผสมผสานศิลปะการแสดงทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นสีละ มโนราห์ ดิเกฮูลูหรือกุมปัง ที่เป็นศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ทั้งสิ้น และล้วนแล้วแต่มีการใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองชนิดเดียวกันการเป็นนายหนังจึงเป็นคนที่รวมเอาศาสตร์และศิลป์ทั้งการแกะหนัง เชิดหนัง การเล่นดนตรี สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องมีพรสวรรค์ในการสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชม ในแต่ละเรื่องราวที่นำเสนอจะต้องถูกแต่งเติมเสริมแต่งมุขตลกเพิ่มอรรถรส ซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของหนังตะลุง       เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ นอกจากเทคนิคการแกะหนังและการเล่นหนังให้สนุกสนานมัดใจคนดู   ยังต้องเข้าใจอัตลักษณ์ของหนังตะลุงวายังกูเละ ถึงแม้จะคล้ายคลึงกับหนังตะลุงในพื้นที่ภาคใต้ แต่ก็มีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่แตกต่าง เช่น ต่างกันแค่ชื่อ การละเล่นเหมือนกัน ตัวตลกเฉพาะของมลายู คนรู้จักในชื่อ ซามะ, ซะอิ โวโยะ ส่วนหนังตะลุงไทยพุทธ จะมีไอ้นุ้ย ไอ้เท่ง ไอ้ทอง นอกจากนี้ผู้ที่จะเชิดหนังได้ดี จะต้องรู้จักนิสัยและบุคลิกเฉพาะของตัวละครหนังแต่ละตัว ตัวหนังที่เป็นบริวาร เช่น  โวโยะมีนิสัยเคร่งขรึม ไม่โอ้อวด ภักดีต่อเจ้านาย ส่วนตัวซามะชอบคุยโม้ โอ้อวด ชอบกวนเพื่อน  นอกจากนี้ยังมีการนำไอ้เท่งตัวละครของหนังตะลุงไทยเข้ามาผสมผสานสองวัฒนธรรม ส่วนตัวหนังที่เป็นตัวหลักหรือตัวพระตัวนางตามขนบของวายังกูเละ ก็จะเป็นตัวละครจากรามเกียรติ์

      ศิลปะการแสดงพื้นบ้านนอกจากจะเล่นเพื่อความบันเทิงของคนในชุมชน ยังเป็นผลผลิตทางความเชื่อในการประกอบพิธีกรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ การอนุรักษ์และสืบทอดวิถีดั้งเดิม ไม่ควรถูกมองว่าเป็นค่านิยมล้าหลัง ทุกภาคส่วนควรหาทางปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรู้สึกภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเองวายังกูเละ ซึ่งมีเฉพาะในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส คงจะไม่สามารถอยู่รอดไปได้หากขาดคนสืบสานอย่างจริงจัง การสืบสานและสืบทอดศิลปะการแสดงวายังกูเละและศิลปะการแสดงพื้นบ้านแขนงอื่นๆ ต้องอาศัยน้องๆ เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้มีใจรักในศิลปะการแสดง สืบสานให้คงอยู่สืบไป

ความคิดเห็น