วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

อาซูรอสัมพันธ์ วัฒนธรรมนำพาสันติสุข

 6 มี.ค. 2561 21:31 น.    เข้าชม 6705

      ประเพณีการกวนขนมอาซูรอเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวมุสลิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานนับพันปี ตามความเชื่อของชาวมุสลิม ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดานุ นบีนูว์ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานุ นบีนูว์ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน  ทำให้อาหารที่ตระเตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลืออยู่เอามารวมแล้วกวนกินกัน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ   และกำหนดไว้ในหลักศาสนาให้เป็นประเพณีที่ต้องปฏิบัติ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ทุกคนรักและสามัคคีกัน       ในปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังมีการจัดเป็นงานประเพณีกวนขนมอาซูรอขึ้นในชุมชนเป็นประจำทุกปี ในชื่อว่า “งานอาซูรอสัมพันธ์” คำว่า อาซูรอ คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน อีกทั้งยังหมายถึง วันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินศาสนาอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของชาวมุสลิม โดยประเพณีอาซูรอสัมพันธ์จะจัดขึ้นในเวลานี้ ในทุกๆ หมู่บ้าน ชาวบ้านจะรวมตัวกันกวนขนมอาซูรอ และมีกิจกรรมต่อเนื่องทั้งเดือน ร่วมไม้ ร่วมมือ ร่วมใจ       ประเพณีการกวนขนมอาซูรอ จึงเป็นประเพณีที่มีความสำคัญ เป็นการนำวัฒนธรรมที่ดีงามมาจัดเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ขึ้นในชุมชน เกิดความร่วมมือทั้งในหมู่พี่น้องประชาชนและหน่วยงานในท้องถิ่น เมื่อถึงเดือนมูฮัรรอม ชาวมุสลิมในพื้นที่ต่างๆ จะมีการหารือกันเพื่อจัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยมีเจ้าภาพจัดขึ้นตามบ้านบ้าง ตามมัสยิดหรือปอเนาะบ้าง

      เมื่อถึงวัน ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่า ตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยชาวบ้านจะเตรียมทำให้วัตถุดิบแต่ละอย่างโดยหั่นให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย บางอย่างทำให้สุกมาก่อน เพื่อที่พอมากวนแล้วจะได้เสร็จเร็วขึ้น การกวนจะใช้กระทะเหล็กขนาดใหญ่ ตัดไม้ไผ่มาทำเป็นไม้พาย ตั้งบนเตาฟืนที่ช่วยกันหาผืนเตรียมไว้ให้ หลังจากตั้งกะทะบนเตา คั้นน้ำกะทิใส่ลงไป ตำหรือบดเครื่องแกงหยาบ ๆ ใส่ลงในน้ำกะทิ เมื่อกะทิเดือดใส่อาหารดิบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว คนด้วยไม้พายจนกระทั่งทุกอย่างเปื่อยยุ่ย กวนต่อไปจนเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อแห้งได้ที่แล้วตักใส่ถาด โรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นบาง ๆ หรืออาจโรยหน้ากุ้ง เนื้อวัวหรือเนื้อปลาเคี่ยวเปื่อย ผักชี หอมหั่นฝอย ประดับด้วยดอกไม้สวยงาม แล้วตัดเป็นชิ้นๆ แจกจ่ายกันรับประทาน

      ในการกวนขนมอาซูรอ สิ่งที่จำเป็นคือความรักสามัคคี ของคนในชุมชน การกวนจะใช้คนจำนวนมากเนื่องจากกระทะใหญ่ กระทะหนึ่งจะมีคนถือไม้พายช่วยกันกวน 2-3 คนผลัดเปลี่ยนกันรอบละประมาณ 20 นาที โดยต้องกวนหมุนวนไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ชนกัน ใช้เวลายาวนานเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอดเวลา ทนกับความร้อนและควันไฟจากเตาฟืน ยิ่งนานขนมยิ่งข้น น้ำหนักการกวนยิ่งมากขึ้น ต้องระวังไม่ให้ขนมไหม้ จนกระทั่งสุกแห้ง มีรสชาติกลมกล่อมอร่อย คนที่ไม่ได้กวนก็ดูแลบริการน้ำ อาหาร จัดเวรผลัดเปลี่ยนกันกวน เมื่อเสร็จการกวนก็จะทำพิธีทางศาสนาและรับประทานร่วมกัน และมีการแบ่งขนมให้แก่ผู้ร่วมกวน รวมทั้งแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา เป็นวิถีทางของชุมชนพหุวัฒนธรรม ประเพณีไม่แบ่งแยกศาสนิก       ประเพณีการกวนอาซูรอแม้ว่าจะเป็นประเพณีของชาวมุสลิม แต่มิได้เป็นหลักศาสนาที่กำหนดไว้แต่เฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น การกวนขนมไม่ได้จำกัดแค่ชาวมุสลิม ประชาชนไม่ว่าศาสนาใดก็สามารถมาร่วมกวนขนมได้ ภาพที่เกิดขึ้นในชุมชนก็คือชาวพุทธและมุสลิมต่างให้ความร่วมมือกัน เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนได้เป็นอย่างดี ในหมู่ประชาชนตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่จนถึงผู้สูงอายุ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน เด็กๆ ในชุมชนก็ได้รับการสืบทอดผ่านการร่วมงานประเพณี ซึมซับตั้งแต่เด็กจนโตเช่นนี้ทุกปี

      นอกจากคนในชุมชนเองแล้ว กำลังสำคัญที่ให้การสนับสนุนงานประเพณีและกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนโดยตลอด ได้แก่หน่วยทหารในพื้นที่ และหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างเช่น ในงานอาซูรอสัมพันธ์ ต.ประแต อ.ยะหา ก็มีหน่วยงานทหารพรานชุด 4710 ก็มาร่วมมือสนับสนุนประเพณีที่ดีงามนี้ให้สืบต่อไป โดยร่วมจัดกิจกรรมกับชาวบ้านโดยตลอด ทั้งสนับสนุนเต็นท์ในการจัดสถานที่ หาอุปกรณ์ หาไม้ฟืน และมาร่วมกวนขนมด้วย ทำให้เกิดมิตรภาพระหว่างชุมชนและองค์กรภาครัฐที่เหนียวแน่นยิ่งขึ้น

      ในปัจจุบันได้มีการปรับกิจกรรมในงานประเพณีอาซูรอสัมพันธ์ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น โดยจัดเป็นการแข่งขันกวนขนมอาซูรอเพื่อดึงดูดให้คนมาร่วมงาน เชิญกรรมการมาชิมขนมอาซูรอ โดยมีกรรมการจากทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการ ทหาร และผู้นำศาสนา กระทะไหนชนะก็จะได้รางวัล มีทั้งรางวัลประเภทสวยงามและประเภทเลิศรส โดยรางวัลที่ได้รับ ชาวบ้านก็จะมอบให้กับมัสยิดของตนเอง เป็นการสร้างบุญกุศลตามศาสนาอิสลาม สามัคคีคือเบ้าหลอมแห่งสันติสุข

      ประเพณีการกวนอาซูรอมีเรื่องราว ตำนานความศรัทธาทางศาสนาแฝงอยู่มากมาย ฐานความเชื่อหลักคือ หากผู้ใดนำหลักศาสนามาปฏิบัติในชีวิตประจำวันผู้นั้นจะเกิดสันติสุขในตนเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความร่วมไม้ร่วมมือของคนในชุมชน พี่น้องประชาชนต่างศาสนิก ผู้นำชุมชน หน่วยทหาร และหน่วยงานราชการ ที่จะช่วยกันรักษาประเพณีอันดีงาม สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น และเมื่อที่ใดมีความรักความสามัคคี สันติสุขย่อมบังเกิดขึ้นในที่แห่งนั้นอย่างแน่นอน  

ความคิดเห็น