วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ.2567

กลุ่มลูกเหรียง กับภารกิจเยียวยา และบ่มเพาะเด็ก และเยาวชนจังหวัดชายแดนใต้

 6 มี.ค. 2561 22:00 น.    เข้าชม 3123
ฉันมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากความรุนแรง ฉันมีหน้าที่ระวังไม่ให้ตนเองไปทำร้ายคนอื่น และไม่ให้คนอื่นมาทำร้ายฉันด้วย

      จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นับตั้งแต่ปี 2547 ทำให้เกิดความสูญเสียมากมาย ทำให้หลายครอบครัวต้องเผชิญปัญหาผลกระทบทั้งทางร่างกาย และจิตใจ โดยเฉพาะเยาวชนที่สูญเสียพ่อแม่ของเขาไป ในขณะที่ความช่วยเหลือส่วนใหญ่จะมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงที่สูญเสียสามี ในขณะที่ทุกบ้านจะมีเด็ก และเยาวชนที่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า สมาคมเด็ก และเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือ กลุ่มลูกเหรียง เติบโตจากกลุ่มเยาวชนในจังหวัดยะลาที่รวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 และมีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือผู้หญิงที่สูญเสียสามีในเหตุการณ์ความไม่สงบร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ จากการทำงาน และการมองเห็นว่าไม่เพียงแต่แม่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เด็กๆ ก็เจ็บปวดเช่นกัน ในแต่ละบ้านล้วนมีเด็กกำพร้าไม่ต่ำกว่า 1 คน บางบ้านมีมากถึง 5 คน หากพวกเขาต้องเติบโตภายใต้สภาพจิตใจเช่นนี้ โดยไมได้รับการเยียวยาจิตใจ ความรู้สึกในจิตใจจะมีแต่ความแค้นที่สั่งสม เด็กๆ อาจกลายเป็นเสมือนกับระเบิดที่ไม่ได้ระเบิดในวันนี้ แต่จะเป็นระเบิดที่รอวันทำลายทุกสิ่งในในอนาคตข้างหน้า การขับเคลื่อนงานของกลุ่มลูกเหรียง       จากการมองเห็นความเจ็บปวดที่พบเจอ วรรณกนก เปาะอีแตดาโอะ นายกสมาคมเด็ก และเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ผู้เป็นกำลังหลักสำคัญของกลุ่มลูกเหรียง และทีมงานเยาวชนอาสาสมัคร จึงมีความตั้งใจช่วยกันเยียวยาจิตใจให้กับเด็กๆ กลุ่มลูกเหรียงดูแลกลุ่มเยาวชนต่างๆ อยู่ 16 กลุ่ม โดยจะพิจารณาแต่ละ Case ว่าควรให้ความช่วยเหลือในลักษณะใด หลักการสำคัญคือให้เยาวชนอยู่กับครอบครัวของเขา และหนุนเสริมด้านต่างๆ เช่น ทุนการศึกษา เสื้อผ้า รวมไปถึงอาชีพของแม่ด้วย ในส่วนเด็กกำพร้าที่ไม่มีครอบครัวที่พึ่งพา ทางกลุ่มก็จะรับมาอยู่ที่บ้านลูกเหรียง บ้านพักชั่วคราวกึ่งถาวรสำหรับเด็ก และเยาวชน สตรีที่ได้รับผลกระทบ

      กระบวนการทำงานของกลุ่มลูกเหรียง หนึ่ง เริ่มต้นจากการสอนเรื่องการให้อภัย ซึ่งต้องใช้เวลานาน เริ่มจากให้อภัยตัวเอง และให้อภัยคนรอบข้าง สอง ให้เด็กๆ ได้เรียนตามศักยภาพของตัวเองให้ได้มากที่สุด และ สาม ให้เด็กๆ รู้จักการแบ่งปันให้คนอื่น เพราะกลุ่มลูกเหรียงเติบโตจากการให้ของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการรับบริจาคทุนการศึกษา สิ่งของ เสื้อผ้า อาหาร และพวกเขาไม่อยากเป็นผู้รับเพียงฝ่ายเดียว เยาวชนที่เป็นอาสาสมัครจะเข้ามาช่วยงานในส่วนของการประสานงาน และการลงพื้นที่เยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบ ถึงแม้จะมีความเสี่ยงอันตรายแต่อาสาสมัครเหล่านี้ก็เต็มใจที่เข้ามาช่วยเหลือ นอกจากนี้เยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และอยู่ในความดูแลของกลุ่มลูกเหรียงส่วนหนึ่ง ก็ก้าวขึ้นมาเป็นอาสาสมัคร เพราะด้วยกำลังใจ และคำสอนของวรรณ กนก ทำให้เด็กๆ ที่เรียกเธอว่าแม่ สามารถก้าวมาเป็นผู้ที่คอยเยียวยาจิตใจผู้อื่นที่ได้รับผลกระทบเหมือนกับตัวเอง ด้วยความเข้มแข็ง เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ลูกเหรียงที่หยั่งรากเติบโตจนให้ร่มเงาได้ พวกเขาสามารถไปช่วยแบ่งปันเรื่องราว แนะนำและเยียวยาเด็กๆ คนอื่นที่ได้รับผลกระทบเหมือนพวกเขา ไม่ให้ต้องจมกับความเศร้า และก้าวต่อไปได้ ปัจจุบันมีเด็กที่ผ่านกระบวนการเยียวยาของกลุ่มลูกเหรียงมากว่า 2000 คน และมีเด็กที่ได้รับทุนการศึกษา กว่า 200 คน ท้อแต่ไม่ถอย

      หลายๆ ครั้งที่ วรรณกนก และทีมงานอาสาสมัครกลุ่มลูกเหรียงต้องลงพื้นที่ทำงานภาคสนาม นั่นหมายถึงต้องเกิดความเสี่ยงตามมา เคยถูกเอาระเบิดมาขู่ เคยถูกลอบยิงทำร้าย ขับรถมาขู่เด็กๆ และที่ส่งผลสะเทือนกับตัว วรรณกนกเป็นอย่างมาก คือ การเสียชีวิตของพี่สาวที่เพิ่งได้รับรางวัลผู้หญิงเก่งไป ทำให้วรรณกนกรู้สึกว่า ทำไมทำดีแล้วกลับได้ผลตอบแทนเช่นนี้ ถ้าเป็นคนดีแล้วต้องตายจะทำไปทำไม ตัดสินใจจะอำลาเด็กๆ ในกลุ่มลูกเหรียง และขังตัวเองอยู่ในห้อง และมีเด็กๆ ที่คอยห่วงใย และบอกเธอว่า ถ้าเธอเป็นอะไรแล้วพวกเขาจะอยู่ต่อไปอย่างไร ทำให้เธอตระหนักว่าชีวิตของเธอมีคุณค่าสำหรับพวกเขาแค่ไหน เด็กๆ ลูกเหรียงทุกคนคือทั้งหมดของชีวิต และเป็นกำลังใจสำคัญให้เธอก้าวข้ามปัญหาไปได้ กลับมามุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเด็กๆ ต่อไป

      ปัจจุบันเหตุการณ์ความไม่สงบของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ย่างเข้าสู่ปีที่ 14 เด็กๆ รุ่นแรกๆ ของกลุ่ม ปัจจุบันเรียนอยู่ในระดับมัธยม บางคนเรียนมหาวิทยาลัย บางคนเรียนจบแล้ว หากพวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาเมื่อ 14 ปีก่อน อาจกลายเป็นระเบิดในปัจจุบัน แต่พวกเขาในวันนั้นกลายเป็นกำลังสำคัญคอยช่วยเหลือคนมากมายในวันนี้ ในขณะที่งานด้านความช่วยเหลือเด็ก และเยาวชนกลับไม่ใช่งานหลักที่ได้รับความใส่ใจ และความตระหนักถึงความสำคัญอย่างแท้จริง ส่วนมากมองเด็ก และเยาวชนเป็นเพียงงานสังคมสงเคราะห์ ขาดความต่อเนื่องในการช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่มีจำนวนประชากรเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ ถึง 60 % เชื่อมั่นในเมล็ดพันธุ์แห่งการเป็นผู้ให้

      ตลอดระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา คุณวรรณกนก มุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กลุ่มลูกเหรียงอย่างสุดหัวใจ ทำให้หลายหน่วยงานเห็นถึงความตั้งใจจริงในการทำงาน และความเสียสละเพื่อส่วนรวม ได้มอบรางวัลเป็นกำลังใจให้วรรณกนกทำงานต่อไป แต่ในระยะหลังเธอปฏิเสธการรับรางวัลเพราะเธอไม่อยากเอารางวัลเป็นที่ตั้งใจการทำงาน และเธอมีกำลังใจสำคัญคือเด็กๆ กลุ่มลูกเหรียงอยู่แล้ว และอยากให้คนอื่นๆ อีกมากมายที่ทำงานเช่นเดียวกับเธอได้รับรางวัลเป็นกำลังใจบ้าง ส่วนเป้าหมายลึกๆ ในใจของวรรณกนกนั้น เธอเพียงต้องการให้เด็กๆ เติบโตเป็นคนดี ประกอบสัมมาอาชีพดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวได้ แม้เด็กๆ จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และต้องเจอเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจแค่ไหน แต่เธอก็มั่นใจว่าพวกเขาล้วนมีหัวใจที่จะทำงานเพื่อคนอื่น เป็นดั่งเมล็ดพันธุ์ลูกเหรียงที่ผ่านการบ่มเพาะ หยั่งรากและเติบโตอย่างงดงามและเป็นร่มเงาให้ผู้อื่นได้พักพิงต่อไปร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน และติดตามข่าวสาร รวมถึงผลงานของเด็กๆและเยาวชนกลุ่มลูกเหรียงได้ที่ http://www.luukrieang.org หรือทาง facebook.com/luukriang

ความคิดเห็น