วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ตั้งปณิธานดำเนินรอยพระราชดำริ

 13 มิ.ย. 2561 20:28 น.    เข้าชม 4873

      ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นสิ่งที่สะท้อนวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น การอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้เอาไว้ ควรเริ่มจากคนในชุมชน ดังเช่น อาจารย์สมมาตร ดารามั่น ปราชญ์ชาวบ้าน และข้าราชการครูชาวนราธิวาส ที่เห็นคุณค่า และมุ่งมั่นรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง และตั้งปฺณิธานจะทำงานตามรอยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงอยากให้คนไทยได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ อย่างเรือกอและ ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำคัญปราชญ์ชาวบ้านท่านนี้ยังช่วยส่งเสริมคนในชุมชนให้สามารถสร้างงานสร้างอาชีพสามารถเลี้ยงตนเอง และครอบครัวตามพระราชเสาวนีย์ของพระองค์ท่าน โอกาสในการทำงานอันปลื้มปิติ       อาจารย์สมมาตร ดารามั่น เป็นชาวนราธิวาส นับถือศาสนาอิสลาม สามารถพูดได้ทั้งภาษาไทย และมลายู อาจารย์สมมาตรรับราชการเป็นครู สอนวิชาศิลปะอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง และเมื่อมีโอกาสได้อยู่ในส่วนงานที่ได้มีโอกาสติดต่อสัมพันธ์กับชุมชน เยี่ยมเยือนชาวบ้าน ผู้ปกครองนักเรียน ทำให้อาจารย์ได้เห็นถึงความยากลำบากและความยากจนของคนในชุมชน เด็กนักเรียนไม่มีอาหารกลางวันรับประทาน จึงเกิดความคิดที่ว่าคนในชุมชนเหล่านี้ต้องได้รับความช่วยเหลือ และเสริมสร้างรายได้เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น       ในระหว่างการรับราชการเป็นครูนั้น อาจารย์สมมาตรได้เปิดร้านทำกรอบรูปควบคู่ไปด้วย ซึ่งมีเหตุการณ์ที่ทำให้อาจารย์ภูมิใจเป็นอย่างมาก คือการมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทำกรอบรูปใส่ผ้าปักลายที่ประชาชนนำมาถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังความปลื้มปิติมาแก่หัวใจของครูนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะทำงานตามรอยพระราชดำริ

      นอกจากจะได้เข้าไปทำงานในพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อาจารย์สมมาตรแล้วยังได้มีโอกาสเข้าเป็นกรรมการตัดสินการประกวดเรือกอและจำลอง ซึ่งเกิดจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทอดพระเนตรในประเพณีแข่งเรือกอและของจังหวัดนราธิวาส ทรงพอพระทัยในรูปแบบ และลวดลาย ทรงมีพระราชดำริอยากให้คนในพื้นที่ อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น รักษาวัฒนธรรมภูมิปัญญา และลวดลายดั้งเดิมที่สวยงามของเรือกอและเอาไว้ ในรูปแบบของการสร้างเรือจำลอง จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อาจารย์สมมาตรไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้ทำงานรับใช้แม่ของแผ่นดินผู้ห่วงใยประชาชนของพระองค์ ทำให้ท่านรู้สึกภาคภูมิใจ และได้บอกกับตัวเองว่าต่อไปนี้จะทำงานเพื่อสืบสานพระราชเสาวนีย์ของพระองค์ และคอยช่วยเหลือประชาชนของพระองค์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ได้

อนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดงานศิลป์ท้องถิ่น

      อาจารย์สมมาตร ดารามั่น มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะอนุรักษ์เอกลักษณ์ท้องถิ่นอย่างเรือกอและ ท่านได้นำวิชาความรู้มาถ่ายทอดให้กับนักเรียน และเยาวชนในพื้นที่ เพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่า และช่วยกันรักษาศิลปะแขนงนี้เอาไว้ อีกทั้งเป็นการช่วยคนในการสร้างงาน และอาชีพ โดยการตั้งกลุ่มอาชีพผลิตเรือกอและจำลองเพื่อจัดจำหน่าย       จากเรือกอและลำใหญ่ที่เด็กๆ ในชุมชนเห็นอยู่ทุกวันมาตั้งแต่เกิด ถูกถ่ายทอดเป็นเรือจำลองขนาดเล็ก ที่ถ่ายทอดทั้งรูปลักษณ์ และลวดลายที่ไม่ผิดเพี้ยนจากของจริง โดยอาจารย์จะสอนวิธีการทำ แนะนำเรื่องลาย เรื่องสี การบริหารงานกลุ่ม ตลอดไปจนถึงการทำการตลาด สามารถทำเป็นอาชีพได้ โดยชิ้นงานที่มีคุณภาพจะมีโอกาสได้รับการดูแลจัดจำหน่ายในโครงการศิลปาชีพ ทำให้เด็ก และเยาวชนให้ความสนใจเป็นอันมาก รวมไปถึงโรงเรียนในพื้นที่ก็ได้นำเอาศิลปะการทำเรือกอและจำลองไปใช้สอนนักเรียนอีกด้วย ซึ่งอาจารย์สมมาตรยังพยายามผลักดันให้ทางราชการบรรจุความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้เข้าสู่หลักสูตรการศึกษาอีกด้วย ธรรมชาติอันทรงคุณค่า หนึ่งเดียวในโลก

      อกจากเรือกอและที่อาจารย์สมมาตร ได้มีส่วนเข้าไปสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัดนราธิวาส นั่นคือ ใบไม้สีทอง ซึ่งพบเห็นที่เดียวในโลก คือ ที่เทือกเขาบูโด อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอาจารย์มีเหตุการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจ คือ ได้เห็นทหารนำกิ่งไม้ใบไม้สีทองสดๆ ไปปักแจกันในพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จึงเกิดแรงบันดาลใจให้นำสิ่งนี้มาพัฒนาต่อยอดจากความรู้ที่ได้รับการอบรมจากหน่วยงานของทางราชการ ในเรื่องการทำธุรกิจการตลาดชุมชน อาจารย์จึงนำเสนอ ใบไม้สีทอง ในฐานะสิ่งที่สื่อความหมายถึงความเป็นธรรมชาติ และเพิ่มคุณค่าให้เป็นใบไม้มงคลสีทอง นำมาจัดองค์ประกอบและใส่กรอบอย่างสวยงาม เสริมสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเช่นเดียวกับเรือกอและอีกด้วย

      สิ่งที่สำคัญที่สุดที่อาจารย์สมมาตร ดารามั่น และสำนักงานพัฒนาชุมชนได้ช่วยกันส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนนั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสร้างให้ชุมชนมีความมั่นคง และเข้มแข็ง ประชาชนสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเอง และครอบครัวได้อย่างพอเพียง หลายๆ คนส่งลูกเรียนจนจบ ลืมตาอ้าปากได้ ถึงแม้จะเป็นพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หลายคนมองเห็นแต่ความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่พื้นที่นี้ก็สร้างความมั่นคง และเข้มแข็งเอาไว้ โดยเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในท้องถิ่น ช่วยกันพัฒนาท้องถิ่น สร้างงาน สร้างอาชีพ หวังให้เกิดสันติสุขขึ้นในพื้นที่ของตน มุ่งมั่นในปณิธาน สืบสานภูมิปัญญา       สิ่งที่อาจารย์สมมาตร ดารามั่น ทำไว้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อประชาชนชาวจังหวัดนราธิวาสเป็นอย่างมาก ท่านคิดเสมอว่า ความแตกต่างไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาส คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีต้นทุนทางวัฒนธรรมมากมาย และเป็นสิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงงานหนักเพื่อประชาชนมาโดยตลอด ชาวบ้านมีสิ่งที่ดี มีค่าอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครมาบอกว่าเป็นของดีมีค่า แต่พระองค์ท่านเสด็จมาที่นราธิวาส และได้เอาคุณค่าเหล่านี้ยกขึ้นมา ส่งเสริมให้เป็นอาชีพให้อยู่ได้อย่างพอเพียง อาจารย์จึงตั้งปณิธานกับตนเองว่า จะต้องทำงานสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชน เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ด้วยความพยายามความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเผยแพร่ให้กับเยาวชนคนรุ่นหลังได้รู้จัก และตระหนักถึงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาเหล่านี้ ทำให้อาจารย์มุ่งมั่นที่จะทำงานตามรอยพระราชดำริตลอดไป

ความคิดเห็น