วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

หลังสู้ฟ้า หน้าสู้น้ำ ดูหลำ คนฟังเสียงปลา

 22 ธ.ค. 2560 23:32 น.    เข้าชม 2863

      โลกนี้มีวิชาความรู้มากมาย ไม่เพียงอยู่ในหนังสือหรือในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิต แต่ยังมีวิชาหมวดใหญ่ที่เกิดจากประสบการณ์ในวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นต่างๆ เช่นเดียวกับภาคใต้ของไทย ดินแดนคาบสมุทรด้ามขวาน ก็มีวิชาของพรานปลา ที่เรียกในภาษาถิ่นว่า “ดูหลำ”เป็นคำมาจากภาษายาวีเรียกว่า ดูสะแล หรือดูสะหลำ หรือดูหลำ มีอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่นครศรีธรรมราชไปจนถึง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาสถิ่นที่มีดูหลำเก่งกาจเลื่องลือมาหลายทศวรรษได้แก่ ท้องถิ่น อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พรานปลาตลิ่งชัน ทะเลจะนะ       ชาวประมงพื้นบ้านออกเดินทางแต่เช้าตรู่ เตรียมตัวออกทะล ดูทิศทางจากดวงดาวพรานปลาตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาก็เช่นกัน เรือประมงพื้นบ้านจะออกทะเลเป็นหมู่กลุ่มละสามลำ ดูหลำหนึ่งคน เรือ ๓ ลำ และลูกเรือลำละราว ๓ คน เรือสามลำแล่นไล่กันไปในทะเลที่มืดมิด จุดหมายไม่ไกลจากฝั่งมากนัก พอถึงจุดหมายเรือที่เป็นดูหลำจะส่งสัญญาณ เรือที่ตามมาด้วยกันก็จะดับเครื่องเรือจนเงียบสนิท คืนความสงัดให้กับผืนน้ำ เวลานี้เองผู้ทำหน้าที่ฟังเสียงปลาจะเริ่มทำงานของเขาบางคนจะปฏิบัติศาสนกิจก่อนเริ่มฟังเสียงปลา       ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ที่ใช่ว่าจะมีปลาอยู่ทั่วไปหมดแต่ดูหลำสามารถบอกได้ว่าจุดใดมีปลาอยู่บ้างหรือไม่ เป็นปลาชนิดไหนปริมาณคุ้มค่ากับการลงแรงวางอวนหรือไม่โดยการดำลงไปใต้พื้นน้ำใช้หูฟังเสียงร้องของปลาและลูกเรือทุกคนเชื่อมั่นในตัวดูหลำของเขาผู้เป็นดูหลำจะได้รับสืบทอดวิชาจากบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดผ่านการทำมาหากินในวิถีชีวิตจริง บ้างเริ่มจากความอยากรู้ว่าเสียงปลาแต่ละเสียงเป็นเสียงของปลาอะไร ไปดำน้ำฟังเองแล้วกลับมาถามผู้รู้บ้าง ไปดำน้ำพร้อมดูหลำอาวุโสบ้าง คนเป็นดูหลำจะต้องออกหาปลาช่วงก่อนเช้าซึ่งปลาจะมีมากบริเวณผิวน้ำ ส่งเสียงดังชัดเจน เมื่อดูหลำดำลงใต้น้ำเพื่อจับทิศทางปลาว่าอยู่ในตำแหน่งใด ถ้าลงใต้น้ำแล้วรู้สึกว่าเสียงอยู่บริเวณหน้าผาก หมายถึงเสียงปลายังอยู่ไกล จะจับทิศทางและนำเรือเล็กพายไป มีการลงดำน้ำเป็นระยะๆ เพื่อหาตำแหน่งของฝูงปลา
หลังสู้ฟ้า หน้าสู้น้ำ หูฟังเสียงปลา       ตามประสบการณ์ของดูหลำ พบว่าเสียงในทะเลจะดังกว่าบนบกถึงสี่เท่า ดูหลำต้องฝึกฟังจนสามารถจำแนกชนิดของปลาในน้ำแม้ห่างออกไปเป็นกิโลเมตรก็ได้ยินเสียงปลา สามารถตามปลาไปได้ เสียงของปลามีหลากหลายเสียง บ้างร้องแอ๊ดๆ ก๊อกๆ อ้อกๆ ดูหลำจะฟังเสียงจ่าฝูง ตามไปจนเจอฝูงใหญ่ ยิ่งเข้าใกล้เสียงจะยิ่งดังขึ้น ถ้าได้ยินเสียงรอบตัว โดยเสียงอยู่บริเวณหน้าอกหรือสะดือ แสดงว่าเราอยู่ตรงฝูงปลาแล้ว เสียงเหมือนผึ้งที่กำลังรวมกลุ่มหรือเสียงหม้อข้าวเดือด ดูหลำจะส่งสัญญาณโดยการสาดน้ำโดยใช้ฝ่ามือสาดขึ้นจากผิวน้ำ เพื่อเรียกเรือที่ดับเครื่องลอยลำอยู่ห่างๆ มาล้อมเป็นสามทิศ เรือสามลำจะเดินเครื่องมาล้อมอวนรอบในจุดที่ดูหลำอยู่อย่างรวดเร็ว เป็นการต้อนปลาให้เข้าอวนไปในตัว ใช้เวลาไม่นานนักก็สามารถเริ่มสาวอวนขึ้นและแกะปลาออกมาเรื่อยๆ

      ในการล้อมปลาแต่ละครั้ง ชาวประมงจะได้ปลาหลายชนิด  มีทั้งปลาจวด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ลามาคอง และยังมีปลากุเลา ปลาโคก ปลาเงี่ยง ปลาอินทรีย์ ปลากระเบนฯลฯ แต่ละลำจะได้ปลานับร้อยกิโลกรัมในฤดูที่ปลาชุกชุมในระยะเวลาประมาณครึ่งวัน เรือแต่ละลำจะมีส่วนแบ่งให้ดูหลำด้วย เพราะช่วยให้มีโอกาสได้ปลาแน่นอน เมื่อกลับถึงฝั่งจะมีแม่ค้ามาเลือกปลาและรับซื้อและถูกส่งขายไปที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทะเลในเขตอำเภอจะนะจังหวัดสงขลา นับว่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ ในช่วงฤดูปลาในเดือนสิงหาคม – กันยายน ชาวประมงทำรายได้สูงสุดถึงวันละหมื่นบาท  โดยทั่วไปเฉลี่ยวันละ 3-7 พันบาท       การฟังเสียงปลาคือการหาปลาตามวิถีประมงพื้นบ้าน ภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นการจับปลาตามฤดูกาล โดยใช้อวนตาห่างจับแต่ปลาตัวใหญ่ ลูกปลาก็ลอดผ่านไปได้ และใช้เพียงมือแกะปลาออกจากอวน และตัวอวนไม่ทำให้ทะเลเสียหาย ไม่ใช่ประมงพาณิชย์ที่หวังกอบโกยผลผลิตอย่างไม่ลืมหูลืมตาและวิถีแห่งดูหลำนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักวรรณกรรมอย่างคุณวินทร์ เลียววารินทร์ นำเรื่องราวไปเขียนเป็นนวนิยายเรื่อง “บุหงาปารี"และ"บุหงาตานี"และดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์เรื่องปืนใหญ่จอมสลัด       ในปัจจุบัน แม้จะมีดูหลำอยู่ที่ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะมากถึง 7 คน แต่เมื่อเปรียบกับอดีตนับว่าน้อยลงมาก เพราะขาดคนสืบทอด สาเหตุหนึ่งเพราะคนรุ่นใหม่ รุ่นลูกหลานมีงานบนบกทำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานโรงงาน โรงไฟฟ้า หรืออพยพไปทำงานต่างถิ่นเนื่องเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบ นับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามมีความเคลื่อนไหวของชาวประมงท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ที่รวมตัวกันรณรงค์ให้เกิดการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง พลิกฟื้นเศรษฐกิจของกลุ่มประมงพื้นบ้าน โดยมุ่งเน้นอนุรักษ์ภูมิปัญญาในการจับปลาอย่างยั่งยืน

วิถีประมงพื้นบ้าน วิถีแห่งความยั่งยืน

      ปัจจุบันในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายๆ จังหวัด ทั้งสงขลา ปัตตานี ไปจนถึงนราธิวาส รวมถึงฝั่งทะเลอันดามัน ภูเก็ต กระบี่ พังงา เริ่มต่อยอดให้เกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตอาหารทะเลทั้งสดและแปรรูปที่มาจากการทำประมงที่รับผิดชอบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลของชาวประมงชายฝั่ง จับสัตว์น้ำในแหล่งประมงที่ปลอดจากแหล่งมลพิษไม่มีการใช้สารเคมีในการรักษาสภาพให้ดูสดใหม่และตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าใครเป็นผู้จับเพื่อเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และมีการจัดการผลผลิตที่เป็นมาตรฐาน สะอาด ปลอดภัยไร้สารเคมี เชื่อมโยงกับผู้บริโภคในเมืองโดยตรง เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งเฝ้าระวังรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่ยั่งยืนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

ความคิดเห็น