วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

มโนราห์สองภาษา บริบทแห่งการหลอมรวมพหุวัฒนธรรม

 6 มี.ค. 2561 21:42 น.    เข้าชม 4498

ถ้าพูดถึงมโนราห์ เราทุกคนต่างคุ้นเคยกันดีว่า มโนราห์ คือ ศิลปวัฒนธรรมการละเล่นทางภาคใต้ ภาษาถิ่นภาคใต้ เรียน มโนราห์ ตามสำเนียงถิ่นสั้นๆ ว่า โนรา ในการแสดงมโนราห์จะมีการขับร้องเป็นภาษาถิ่น และบรรเลงทำนองดนตรีด้วยเครื่องดนตรีพื้นถิ่นภาคใต้ แต่มโนราห์ของบ้านซาเมาะ ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จ.ยะลา นั้นแตกต่างไป โดยมีจุดเด่นในรายละเอียดการใช้ภาษา ที่มีบทพูดที่ใช้ภาษายาวีหรือมลายู และภาษาถิ่นภาคใต้ควบคู่กันไป นอกจากนี้เครื่องดนตรีที่ใช้มีทั้งเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีพื้นบ้านมลายู ได้แก่ ปี่ชวา เกิดเป็นมโนราห์สองภาษาที่ใช้ภาษามลายู ภาษาใต้ท้องถิ่น และบางครั้งมีภาษาไทยภาคกลางผสมกัน เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมอย่างลงตัว ก่อให้เกิดความเข้าใจ และความผูกพันซึ่งกันและกัน เรียกว่า โนราแขก หรือ มโนราห์สองภาษา สืบทอดเชื้อสาย มโนราห์สองภาษา

      มโนราห์สองภาษา ไม่ใช่ศิลปะการแสดงที่ประยุกต์ขึ้นมาใหม่ แต่เป็นคำใหม่ที่เรียกการแสดง โนราแขก ซึ่งเกิดขึ้นตามบริบทของท้องถิ่นซึ่งมีทั้งประชาชนไทยพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกัน จนเกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรม โดยนำรูปแบบการร่ายรำมาจากการแสดง มะโย่งของชาวไทยมุสลิม ประกอบการขับร้อง และเจรจาเป็นภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษามลายู ดังนั้น นักแสดงมโนราห์สองภาษา นอกจากจะต้องเข้าใจศิลปะการแสดงมโนราห์อย่างลึกซึ้งแล้ว ยังต้องมีทักษะทางภาษาที่ดี เพราะต้องใช้ทั้งภาษาถิ่นภาคใต้ และภาษามลายู สำหรับรูปแบบของการแต่งกาย ก็จะแตกต่างจากมโนราห์ทั่วไป โดยการแต่งกายจะมีจุดเด่นที่สร้อยสังวาล ชุดเครื่องต้น กับเสื้อโนราที่ตัดเย็บเป็นชุดสำเร็จรูป นางรำที่เป็นมุสลิมจะเน้นการแต่งกายแบบสตรีไทยมุสลิม คือ สวมเสื้อกือบายอ นุ่งผ้าปาเต๊ะ และเกล้าผม เครื่องดนตรีที่ใช้ ประกอบด้วย ทับ กลองแขก ปี่ซูนา ฆ้องใหญ่ โหม่ง ปี่ซูนา ซอรับบับ หรือ ซอสามสาย และแตระ       ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ศาสตร์การแสดงมโนราห์มาพร้อมกับความเชื่อในการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย โดยครูหมอมโนราห์ ที่สืบเชื้อสายมา ด้วยเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษต้องการให้มีการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย ครูหมอมโนราห์ จึงเป็นนักแสดงมโนราห์ ซึ่งรับมอบจิตวิญญาณมโนราห์สองภาษาเป็นผู้สืบทอดศิลปะการแสดงมโนราห์สองภาษามาจากบรรพบุรุษ ซึ่งมีการสืบต่อกันยาวนานร่วมร้อยกว่าปีแล้ว ในปัจจุบันบ้านซาเมาะถือเป็นชุมชนหนึ่งเดียวที่มีการแสดงมโนราห์สองภาษาหลงเหลือให้ชมกัน ชุมชนจึงพยายามส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่สืบทอดศิลปะแขนงนี้ พิธีครูหมอมโนราห์ หลอมรวมวัฒนธรรม หลอมรวมผู้คน

      การแสดงมักจะมีพิธีที่เป็นขนบธรรมเนียมที่แสดงความเคารพ และแสดงความกตัญญูต่อบูรพาจารย์ มโนราห์ก็เช่นกัน จะมีการจัดพิธีครูหมอมโนราห์ ขึ้นทุกปี เพื่อแสดงความรัก และกตัญญูของผู้ที่สืบทอดครูหมอมโนราห์ จากบรรพบุรุษของตนเอง จากรุ่นสู่รุ่น พิธีจะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ในพิธีจะมีการไหว้ครู การครอบครู และการขับร้องมโนราห์สองภาษา ในการจัดพิธีจะมีประชาชนในตำบลท่าธง และพื้นที่ใกล้เคียงทั้งไทยพุทธ และมุสลิมมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ช่วงกลางวันจะช่วยกันเตรียมอาหารเครื่องเซ่นไหว้ในพิธี และรับประทานอาหารร่วมกัน ข้าวปลาอาหารที่จัดทำให้เพื่อเลี้ยงผู้คนที่มาร่วมพิธีนั้น จะไม่มีเนื้อหมู ซึ่งพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลามก็สามารถจะรับประทานได้ ส่วนตอนกลางคืนก็จะชมการขับร้องมโนราห์ และพิธีการรักษาผู้เจ็บไข้ได้ป่วยด้วย       นอกจากมโนราห์สองภาษาจะหลอมรวมเอาภาษา และท่วงทำนองดนตรีแบบไทยพุทธ และมุสลิมเข้าด้วยกันแล้ว ยังหลอมรวมผูกพันประชาชนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านในชุมชนบ้านซาเมาะ และพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนั้นยังมีญาติพี่น้อง และบุตรหลานของผู้ที่สืบทอดเชื้อสายมโนราห์ และผู้ที่มีความศรัทธา แม้ไปทำงานหรือไปมีครอบครัวที่ท้องถิ่นอื่น แม้แต่อยู่ต่างประเทศ จะต้องกลับมาร่วมพิธีครูหมอมโนราห์นี้ให้ได้ พิธีครูหมอมโนราห์จึงเปรียบเสมือนงานรวมญาติของท้องถิ่นนี้เลยทีเดียว แสดงให้เห็นความรัก และผูกพันซึ่งกัน และกันอันแน่นเหนียว เป็นขนบธรรมเนียมดั้งเดิมที่ยังมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้คนในท้องถิ่นอย่างไม่เสื่อมคลาย เชื่อมโยงภาษา ผูกพันจิตใจสองศาสนิก

       มโนราห์สองภาษา นอกจากจะเป็นศิลปวัฒนธรรมที่มีความสวยงามหาชมได้ยาก ยังเป็นสัญลักษณ์ทางสังคมที่บ่งบอกความรักสามัคคีของคนสองศาสนา แม้จะสื่อสารต่างภาษาแต่สามารถเข้าใจเรื่องราวเดียวกันได้ ความศรัทธา ความเชื่อ และขนมธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างไม่ขาดสาย ในพื้นที่ บ้านซาเมาะ หมู่ 4 ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา แห่งนี้ มีประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ร้อยละ 80 ที่เหลือคือประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธอีกร้อยละ 20 อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย ให้เกียรติซึ่งกัน และกันฉันท์พี่น้อง มีความสงบสุขมาช้านาน ไม่ว่าจะมีงานกิจกรรมใดๆ ทุกคนจะร่วมลงมือลงแรงกันอย่างเต็มใจจนสำเร็จลุล่วงเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิธีครูหมอมโนราห์ถือเป็นงานยิ่งใหญ่ประจำปี ต้องใช้เวลาจัดเตรียมงานเพื่อรองรับผู้คนที่จะหลั่งไหลมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก       ภาพความร่วมมือ ความสุขสนุกสนาน ล้วนเป็นสิ่งยืนยันว่า แม้ว่าความแตกต่างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ถ้าสามารถทำความเข้าใจซึ่งกัน และกัน ปรับเข้าหากัน การอยู่ร่วมกันระหว่างไทยพุทธ และมุสลิมก็สามารถดำเนินไปด้วยความสุขสงบ สามัคคี ปรองดองผูกพันฉันญาติพี่น้อง ดังที่ชุมชนบ้านซาเมาะแห่งนี้ ในช่วงที่ชุมชนมีการละหมาด คณะมโนราห์จะหยุดการแสดง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพให้เกียรติกับท้องถิ่น เมื่อมีการแสดงก็จะดึงดูดคนในชุมชนทั้งไทยพุทธ และมุสลิมมารวมกัน ถือเป็นการแสดงที่เข้าถึงในคนทุกกลุ่มในชุมชน       มโนราห์สองภาษา เป็นดังมรดกทางวัฒนธรรมของชาวบ้านบ้านซาเมาะทุกคน ที่ผสมผสานการละเล่น ประเพณี และความเชื่อของประชาชนทั้งสองศาสนา สืบต่อกันมายาวนานนับร้อยปี เป็นสิ่งที่ควรค่ากับการอนุรักษ์ และสืบทอดต่อไป รวมถึงสื่อให้คนภายนอกชุมชนเข้าใจพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ถูกนำเสนอทางสื่อทั่วไป ยังมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่งดงาม จิตวิญญาณที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ประเพณีอบอุ่นที่คงอยู่กับพื้นที่นี้มาช้านาน และจะยังคงอยู่ต่อไป  

ความคิดเห็น