วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ.2567

กูบาฆูลิง ขนมบนความลื่นไหลทางวัฒนธรรม

 3 ต.ค. 2561 19:52 น.    เข้าชม 3932

      รอมฎอนเดือนแห่งการถือศีลอด ถือเป็นเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ที่แสดงให้เห็นถึงความเคร่งครัด และความอดทนในการถือศีลอด เพื่อชำระล้างร่างกาย และจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ของชาวมุสลิมแล้ว และสร้างให้เกิดวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวมุสลิมที่สืบทอดกันมา และมีอาหารอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ชาวมุสลิมจะรับประทานกันในช่วงเดือนรอมฎอน หลังจากที่ชาวมุสลิมถือศีลอดกันมาตลอดทั้งวัน ทุกคนก็จะรอให้ถึงช่วงเวลาแก้บวชหรือแก้ศีลอด คือ เวลาพลบค่ำได้คืบคลานเข้ามา และเวลากลางวันได้ผ่านพ้นไป และดวงอาทิตย์ได้ลับขอบฟ้าไปแล้ว แต่ละบ้านจะเตรียมรับประทานอาหารกันพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัว นับตั้งแต่เวลาบ่ายสามโมงเย็นเป็นต้นไปตามร้านรวงในตลาดต่างๆ ก็จะเต็มไปด้วยสารพัดสำรับกับข้าวนานาชนิดวางขายกันเป็นแถวยาวเหยียด คลาคล่ำไปด้วยผู้คนอุ้มลูกจูงหลานของมาซื้อหาอาหารกันอย่างคึกคัก ก่อนจะกลับไปตั้งวงกินพร้อมหน้ากันเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว นอกจากจะมีอาหารคาว โรตีมะตะบะ ข้าว และแกงต่าง ๆ แล้ว ชาวมุสลิมยังให้ความสำคัญกับอาหารหวานอีกด้วย เพราะเชื่อว่า ขนมหวาน จะช่วยให้ร่างกายที่อ่อนเพลียจากการขาดอาหารมาทั้งวัน รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และมีเรี่ยวแรงเพิ่มขึ้นนั่นเอง ขนมหวานหลากหลายชนิด เช่น ขนมบดิน หรือ เค้กเนยของมุสลิม, ขนมซูยี คล้ายมูสลี่, ขนมบูงอ เป็นขนมแป้งข้าวเหนียวผสมมันเทศ และนำไปปั้นก้อนชุบไข่ทอด, ขนมซัมบูซะ ลักษณะคล้ายปอเปี๊ยะทอด และอินทผาลัมก็เป็นขนมหวานยอดนิยม เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินของชาวมุสลิมในช่วงเดือนรอมฎอน
กูบาฆูลิง ควายกลิ้งหรือเปียกปูน

      ขนม กูบาฆูลิง หรือ ควายกลิ้ง เป็นชื่อขนมที่โด่งดังขึ้นมาในกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์กในช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2561 นี้เอง โดยกระแสนิยมนี้เริ่มขึ้นจากทางมาเลเซียที่ถึงขนาดแย่งกันซื้อ และแพร่ขยายความนิยมมายังอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา ซึ่งมีเพียงไม่กี่ร้านในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยที่ทำขนมชนิดนี้จำหน่าย ผู้ที่เคยมีโอกาสได้ชิมขนมกูบาฆูลิง ของทางมาเลเซีย ระบุว่า ขนมมีลักษณะคล้ายขนมเปียกปูนของไทยเรานี่เอง ถ้าเป็นสูตรของมาเลเซีย เนื้อขนมจะมีสีดำวาว เนื้อสัมผัสเป็นเจลลี่ หยุ่นหนึบๆ และหอมกะลามะพร้าวเผา เรื่องราวที่มาของขนมกูบาฆูลิง ก่อนที่จะเกิดโด่งดังขึ้นที่มาเลเซีย เมื่อสืบย้อนไปก็พบว่า เกิดจากคนไทยนี่เองที่ไปทำขนมเปียกปูนสีดำขายที่ฝั่งมาเลเซีย แต่คนมาเลเซียเรียกไม่ถูก และเห็นเวลากลิ้งขนมสีดำๆ ไปกับมะพร้าวขูด ก็เลยพากันเรียกว่า กูบากูลิง แปลว่า ควายกลิ้ง เพราะฉะนั้นอาจจะเรียกได้ว่าขนมกูบาฆูลิง ก็คือขนมเปียกปูนมลายูนั่นเอง

      เมื่อนูไอนี เสมอภพ เจ้าของโรงงานขนมไทย และร้านอาหารดีแมงโก้ จังหวัดยะลาที่เล่าเรียนมาจากวิทยาลัยในวัง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก จังหวัดนครปฐม เห็นข่าวเข้า จึงได้ทดลองแกะสูตรทำโดยประยุกต์จากสูตรขนมเปียกปูนของไทยด้วยความมั่นใจในคุณค่าขนมไทย เพราะปกติก็ทำขนมเปียกปูนใบเตยกะทิสดขายในช่วงเดือนรอมฎอนอยู่แล้ว ปีนี้จึงมีเมนูพิเศษเป็นขนมกูบาฆูลิง เริ่มขายในวันที่ 30 พฤษภาคม ผลที่ได้คือ ยอดขายถล่มถลาย ขายในราคาเพียงชิ้นละ 10 บาท ยอดขายวันละเกือบสามร้อยถาดเป็นเงินกว่าห้าหมื่นบาท ลูกค้ามาจากสื่อโซเชียลเป็นจำนวนมาก บางคนก็ได้ชิมที่เพื่อนซื้อไปฝากแล้วมาหาซื้อเอง บางคนไม่เคยกินก็อยากจะลองชิม มีทั้งซื้อไปกินเองในครอบครัว ซื้อไปฝากมิตรสหาย ญาติผู้ใหญ่ และมีลูกค้าจากปัตตานี และนราธิวาสมาซื้อไปขายต่ออีกด้วย
ขนมไทยในวัฒนธรรมการกินมุสลิม
      ขนมกูบาฆูลิง ของร้านดีแมงโก ถนนผังเมือง 4 ซอย 5 เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ใช้แป้งข้าวจ้าว ข้าวเหนียวดำ น้ำกะทิ และน้ำตาลปี๊บเป็นวัตถุดิบหลัก มีส่วนประกอบของน้ำปูนใสที่แช่ไว้ค้างคืนจนใส และใช้สีดำจากผงชาร์โคลแทนกะลามะพร้าวเผา เนื่องจากต้องประยุกต์ให้ทันกับออเดอร์จากลูกค้า วัตถุดิบจะถูกกวนในกะละใบใหญ่ และเทใส่ถาดเพื่อให้แข็งตัว ก่อนจะตัดออกจากถาดเป็นชิ้นเล็ก และคลุกมะพร้าวขูดสด เมื่อรับประทานเข้าไปเนื้อขนมมีความนุ่มหอมหวานกลมกล่อมกำลังพอดี ละลายในปาก มีเพียงมะพร้าวเท่านั้นที่ต้องเคี้ยว จึงเป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้า ซื้อแล้วมาซื้อซ้ำ
      ปรากฏการณ์ขนมกูบาฆูลิงจึงถือเป็นตัวอย่างของการไหลลื่น และผสมผสานของวัฒนธรรม ขนมไทยจากตำรับวังหลวง ถูกทำเพื่อรับประทานในเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้ ถูกนำไปขายในประเทศมาเลเซีย และกลับมาพร้อมชื่อใหม่ และสูตรขนมที่ปรับเปลี่ยนไป และยังมีการปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้วัตถุดิบให้สอดคล้องกับสถานการณ์และยุคสมัย

ความคิดเห็น