วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ.2567

สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้เอกภาพในสังคมพหุวัฒนธรรม

 22 ธ.ค. 2560 23:41 น.    เข้าชม 3198

      หากจะมองหาตัวอย่างกลุ่มองค์กรภาคประชาคมที่ทำงานเพื่อสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง และมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ แน่นอนที่สุดว่าย่อมต้องมีชื่อของ สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือกลุ่ม POSBOกลุ่มเยาวชนที่มีจุดเริ่มจากการรวมตัวกันในสถาบันการศึกษา จัดตั้งเป็นเครือข่ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนในปัจจุบันเครือข่ายมีการขยายตัวและพัฒนาสู่องค์กรที่เป็นรูปแบบขึ้นจนสามารถจดทะเบียนในรูปแบบของสมาคม หยั่งรากจากอุดมการณ์เพื่อสันติภาพ       จุดเริ่มจากการก่อตั้งกลุ่มนักศึกษารักสันติภาพโดยกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเมื่อปี พ.ศ. 2551 ของนักศึกษาที่มีอุดมการณ์ที่จะสร้างสันติภาพในพื้นที่ โดยเริ่มจากการตั้งชมรมในรั้วมหาวิทยาลัย กิจกรรมในยุคแรกเริ่ม คือการสร้างพื้นที่กลางในการแสดงความคิดเห็นและเชิญวิทยากรผู้รู้แต่ละด้านมาเปิดพื้นที่ให้ความรู้ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น การทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้มีจุดหมายที่จะต่อสู้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต่อสู้กับตัวเองให้ยอมรับความหลากหลายและสามารถอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขได้ตามแนวทางที่ระบุไว้ในอัลกุรอาน

      จากกลุ่มนักศึกษากลุ่มเล็กๆ  ได้เติบโตพัฒนาเป็นเครือข่ายนักศึกษารักสันติ ขยับขึ้นมาเป็นสมาพันธ์นักศึกษารักสันติ จนกระทั่งสามารถตั้งเป็นสมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ในปัจจุบัน  โดยมีจุดยืนหลักอยู่สองข้อใหญ่คือ หนึ่ง ต่อต้านความรุนแรงทุกชนิด สองส่งเสริมการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายหรือพหุวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการของสมาคมก็จะมีทั้งกรรมการที่เป็นไทยพุทธและมุสลิม  สมาชิกของสมาคมมีเยาวชนเป็นต้นน้ำสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ทั้งเยาวชนในระบบการศึกษาและเยาวชนนอกระบบการศึกษา เป็นพลังคนรุ่นใหม่ ที่มีหัวใจบริสุทธิ์ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนในฐานะภาคประชาสังคม เครือข่ายเยาวชนรักสันติ       ในส่วนของเยาวชนในระดับมหาวิทยาลัย แม้ในปัจจุบันกลุ่มนักศึกษาที่ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม POSBO จะจบการศึกษาไปแล้ว แต่ยังคงมีเครือข่ายนักศึกษาที่เป็นเมล็ดพันธุ์สันติภาพจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เป็นชมรมในมหาวิทยาลัยจะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้แก่ ชมรมนักศึกษารักสันติ และชุมนุมศิลป์สันติภาพ มีการจัดเสวนาในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดอุดมการณ์สันติภาพ ขยายเครือข่ายครอบคลุมไปถึงเยาวชนนอกระบบ โดยจัดกิจกรรมอบรมเยาวชนนอกระบบและจัดตั้งเป็น เครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน ดำเนินกิจกรรมรณรงค์เพื่อสันติภาพในระดับชุมชน ดึงเพื่อนเยาวชนที่กำลังหลงผิดกลับมา และขยายเครือข่ายต่อไปให้ครอบคลุมจังหวัดชายแดนภาคใต้

  • โครงการเพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสา ปลูกพลังปัญญา       โครงการเพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสา ปลูกพลังปัญญา ลดปัญหายาเสพติด ซึ่งสมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จัดอบรมให้กับเยาวชนนอกระบบ ในปี 2559 เป็นจุดเริ่มให้เกิดเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งมีสมาชิกถึง 300 คน มีการจัดระบบโครงสร้างองค์กร มีประธาน รองประธาน คณะกรรมการ การทำงานจะเชื่อมโยงกับสมาคมฯ ในการให้ความรู้ทางวิชาการและนำกลับไปเผยแพร่ในชุมชนของตัวเอง พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนเยาวชนในพื้นที่ที่อาจจะมีความคิดแตกต่างกันไปเรื่องใดมีข้อสงสัยก็จะเชิญวิทยากรไปให้ความรู้ให้คำตอบกับเยาวชน

  • นิทรรศการสันติภาพผ่านเลนส์ บนพื้นฐานพหุวัฒนธรรม       เป็นอีกโครงการน่าสนใจที่ทางสมาคมฯ ได้จัดขึ้นโดยให้เยาวชนทั้งในและนอกพื้นที่ส่งภาพถ่ายเกี่ยวกับสันติภาพเข้าประกวด และมีกิจกรรมนิทรรศการ และเสวนาเกี่ยวกับสันติภาพในพื้นที่ ให้นักศึกษาเยาวชนและประชาชนในพื้นที่เข้าใจกระบวนการ จัดการปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างสงบสุข และปฏิเสธความรุนแรงในทุกรูปแบบ ใช้แนวทางสันติวิธีในการขจัดปัญหา

  • Peace Dialogueสันติสนทนา       ในคำว่าสันติสุข หลายคนตีความหมายแตกต่างกันไป ทางสมาคม จึงได้จัดกิจกรรมสันติสนทนาขึ้น เพื่อทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเครือข่าย ว่าสันติสุขในความหมายของแต่ละคนคืออะไร หากน้องๆ ในเครือข่ายมีความสงสัย ข้อขัดแย้งในประเด็นต่างๆ สามารถนำประเด็นมาถกเถียงหาข้อสรุปโดยมีนักวิชาการมาร่วมรับฟังปัญหาในทุกวันพฤหัสบดี เป็นพื้นที่กิจกรรมของการจัดการองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนองค์กร เพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้และสามารถนำไปเผยแพร่ข้อมูลสู่บุคคลภายนอกไปในแนวทางเดียวกัน เมื่อต้นน้ำของปัญหา คือ ตรรกะความคิดของคน ปลายน้ำคือการปฏิบัติ เมื่อมีความคิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันอย่างเป็นเอกฉันท์ ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติที่มีพลัง

    บทบาทในการส่งเสริม       ที่ผ่านมาสมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จึงมีบทบาทสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการขับเคลื่อนสันติภาพและส่งเสริมพหุวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมการอบรม โดยมีวิทยากรในสาขาต่างๆ มาให้ความรู้ โดยมีแนวคิดว่าหากจะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้นั้น สิ่งสำคัญคือความคิดหรือจิตสำนึก จึงให้การอบรมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นหลักเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน เป็นการให้กรอบแนวคิดกับเยาวชน และให้เยาวชนได้มีโอกาสสร้างสรรค์กิจกรรม กระบวนการทำงานเพื่อขับเคลื่อนในพื้นที่ด้วยตัวเอง นอกจากนั้นทางสมาคมฯ ยังมีอีกบทบาทสำคัญคือ เป็นพี่เลี้ยงสำคัญในการให้ความรู้ด้านต่างๆ ในทางเทคนิคการทำงานของกลุ่มเยาวชนในเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้น้องๆ เขียนโครงการเพื่อขอทุนการดำเนินงานจากทั้งภาครัฐและเอกชน และเป็นที่ปรึกษาในการจัดกิจกรรม โครงการต่างๆ ให้กับน้องๆ ในเครือข่าย หัวใจแห่งสันติสุขและพหุวัฒนธรรม

          โครงการต่างๆที่ สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้จัดขึ้นไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ กิจกรรมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หรือกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากจะให้ความรู้และบรรยากาศที่สนุกสนาน สร้างความประทับใจให้กับเยาวชนให้กลับมาร่วมกิจกรรมอีกอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมต่างๆ ยังสอดแทรกถึงการอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรม อันเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทุกคนควรต้องทำความเข้าใจ การทำงานของเครือข่ายจะเป็นเหมือนพื้นที่กลางที่มีทั้งเยาวชนไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยจีน มาทำงานร่วมกัน ด้วยความเข้าใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อนต่างศาสนาด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง       สภาวะความขัดแย้งและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้คนในพื้นที่เห็นความสำคัญและให้คุณค่ากับคำว่าสันติสุขเป็นอย่างมาก สิ่งที่สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ได้ทำนั้นเป็นการผลักดันให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี การปลูกจิตสำนึกให้เข้าใจคำว่าสันติสุขและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในเชิงพหุวัฒนธรรม
ความคิดเห็น