วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

อาภรณ์มุสลิม ความงามและการดำรงอยู่ของแรงศรัทธา

 3 ต.ค. 2561 20:00 น.    เข้าชม 11414

      สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดินแดนที่มีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามหรือชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย สัมผัสได้ถึงแรงศรัทธาในศาสนาอิสลามที่ยังคงเข้มแข็งเหนียวแน่น มีวิถีชีวิตอันเป็นอัตลักษณ์ของชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ การแต่งกายของชาวมุสลิมไม่ว่าหญิงหรือชายถือเป็นหนึ่งในบทบัญญัติที่สำคัญของศาสนาอิสลาม ยึดปฏิบัติมาพร้อมกับการถือกำเนิดของศาสนาอิสลามหรือกว่า 1400 ปีมาแล้ว
เสื้อผ้าในชีวิตประจำวัน และกิจกรรมทางศาสนา
      มุสลิมะ หรือ ผู้หญิง เมื่อออกสู่ที่สาธารณะก็จะต้องปกปิดร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เผยให้เห็นได้แค่สองส่วน ได้แก่ ใบหน้าและฝ่ามือ โดยมีองค์ประกอบที่ต้องสวมใส่หลักๆ ได้แก่ ผ้าคลุมศีรษะ ที่เรียกว่า ฮีญาบ จะปกปิดผม ลำคอ คลุมยาวไปถึงหน้าอก และเนื่องจากอิสลามมีต้นกำเนิดจากตะวันออกกลางทางอาหรับ ซึ่งมีชุดคลุมที่เรียกว่า อาบายะห์ เป็นชุดทรงตรงยาวถึงพื้น ไม่เข้ารูป มักมีสีดำ เพราะเป็นสีพื้นฐานที่ดึงดูดสายตาเพศตรงข้าม ถือเป็นชุดต้นแบบของชุดผู้หญิง ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนารูปทรง และสีสันหลากหลาย นิยมใส่กันทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยกลางคน หรือแม้แต่ผู้สูงอายุก็ยึดปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด การสวมใส่ชุดอาบายะห์ ไม่เพียงเพื่อเป็นการรักษาอุณหภูมิร่างกายของคนมุสลิมในตะวันออกกลางเท่านั้น แต่ยังเป็นการปกป้องสตรีจากสายตา จากความปรารถนาของชาย
      นอกจากจะมีเสื้อผ้าที่สวมใส่ในชีวิตประจำวัน เมื่อถึงวาระโอกาสการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เสื้อผ้าที่สวมใส่จะถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้าสถานการณ์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นชุดที่ใส่เพื่อทำพิธีกรรมสำคัญอย่างการละหมาด สตรีมุสลิมจะสวมใส่ผ้าคลุมละหมาด เรียกว่า ตะละกง ลักษณะเป็นผ้าคลุมผืนยาว สีพื้น คลุมปิดตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า แสดงให้ถึงความสะอาดเรียบร้อยและความอ่อนน้อมต่อพระเจ้า
เสื้อผ้าในเทศกาลสำคัญ

      เมื่อถึงงานรื่นเริงเฉลิมฉลอง เสื้อผ้าจะมีสีสันลูกเล่นมากขึ้น มีความสวยงามกว่าปกติ โดยเฉพาะการไปร่วมงานเฉลิมฉลองทางศาสนาของชาวมุสลิม เสื้อผ้าที่สวมใส่จะมีสีสันฉูดฉาดขึ้น ตัวชุดจะถูกปักประดับด้วยลวดลายสวยงาม ส่วนชุดที่ใช้สวมใส่ในพิธีศพ จะไม่ใช้สีดำเพราะในศาสนาอิสลามนั้นเชื่อว่าการตายนั้นเป็นประสงค์ของพระเจ้า ชาวมุสลิมจึงไม่มีการไว้ทุกข์ เป็นความเชื่อที่แตกต่างจากศาสนาอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ดังนั้นชาวมุสลิมจะสวมใส่ชุดที่มีสีสุภาพไปร่วมงาน
      นอกจากผู้หญิงชาวมุสลิมจะแต่งกายแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ผู้ชายชาวมุสลิมก็เช่นกัน การแต่งกายจะไม่ปกปิดเท่าผู้หญิง แต่ก็ถูกกำหนดให้ปกปิดร่างกายตั้งแต่บริเวณเหนือสะดือจนถึงหัวเข่า และห้ามสวมชุดที่ทำจากผ้าไหม และเครื่องประดับที่ทำจากทองคำ เพราะถือเป็นอาภรณ์เครื่องประดับของผู้หญิง โดยชุดที่นิยมสวมใส่กันทั่วไป จะเป็นชุดยาวที่เรียกว่า โต๊ป เป็นชุดยาวคลุมข้อเท้า และในแถบเอเชียบ้านเรา ผู้ชายจะนิยมนุ่งผ้าโสร่ง หรือ หากมีพิธีการสำคัญ การแต่งกายก็จะพิถีพิถันมากขึ้น เช่น เมื่อเข้าพิธีละหมาด นอกจากจะต้องแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย ผู้ชายมุสลิมจะต้องสวมใส่หมวกที่เรียกว่า หมวกกะปิเยาะ การทำละหมาดจะมีการก้มกราบ หน้าผากจะต้องสัมผัสกับพื้น การมีเส้นผมมาปิดบังหน้าผากแม้เพียงสามเส้น ก็ทำให้การละหมาดครั้งนั้นเป็นโมฆะได้ กะปิเยาะจึงทำหน้าที่รวบผมที่ปิดบังหน้าผากเอาไว้ เพื่อทำให้การละหมาดนั้นสมบูรณ์ แต่ในศาสนกิจที่สำคัญอย่างการทำพิธีฮัจญ์ ผู้ชายมุสลิมจะไม่สวมหมวกหรือผ้าปิดบังศีรษะ จะสวมใส่เพียงผ้าสองผืน ใช้นุ่งและห่มเท่านั้น เรียกว่า ผ้ายะรอม หรือยะราม ลักษณะเป็นผ้าสีขาวสะอาดไม่มีการตัดเย็บ เป็นการแสดงถึงความสะอาดบริสุทธิ์ และความเท่าเทียมกัน

      นอกจากพื้นฐานของการแต่งกายของชาวมุสลิมทั้งหญิง และชายตามหลักศาสนา ซึ่งแตกต่างกันไปตามวาระและพิธีกรรมต่างๆ แล้วยังมีรายละเอียดที่แตกต่างไปเช่น มุสลิมหญิงบางคนสวมใส่ผ้าปิดใบหน้าเหลือแต่ตา เนื่องจากเป็นชุดที่มาจากตะวันออกกลาง ซึ่งมีอากาศร้อน แห้ง และมีฝุ่นมาก หรือ ผู้ชายมุสลิมจะสวมชุดเสื้อคลุมสไตล์อาหรับมิสะระ และคลุมศีรษะด้วยผ้าสะระบั่น ถือเป็นเครื่องแต่งกายที่มีเกียรติ และมีคุณค่า บ่งบอกฐานะความเป็นผู้นำทางสังคม และทางศาสนา นิยมสวมใส่ในพิธีกรรมสำคัญทางศาสนา เป็นชุดสำหรับครูสอนศาสนา โต๊ะอิหม่าม และเข้าไปอยู่ในพิธีกรรมสำคัญของชีวิต อย่างการเป็นชุดเจ้าบ่าว ส่วนชุดเจ้าสาวก็ดูสวยงามหรูหราไม่น้อยหน้าชุดเจ้าบ่าว โดยมีสีสันจัดจ้านอย่างสีแดงที่เป็นสียอดฮิตของสาวชาวมุสลิมมากกว่าจะเป็นสีขาวอย่างที่เราเห็นกันทั่วไป และมีการปักประดับประดาด้วยลูกไม้ เพิ่มความแวววาวด้วยลูกปัดคริสตัล และใช้ผ้าแบบไม่อั้น แต่ละชุดมีความยาวไม่น้อยกว่า 10 เมตรเลยทีเดียว
ดีที่สุด งดงามที่สุด ในวันฮารีรายอ

      เมื่อเข้าสู่เทศกาลสำคัญของชาวมุสลิม เสื้อผ้าก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่เข้าไปอยู่ในเทศกาลเฉลิมฉลองอย่าง วันฮารีรายอ เป็นวันสำคัญประจำปีของศาสนาอิสลามเป็นการออกบวชจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน โดยกำหนดวันจากการมองเห็นดวงจันทร์ การใช้ดวงจันทร์กำหนดวันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของศาสนาอิสลามที่ใช้ปฏิทินจันทรคติเพื่อกำหนดวันที่เหมาะสมในการเฉลิมฉลองวันสำคัญในศาสนาอิสลาม โดยสังเกตจากลักษณะของดวงจันทร์เป็นหลัก ซึ่งทางสำนักจุฬาราชมนตรีประกาศวันดูดวงจันทร์ และทางอิหม่ามจะสื่อสารให้ชาวมุสลิมในแต่ละท้องถิ่นได้รับรู้
      ในวันนี้มุสลิมไม่ว่าหญิงหรือชายจะต้องให้เกียรติวันสำคัญนี้ ใส่เสื้อผ้าใหม่ๆ และสวยงาม เมื่อใกล้เทศกาลบรรยากาศของตลาดต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะคึกคักเต็มไปด้วยผู้คนที่ออกมาจับจ่ายซื้อของ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเสื้อผ้า เพราะทุกคนต้องซื้อชุดใหม่ ใส่ชุดสวย อวดโฉมกันในวันฮารีรายอนี้เอง บางคนก็ใช้วิธีสั่งตัดชุดของตัวเอง บางคนสั่งตัดตั้งแต่ต้นปี ล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลที่ทำให้เศรษฐกิจสะพัด ไม่เพียงแต่เฉพาะธุรกิจเสื้อผ้า ยังมีองค์ประกอบเครื่องแต่งกายอื่นๆ ต้องดูดีจากหัวจรดเท้า ไม่ว่าจะเป็นหมวก รองเท้า รวมไปถึงเครื่องประดับอย่างทองคำ ทั้งสร้อย กำไล แหวน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ส่วนผู้ชายนิยมเครื่องประดับจากเงิน มัสยิดกลางในวันฮารีรายอจึงละลานตาไปด้วยสีสันงดงามของเสื้อผ้าอาภรณ์ และอบอวลไปด้วยแรงศรัทธาของพี่น้องชาวมุสลิมหลายพันคน
ความงามและการดำรงอยู่ของแรงศรัทธา

      เมื่อหลักศาสนานั้นเปิดกว้าง โลกยังหมุนไป วิวัฒนาการทางแฟชั่นของหนุ่มสาวชาวมุสลิมก็ไม่หยุดนิ่งเช่นเดียวกัน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นมุสลิมเกิดขึ้น และเติบโตมากมาย สื่อออนไลน์มีเน็ตไอดอลของสาววัยรุ่นมุสลิมอย่าง ไซร่า มิลเลอร์ และ มีผู้ติดตามนับแสนคนเลยทีเดียว และมีผลให้คนที่ไม่ได้เคร่งครัดทางศาสนามากนักหันกลับมาศึกษา และศรัทธาในศาสนามากขึ้น แม้แฟชั่นจะพัฒนาไปในรูปแบบไหนก็ยังคงไว้ในบทบัญญัติที่สำคัญ และสำหรับผู้คนต่างศาสนิกที่ชื่นชมการแต่งกายแบบมุสลิมนั้น ในศาสนาอิสลามก็ไม่มีข้อห้ามที่ผู้นับถือศาสนาอื่นจะแต่งกายตามแบบชาวมุสลิม แต่ต้องอยู่ภายใต้เจตนาที่บริสุทธิ์ มีจุดประสงค์เพื่อการปกปิดร่างกาย ไม่ใช่เป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคม

ความคิดเห็น