วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

พลังนักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่ กลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ชายแดนใต้

 13 มิ.ย. 2561 20:09 น.    เข้าชม 1940

      ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้นมีกลุ่มพลังเยาวชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ และความมุ่งมั่นเป็นจำนวนมาก เพียงแค่หน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน และหยิบยื่นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพอย่างแท้จริง แรงกดดันต่างๆ จะกลายเป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ให้พวกเขาประสบความสำเร็จ และหนึ่งในกลุ่มเยาวชนตัวอย่างจากสถาบันการศึกษากลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่มุ่งมั่นทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้ พวกเขาได้ทำกิจกรรมลงพื้นที่ และเข้าไปคลุกคลีในการแบ่งปันความสุขให้กับคนในชุมชน เป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะมีโอกาสได้รับรู้ในสิ่งที่พวกเขาทำ ไม่ใช่เป็นการอ้างอวดผลงาน แต่พวกเขาต้องการให้ทุกคนได้เห็นเรื่องราวความสวยงามที่ซ่อนเร้นอยู่ในเรื่องราวที่พวกเขาทำ พลังสร้างสรรค์ของเฟรชชี่ ปีหนึ่ง       กลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ชายแดนใต้ คือกลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ริเริ่มก่อตั้งจากกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของนักศึกษาสาขาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ โดยความคิดอยากจะแสดงความสามารถ ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันของนักศึกษา เพื่อแสดงศักยภาพที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้ให้ก้าวหน้าต่อไป โดยการทำกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนในชุมชน กิจกรรมแรกเริ่มของพวกเขา คือ กิจกรรมแบ่งปันรอยยิ้มให้กับน้องในสถานสงเคราะห์ เป็นกิจกรรมนันทนาการ และสร้างความเข้าใจความแตกต่าง และเติมเต็มซึ่งกัน และกัน       เป้าหมายของกลุ่มที่มีความคิดอยากจะผลักดันให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเลือกเริ่มต้นจากกลุ่มเยาวชนก่อน ปัญหาหนึ่งที่ทางกลุ่มนักศึกษาได้เล็งเห็นคือ สถานการณ์การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้นส่งผลกระทบระยะยาวต่อสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนรู้ของเยาวชน เนื่องจากเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะใช้ภาษามลายูเป็นหลัก ทางกลุ่มจึงทำโครงการ GEN A ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง

      โครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง โดยใช้พลังของนักศึกษาอาสาสมัคร “พี่สอนน้อง” อาศัยความเกื้อกูลระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องเป็นกลไก เชื่อมหัวใจให้เด็กได้พบความสุขจากการอ่าน โดยที่นักศึกษาในกลุ่มนั้นมาจากหลายสาขาวิชา บางคนเรียนภาษาอังกฤษ บางคนเรียนภาษามลายู ก็สามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำงาน       ทางนักศึกษากลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ชายแดนใต้ จะเปิดโอกาสให้น้องๆ เยาวชนตัวเล็กๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรมการอบรมเรื่องภาษา ทั้งภาษาไทย และอังกฤษ โดยมีนักศึกษาเป็นพี่เลี้ยงในการสอนภาษาไทย และภาษาอังกฤษ สลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละสัปดาห์ โดยมีระยะเวลาการอบรม 9 สัปดาห์ โดยมีการให้ความรู้ผ่านการเล่านิทาน การสอนสุภาษิต การเล่นกิจกรรมนันทนาการ เป็นต้น เพื่อให้น้องเยาวชนที่มาเข้าร่วมการอบรมนั้นไม่เบื่อ และสามารถนำความรู้ที่ได้กลับไปใช้ประโยชน์สูงสุด น้องๆ นักศึกษาจะมีการแบ่งทีมเพื่อที่จะอบรมในแต่ละสัปดาห์โดยมีการอบรมเฉพาะในวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียนในโรงเรียนๆ ของน้องๆ

      การที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้มีโอกาสไปสอนเด็กๆ ในชุมชน นอกจากจะได้รับประสบการณ์ที่ดีแล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนทัศนคติ และแนวความคิด ที่มีต่อสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย ในขณะที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ นักศึกษาเองก็ได้เรียนรู้เช่นกัน จากความหวาดกลัวว่าลงพื้นที่ไปแล้วจะปลอดภัยหรือเปล่า พอได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ก็ทำให้เข้าใจ และกล้าที่จะลงพื้นที่ไปทำกิจกรรม ความสำเร็จของโครงการจึงเกิดจากการมีส่วนระหว่างกลุ่มนักศึกษา และเยาวชนในพื้นที่ เป็นการเรียนรู้ที่มีชุมชนเป็นฐานขับเคลื่อนให้ชุมชนมีพลัง เยาวชนเองได้เรียนรู้ถึงคุณค่าที่ชุมชนของตนเองมี และสิ่งที่ยังขาดหรือเป็นจุดอ่อน ควรพัฒนา โครงการสื่อสร้างสรรค์ชายแดนใต้       หลังจากน้องๆ เยาวชนสร้างสรรค์ชายแดนใต้ได้ทำโครงการ GEN A ขึ้นมานั้น ทำให้พวกเขามีโอกาสได้คลุกคลีกับชาวบ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น ทำให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น และมีความสวยงามในรูปแบบพหุวัฒนธรรม เกิดความคิดที่อยากจะเผยแพร่ให้คนภายนอกได้รู้จักจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองที่พวกเขาได้เห็นได้สัมผัส ได้รับรู้ความจริงที่เกิดขึ้น จึงได้มีการจัดทำ โครงการสื่อสร้างสรรค์ชายแดนใต้ ขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางให้คนทั่วไปได้เห็นความจริงมากกว่าภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างว่าน่ากลัว และอันตรายต่อคนภายนอก กิจกรรมของโครงการจะมีการอบรมเยาวชนรุ่นใหม่ให้ใช้สื่ออย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่ เยาวชนจะได้เรียนรู้จากพี่ๆ นักศึกษา ในด้านความรู้ และเทคนิคการเขียนข่าว การจัดรายการวิทยุ และการถ่ายทำ และตัดต่อวีดีโอ เยาวชนจะสามารถเป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่เรื่องราว วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ออกสู่ภายนอกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ถูกบิดเบือน

      ถ้าพูดถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายๆ คนอาจจะกลัว และไม่มั่นใจถึงความปลอดภัย เพราะได้รับข่าวต่างๆ ที่สื่อถึงความรุนแรง แต่นักศึกษากลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ชายแดนใต้ไม่คิดแบบนั้น เพราะประสบการณ์ที่พวกเขาได้ลงพื้นที่สัมผัสความจริงมาแล้ว ทำให้เกิดความมั่นใจว่า เหตุการณ์ต่างๆ นั้นไม่ได้มีความน่ากลัวจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ ดังนั้นจึงได้มีการจัดทำสื่อในพื้นที่ โดยการนำเสนอเรื่องราวดีดี ผ่านวิทยุของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อสร้างความเข้าใจทั้งกับคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ โดยการสะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี นำเสนอภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชน เกิดการประสานงานร่วมกันระหว่างนักศึกษาและคนในพื้นที่ นำความแตกต่างที่ลงตัวมานำเสนอผ่านสื่อดิจิตอลนำเสนอกลับไปสู่ชุมชน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญถึงเรื่องราวของจังหวัดชายแดนใต้

      น้องๆ นักศึกษาไม่เพียงทำกิจกรรมดีดีกับสังคมภายนอก เช่น โครงการ Gen A และโครงการสื่อสร้างสรรค์ชายแดนใต้แล้วนั้น ยังมีกิจกรรมดีดีที่แบ่งปันประสบการณ์ให้กับเยาวชนนักศึกษาด้วยกัน นั่นคือ โครงการตลาดวัยทีน เปิดโอกาสให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยสามารถนำผลิตภัณฑ์ของตนเองมาขายในพื้นที่ที่โครงการจัดไว้ให้ โดยทางกลุ่มจะมีการหาเงินทุนให้เหล่านักศึกษาร้านค้าละ 1500 บาท เป็นทุนเปล่าไม่เอาคืน แต่พ่อค้าแม่ค้านักศึกษาเหล่านี้จะต้องกลับมาขายของตามกำหนด ไม่เพียงแต่ให้เงินทุน ยังมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการตลาด การทำบัญชี การบริหารจัดการ และการจัดหาพื้นที่ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษา และเยาวชนที่อยากมีรายได้เสริมระหว่างเรียนได้ทำการเปิดร้านขายของได้สะดวก โดยได้รับการสนับสนุนสถานที่จากกองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จากแรงกดดันสู่แรงผลักดัน       จะเห็นได้ว่ากิจกรรมของกลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ชายแดนใต้ล้วนเป็นกิจกรรมที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ และมุ่งมั่นลงมือทำ เพื่อทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้รู้จักการทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหา และการคิดสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้นที่ต้องการพลังของคนรุ่นใหม่เช่นนี้ แต่ในทุกภาคส่วนของประเทศไทย หากเยาวชนรู้จักการนำพลังสร้างสรรค์ของตนเองมาใช้ให้ประโยชน์ต่อสังคม ก็จะทำให้ประเทศของเราพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงยั่งยืน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่กลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ชายแดนใต้ทำมาโดยตลอด ถึงแม้การทำงานย่อมมีอุปสรรค และปัญหา ไม่ได้ประสบความสำเร็จเต็มร้อย แต่พวกเขามีเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญกว่า การทำงานจึงเป็นบทเรียนสอนให้พวกเขารู้จักการวางแผน การแก้ไขปัญหา และได้เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนจังหวัดชายแดน และที่สำคัญคือการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีที่คอยเป็นที่ปรึกษา การสนับสนุนจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และจากชุมชน เยาวชนจึงจะสามารถพัฒนาศักยภาพให้ได้ดีที่สุด และไปถึงจุดที่ได้รับการยอมรับอย่างยั่งยืน

ความคิดเห็น