วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

แสงแรก และแสงสุดท้ายที่แหลมตาซี อัญมณีแผ่นดินปลายด้ามขวาน

 6 มี.ค. 2561 22:20 น.    เข้าชม 2716

      ผืนดินที่ทอดยาวจากหาดตะโละกะโปร์ยื่นออกไปในทะเลอ่าวไทย ทอดยาวโอบล้อม อ่าวปัตตานีไปจนสุดปลายแหลม มีชื่อว่า แหลมตาซี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เป็นดั่งอัญมณีแผ่นดินปลายด้ามขวาน ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์จากการก่อตัวของสันทราย ความยาว 16 ก.ม. โดยที่ปลายแหลมจะงอกเพิ่มขึ้นทุกปีเนื่องมาจากคลื่นลม และกระแสน้ำ ทำให้ชายฝั่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะที่หาดทรายด้านนอกที่ติดกับทะเลอ่าวไทยจะมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และยังไม่ถูกบุกรุกโดยโรงแรมหรือรีสอร์ทใดๆ ทำให้ยังคงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ส่วนอ่าวด้านในเป็นที่ตั้งของชุมชนที่ประกอบอาชีพประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่สำคัญที่ปลายแหลมตาซี เป็นจุดไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกได้ในที่เดียวกัน นักท่องเที่ยวจึงสามารถชื่นชมแสงแรก และแสงสุดท้ายที่ลับขอบฟ้าได้ที่แหลมตาซี ซึ่งไม่สามารถหาชมได้ที่ไหนนอกจากที่นี่
      ท้องทะเลอ่าวปัตตานีมีความกว้างประมาณ 74 ตารางกิโลเมตร พื้นอ่าวเป็นโคลน มีแหลมตาซีเป็นจุดเชื่อมต่อออกไปสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งสันทรายที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำหน้าที่กำบังธรรมชาติให้สัตว์น้ำน้อยใหญ่ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยเยาว์ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งผสมพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด  ที่สำคัญคือ พื้นที่บริเวณก้นอ่าวปัตตานี มีป่าชายเลนยะหริ่งอันอุดมสมบูรณ์ ที่เต็มไปด้วยป่าโกงกางหนาทึบ ต้นสูงใหญ่เกินกว่า 10 เมตรขึ้นไป ป่าชายเลนยะหริ่ง มีพื้นที่เกือบ 10,000 ไร่ เป็นพื้นที่นิเวศที่มีความสำคัญของภาคใต้ และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยเยาว์ และถิ่นอาศัยของสัตว์ต่างๆ มากมาย เป็นเหตุผลที่ทำให้อ่าวปัตตานีแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของท้องทะเลไทย
วิถีประมงพื้นบ้าน วิถีแห่งการอนุรักษ์ระบบนิเวศ

      วิถีชีวิตชาวแหลมโพธิ์เป็นวิถีของชาวประมงพื้นบ้าน บ้างออกเรือประมงขนาดเล็ก วางอวนลอย บ้างทอดแหริมหาด ชาวประมงจะสามารถหาสัตว์น้ำจำพวกกุ้ง และปลากระบอก ปลาขนาดเล็กได้ในอ่าวปัตตานี ส่วนในอ่าวไทยจะเป็นปลาขนาดใหญ่  เมื่อขึ้นจากเรือก็จะไปนั่งพูดคุยกันที่ร้านน้ำชา  แต่ความอุดมสมบูรณ์ที่มีมากนี่เอง ทำให้มีการแสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์เกิดขึ้น หลายปีที่ผ่านมาเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ชนิดอวนรุน อวนลาก เข้ามาทำประมงจำนวนมาก สัตว์น้ำไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จะถูกจับหมด รวมทั้งปะการังก็จะถูกลากทำลายไปด้วย ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวปัตตานีลดลง หน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่จึงต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการจัดการทรัพยากรให้เกิดความสมดุล และปลุกจิตสำนึกของคนในชุมชนรัก และหวงแหนและช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ โดยสงวนไว้เป็นที่อนุรักษ์ไม่ให้เรือประมงพาณิชย์เข้ามาทำประมง ในส่วนของทะเลนอกมีแนวปะการังเทียม ทำให้เกิดแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำทะเล ด้วยจิตสำนึกในการอนุรักษ์ของคนทำประมงในแหลมโพธิ์ จะไม่มีการใช้อวนลากในการหาปลา ด้วยสิ่งสำคัญที่จะให้เศรษฐกิจชุมชนยังคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน คือการรักษาระบบนิเวศแหลมตาซีให้มีความอุดมสมบูรณ์

      ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียงพาครอบครัวมาท่องเที่ยวพักผ่อนที่แหลมตาซีในวันหยุดยาวเป็นจำนวนไม่น้อย  แต่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือสภาพภูมิทัศน์ทางธรรมชาติแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ในส่วนของภาครัฐได้มีแผนในการจัดการรองรับนักท่องเที่ยวที่มีมากขึ้น  โดยมีการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปรู้จักแหลมตาซีในฐานะแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดปัตตานี  สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทางคือ ทางน้ำ สามารถนั่งเรือมาจากปากแม่น้ำปัตตานี หรือนั่งเรือมาจากท่าด่าน อ.ยะหริ่ง มาตามลำคลองยางู ส่วนทางบก สามารถขับรถจากอำเภอยะหริ่งข้ามคลองยางูไปตามเส้นทางหาดตะโลกะโปร์ไปถึงแหลมตาซี นักท่องเที่ยวสามารถเอาอาหารมานั่งปิ้งย่างรับประทาน บริเวณชายหาด ท่ามกลางบรรยากาศงดงาม มีอาหารทะเลสดทุกวัน ทั้งกุ้ง ปลากระบอก ปลาอินทรีย์ และชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตกได้ แต่ไม่สามารถพักค้างแรมเนื่องจากยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ  ซึ่งปัจจุบันทางจังหวัดปัตตานีได้มีการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกได้แก่ อาคารละหมาด ห้องน้ำ และเส้นทางเดินเท้าจากถนนไปสู่ปลายแหลมตาซี ทำให้แหลมตาซีเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ แหล่งท่องเที่ยวสีขาว       ในพื้นที่อำเภอยะหริ่งไม่ได้มีเพียงแหลมตาซีเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แต่ยังมีหาดตะโละกะโปร์ อยู่ในพื้นที่บ้านปาหา ต.ตะโละกะโปร์ อ.ยะหริ่ง ชื่อแปลว่าปูนขาว สื่อถึงหาดทรายขาวที่ทอดยาวไปในทะเล เป็นหาดน้ำตื้น มีทิวสนและต้นมะพร้าวให้ความร่มรื่น  ถัดมาไม่ไกลกันมีหาดตะโละสะมิแล บ้านตะโละสะมิแล ต.แหลมโพธิ๋ อ.ยะหริ่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีน้ำทะเลสีฟ้าใส สองหาดนี้มีร้านค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน นักท่องเที่ยวในพื้นที่มาท่องเที่ยวมาพักผ่อนในช่วงวันหยุดมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวปัตตานีมีกำลังใจในการร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นภายในบริบททางสังคมพี่น้องไทยมุสลิม       ชายหาดทั้งสองแห่งนี้มีระเบียบข้อบังคับเคร่งครัดตามนโยบายแหล่งท่องเที่ยวสีขาว โดยไม่อนุญาตให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าในพื้นที่เด็ดขาด ห้ามเล่นการพนัน อีกทั้งรีสอร์ทต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งรวมตัวกันเป็นชมรมผู้ประกอบการห้องพักรีสอร์ทของอำเภอยะหริ่ง ยังพร้อมใจกันออกกฎไม่ให้หนุ่มสาวที่อายุยังไม่ถึงวัยอันควรและไม่ได้เป็นสามีภรรยากัน เข้าพักหรืออยู่ร่วมกัน เป็นข้อห้ามที่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของชาวมุสลิมซึ่งเป็นประชากรหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความงดงามที่รอการเยี่ยมเยือน

      นอกจากชายหาดที่สวยงามจังหวัดปัตตานียังมีทรัพยากรใต้ท้องทะเลที่มีความสวยงามอันดับต้นๆ ของโลก มีจุดดำน้ำที่น่าสนใจหลายจุด โดยเฉพาะจุดดำน้ำเกาะโลซิน เกาะเล็กๆ ที่ติดกับชายแดนมาเลเพียงนิดเดียว ดูเผินๆ แล้วเหมือนกับกองหินมากกว่า แต่ใต้ทะเลของไปกลับเป็นขุมทรัพย์ใต้ทะเลของเหล่านักดำน้ำ เป็นจุดมุ่งหมายของนักดำน้ำที่ต้องหาโอกาสมาสักครั้งในชีวิตให้ได้ เพื่อมาชมความอุดมสมบูรณ์ใต้ท้องทะเล เจอกับปลาหายาก น้ำทะเลที่ใสมากทำให้มองเห็นแนวปะการังสลับซับซ้อนสุดลูกหูลูกตา และเป็นแหล่งปะการังเขากวางที่สมบูรณ์ที่สุดแหล่งสุดท้ายของประเทศไทย และมีปลายักษ์ใหญ่ใจดี หรือ ฉลามวาฬ ขวัญใจของนักดำน้ำออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่บ่อยๆ       ปัจจุบันพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเทศเพื่อนบ้าน มีความมั่นใจในความปลอดภัยและเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดปัตตานีมากขึ้น และถ้าจำนวนของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ก็จะทำให้พลิกฟื้นเศรษฐกิจของชุมชนรวมไปถึงจังหวัดปัตตานีได้อย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้รอให้พวกเราได้ไปเยี่ยมเยือนและสัมผัสสักครั้ง แล้วจะพบว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด

ความคิดเห็น