วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ ๒๑ โรงเรียนศาสนศึกษา จังหวัดปัตตานี

 13 มิ.ย. 2561 19:47 น.    เข้าชม 4108

      โลกได้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีพัฒนา อย่างรวดเร็ว เกิดการค้นพบ องค์ความรู้ใหม่ตลอดเวลา และต่อเนื่องในลักษณะ ทวีคูณ มีผู้กล่าวเปรียบเทียบไว้ ว่า ความรู้ที่มนุษย์สะสม มาตั้งแต่สร้างโลกจนถึงกลางศตวรรษที่ 21 นั้นมี ปริมาณเท่ากับความรู้ที่มนุษย์ค้นพบในช่วง 50-60 ปีที่เพิ่งผ่านมา เมื่อห้องเรียนสี่เหลี่ยม เริ่มแคบเกินกว่าความสนใจใคร่รู้ของนักเรียน นักการศึกษาจำนวนมาก จึงตั้งคำถามว่า การจัดการศึกษาแบบที่เคยเป็นมาอาจไม่ตอบโจทย์โลกในศตวรรษใหม่ จนสถานศึกษา หลายแห่ง ในประเทศฝั่งตะวันตกได้เปลี่ยนมาจัดการศึกษาโดยมุ่งเน้น “กระบวนการเรียนรู้” มากกว่าเน้นที่ “ความรู้” กระทั่งเกิดเป็นแนวคิด “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Century Skills) นั่นคือ การผสานความรู้ทางวิชาการเข้ากับทักษะสำคัญที่เด็กจำเป็นต้องพัฒนา อันได้แก่ ทักษะการเรียนรู้ และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills – 4Cs) ทักษะชีวิตและการทำงาน (Life and Career Skills) ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี (Information, Media and Technology Skills) ที่จะทำให้เด็กมีความสามารถในการสื่อสาร การแก้ปัญหา การคิดในเชิงวิพากษ์ ซึ่งการมีทักษะเหล่านี้ ก็เพื่อพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอนาคต
บูรณาการการศึกษา ห้องเรียนต้นแบบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
      ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงเรียนส่วนใหญ่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนจะเป็น โรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งนักเรียนต้องเรียนหนักทั้งวิชาสามัญตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และที่ สำคัญ คือการศึกษาหลักศาสนาอันเป็นบริบททางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ แม้บางโรงเรียนจะมีการบูรณาการหลักสูตรวิชาสามัญ เข้ากับการ เรียนศาสนา แต่วิธีที่ใช้ในการเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังเป็นวิธีการฟังบรรยาย และท่องจำแบบดั้งเดิม ปัญหาในการขาดแคลนสื่อการสอน และขาดการสร้างสรรค์นวัตกรรรมใหม่ๆ ด้านกระบวนการเรียนรู้ ทำให้ยากที่จะสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา อีกทั้งไม่สามารถดึงดูดความสนใจ หรือสร้างความมีชีวิตชีวา ให้กับการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้

      โรงเรียนศาสนาศึกษา อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นหนึ่งในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ที่มีอยู่มากมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ความแตกต่างที่โรงเรียนแห่งนี้มี ก็คือนวัตกรรมใหม่ของ การศึกษาที่ผสานเอาการบูรณาการปรัชญาการศึกษาที่มีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมที่ถูกต้อง ตามหลักการสอนของศาสนาอิสลาม เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข โดยมุ่งเน้นผู้เรียน และกระบวนการเรียนรู้เป็นสำคัญ มุ่งเน้นให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และทำงาน เป็นกระบวนการ ด้วยหลักสูตร "ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21"

      โรงเรียนศาสนศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยหลักสูตรวิชาอิสลามศึกษา ควบคู่กับ วิชาสามัญ ผู้บริหารของโรงเรียนมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันในเรื่องโอกาสทางการศึกษาของเด็กนักเรียน โดยจัดเก็บค่าเทอมจากนักเรียนทุกคนเพียงเทอมละ 100 บาท นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นด้านการให้ บริการสู่ ชุมชน ครู และนักเรียนร่วมกิจกรรมทางศาสนาในวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ เช่น การนำละหมาดในวันศุกร์ และการร่วมละหมาดให้แก่ผู้เสียชีวิต
      ความโดดเด่นของโรงเรียนในด้านการศึกษาคือ มีผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ ปรับเปลี่ยนให้ความสำคัญ กับวิชาสามัญมากขึ้น เพราะเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา และการจัดกระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่ ให้เด็ก ได้ก้าวทันเทคโนโลยี และมีทักษะในการใช้ชีวิตในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 จากการที่มี โอกาสได้เข้าร่วมโครงการ สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต โดยการสนับสนุนจากภาคเอกชนคือ บริษัทซัมซุง ประเทศไทย จำกัด ซึ่งได้สนับสนุนเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการสำรวจความรู้ในโลกกว้าง และองค์ความรู้ในการเสริมศักยภาพผู้สอนให้สามารถจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการที่เอื้อให้ผู้เรียนได้ค้นพบ ศักยภาพของตนเอง
สู่การเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ กระบวนการสำคัญกว่าความรู้

      หลักสูตรบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21 ได้เปิดสอนที่โรงเรียนศาสนศึกษา เป็นครั้งแรก ในระดับ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา จากเดิมที่ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับความรู้ นั่งฟัง ท่องจำจากการสอนของครูเพียงฝ่ายเดียว สู่การเรียนรู้แบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และยังเชื่อมโยงผู้เรียนสู่ชุมชน
      จากการนั่งฟังอย่างเดียว เปลี่ยนนักเรียนเป็น Active learner ได้เรียนรู้ผ่านการแสดงความคิดเห็น ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม และร่วมกิจกรรมที่สนุกสนาน โดยมีครูเป็นผู้หนุนเสริม และอำนวยความสะดวก ในกระบวนการเรียนรู้ การจัดการเรียนแบบบูรณาการได้เพิ่มวิชาใหม่ 3 วิชา โดยมีหลักศาสนาอิสลาม สอดแทรกอยู่ในทุกเนื้อหาคือ หนึ่ง วิชาความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่บูรณาการวิชาคอมพิวเตอร์ และศิลปะ เพื่อให้นักเรียนได้มีพื้นที่ คิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงาน ฝึกทักษะการสื่อสาร การเข้าใจตนเองรวมถึงทักษะการใช้เทคโนโลยี

      สอง วิชาสุขภาวะ และวิถีชีวิตเชิงสร้างสรรค์ บูรณาการวิชาสุขศึกษา และจิตวิทยาเข้าด้วยกัน นำประเด็น ปัญหาสังคม และปัญหาวัยรุ่น เช่น เรื่องคุณแม่วัยใส เด็กแว้น มาสอน โดยเน้นสุขภาวะการใช้ชีวิต สุขภาวะมุสลิม เปรียบเทียบหลักการของอิสลาม และสาม วิชาการเงิน และเศรษฐศาสตร์ในศาสนาอิสลาม เพื่อให้นักเรียนรู้วิธีจัดการการเงิน และยังคงเป็น มุสลิมที่เหมาะสม ในสังคมพหุวัฒนธรรม

      ที่สำคัญ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังให้เกิดขึ้นกับโรงเรียน และชุมชน คือ โรงเรียนศาสนศึกษา ได้จัดหลักสูตรเป็นหน่วยการเรียนรู้เชื่อมโยงเด็กนักเรียนกับชุมชน นำเด็กลงพื้นที่ไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน เป็นครั้งแรกที่โรงเรียนจัดกิจกรรมลงพื้นที่ชุมชน หลังจากที่ไม่เคยจัดเนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
      ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากหนึ่งปีการศึกษาที่ผ่านมา ส่งผลต่อดีต่อโรงเรียน และชุมชนเป็นอย่างมาก นักเรียนมีความสุขในการเรียนรูู้ และมีความกล้าแสดงออกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่เด็กไม่กล้า แสดงออก ไม่กล้าสื่อสาร เวลาพูดด้วยมักหลบตา จากที่ขาดเรียนหรือแอบหลับเวลาเรียน กลับกลายเป็น ห้องเรียนที่มีชีวิตชีวา นักเรียนเป็นฝ่ายสื่อสารขอเพิ่มเวลาเรียนมากกว่าเดิม ผู้ปกครอง และชุมชน ก็มีการตอบรับเป็นอย่างดี พอใจกับพัฒนาการของเด็ก

      ในบัญญัติของศาสนาอิสลามนั้นไม่ได้ส่งเสริมว่าต้องเรียนศาสนาอย่างเดียว เพราะทุกศาสตร์ได้ระบุ ไว้ใน โองการของพระเจ้าทั้งหมด ทุกศาสตร์คือวิชาที่บูรณาการกับอิสลามได้ พระเจ้าส่งเสริมให้ศึกษาหาความรู้ เพราะความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเราแสวงหาความรู้ พัฒนาตัวเองโดยไม่หยุด และนำ ความรู้ มารวมกับ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความบริสุทธ์ใจ ทั้งสามสิ่งนี้จะทำให้เราพร้อมที่จะพัฒนาสังคมด้วยใจที่บริสุทธ์ ไม่หวังผลตอบแทน และนำความสุขสงบอันแท้จริงมาสู่สังคมของเรา

ความคิดเห็น