วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

ว่าวเบอร์อามัส นวัตกรรมทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของสามจังหวัดชายแดนใต้

 3 ต.ค. 2561 20:07 น.    เข้าชม 7747

      "ว่าว" งานหัตถกรรมที่อยู่คู่กับมนุษย์แทบทุกพื้นถิ่นทั่วโลก เป็นความรู้พื้นฐานด้านอากาศพลศาสตร์ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาแต่ครั้งโบราณ ตัวว่าวแต่ละชนิดของแต่ละกลุ่มชนจึงสามารถเป็นตัวแทนบอกเล่าความเป็นมาของประวัติศาสตร์แต่ละชุมชนผ่านการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นในแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ก่อนจะเป็นว่าวที่โบยบินเล่นลมบนท้องฟ้านั้น ทั้งลวดลาย และโครงสร้างของว่าวต่างได้รวบรวมศิลปะ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องเอาไว้
      ณ ชุมชนปลายด้ามขวานของไทยก็เช่นกัน มีเรื่องราวประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ความสวยงามเชิงคุณค่าเหล่านี้นับวันจะยิ่งถูกลืมเลือนไป ว่าวเบอร์อามัส คือหนึ่งในเรื่องราวอันทรงคุณค่า ผ่านปากคำของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของคนเชื้อสายมลายูสามจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยโครงสร้าง และลวดลายที่มีการอ้างอิงจากประวัติศาสตร์มลายู และลดทอนลงให้สอดคล้อง และถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม จนกลายเป็นว่าววงเดือน และว่าวเบอร์อามัส ที่ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน ซึ่งเดิมทีว่าวบูแลหรือว่าววงเดือนนั้นมีการประดิษฐ์ และทำเล่นมาในอาณาจักรปัตตานีมาร่วม 500 ปีแล้ว แต่ในภายหลังประเทศมาเลเซียได้มีการจดสิทธิบัตรมรดกทางปัญญา ปัจจุบัน ว่าวบูแลหรือว่าววงเดือนจึงเป็นลิขสิทธิ์ทางวัฒนธรรมของประเทศมาเลเซีย จะเห็นได้ว่ามีรูปว่าววงเดือนปรากฏอยู่บนธนบัตร และเครื่องบินของสายการบินประเทศมาเลเซีย
ตามหารากวัฒนธรรม

      จากความพยายามสืบค้น หาสิ่งที่จะเป็นตัวแทนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนชายแดนใต้ ของผู้ใหญ่บ้าน รัสมินทร์ นิติธรรม ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขุนละหาร ที่พยายามหาว่าวซึ่งจะมาแทนที่ว่าวบูแลหรือว่าววงเดือนที่ถูกจดลิขสิทธิ์ไปโดยประเทศมาเลเซีย โดยทำการศึกษาวิจัยเอกสารที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับว่าวชนิดต่างๆ ในโลก และเจาะลึกลงมาที่ว่าวของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ การสัมภาษณ์ผู้รู้ปราชญ์ท้องถิ่นทางด้านวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปจนถึงรัฐกลันตันในประเทศมาเลเซีย จึงได้พบว่าท้องถิ่นนี้ ในอดีตยังมี ว่าวที่ชื่อว่า ว่าวเบอร์อามัส แต่ได้สูญหายไปจากชีวิตของชาวจังหวัดชายแดนใต้มาเป็นเวลานาน จนไม่รู้จักรูปร่างหน้าตาของว่าวชนิดนี้เสียแล้ว
      ได้มีการกล่าวถึงว่าวชนิดนี้ในบทละครมะโย่งหรือเมาะโย่ง นาฏศิลป์การแสดงพื้นถิ่นชายแดนใต้ ที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปะการร่ายรำ การละคร ดนตรีนาฎศิลป์และความเชื่อในการบำบัดรักษาโรค ในบทละครมะโย่งเรื่องเดอวามูดา ซึ่งเรื่องวรรณกรรมในความเชื่อของศาสนาฮินดูพราหมณ์ซึ่งเคยรุ่งเรืองในอาณาจักรลังกาสุกะ ก่อนที่จะเปลี่ยนมารับศาสนาอิสลาม ในละครกล่าวว่า ว่าวเบอร์อามัสเป็นพาหนะของเจ้าชายเดอวามูดาในการเดินทางไปหาเจ้าหญิงลัดดามาศที่อยู่บนสรวงสวรรค์ ว่าวเบอร์อามัสจึงมีรูปร่างเหมือนกับเทวดา มีแขน มีขา
ว่าวทองของมลายูชายแดนใต้

      นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบหลักฐานจากคำบอกเล่าจากลูกหลานของช่างหลวงสายบุรี ระบุว่าในประวัติศาสตร์มลายูว่าวเบอร์อามัสเป็นว่าวที่เจ้าเมืองใช้สำหรับทำการพยากรณ์อากาศบ้านเมือง ใน 7 หัวเมืองปัตตานี ในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งก่อนที่ประชาชนจะเล่นว่าว เจ้าเมืองจะขึ้นว่าวเบอร์อามัสก่อน และจะมีการปิดทองที่หัวว่าว และว่าวนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของฤดูกาลเก็บเกี่ยวจึงเป็นที่มาของชื่อ ว่าวเบอร์อามัส ว่าวของเจ้าเมืองหรือว่าวทองแห่งมลายู ในภาคกลางก็จะมีว่าวประเภทนี้ คือว่าวที่ใช้ในการพยากรณ์อากาศเช่นเดียวกัน ได้แก่ ว่าวดุ๊ยดุ่ย เป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรมของอุษาคเนย์ เป็นตัวแทนภูมิปัญญาในการพยากรณ์อากาศโดยการดูลม และทำนายอากาศในปีต่อไปว่าฟ้าฝนจะเป็นอย่างไร ควรจะเพาะปลูกในช่วงใดจึงจะเหมาะสม

      จากการศึกษาวิจัย นำมาสู่การออกแบบทดลองประดิษฐ์ว่าวจริงขึ้นมาจากองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ โดยช่างทำว่าวท้องถิ่น ออกแบบกันหลายต่อหลายครั้งจนได้ว่าวที่ตรงกับคติความเชื่อ ในการประดิษฐ์ว่าวเบอร์อามัสนั้นจะมีความซับซ้อนกว่าว่าววงเดือน โดยจะต้องใช้ก้านไม้ไผ่ถึง 27 ก้าน แต่ว่าววงเดือนใช้เพียงแค่ 7 ก้าน จึงมีสัดส่วนและโครงสร้างต่างกันชัดเจน ซึ่งการใช้ก้านไม้ไผ่ 27 ก้านนี้มาจากข้อมูลคำบอกเล่าของลุงแวฮามิ วานิ ชาวสายบุรี ลูกหลานช่างหลวงของเจ้าเมืองสายบุรีในอดีต และสืบทอดการทำว่าวเบอร์อามัสจากบรรพบุรุษ ส่วนรูปร่างของว่าวเบอร์อามัสแต่เดิมมีลักษณะคล้ายเทพเจ้าของฮินดู ต่อมาจึงมีการปรับให้เข้ากับหลักศาสนาอิสลาม โดยมีลายดอกไม้และลดทอนรายละเอียดบางส่วน และมีการเตรียมการในการจดลิขสิทธิ์ว่าวชนิดนี้ให้เป็นสิทธิทางปัญญาของลูกหลานมลายูจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป
สืบทอดองค์ความรู้ ว่าวไทยสุดแดนใต้

      แบมิ หรือลุงแวฮามิ วานิ ให้ความรู้ว่าไม้ไผ่ที่ใช้จะต้องเป็นไม้ไผ่ตัวเมีย ตัดจากต้นที่ยอดไม่หักและมีลำใหญ่ แก่พอดีเพื่อให้ได้ไม้ที่มีคุณภาพ มาผ่า และเหลา ให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ และนำมาลนด้วยไฟให้คลายตัวอ่อนตัวลงเพื่อให้ง่ายต่อการดัด และราดด้วยน้ำเย็นอีกทีเพื่อให้อยู่ตัว เมื่อขึ้นว่าวถูกลมแรงก็ยังมีความทนทานและยืดหยุ่น กระดาษที่ใช้กรุว่าวจะวาด และฉลุลวดลายซึ่งผสมผสานระหว่างฮินดู และมุสลิม ปัจจุบัน คุณไพโรจน์ วามิ ลูกชายของแบมิ ก็ได้สืบทอดศิลปะการทำว่าวเบอร์อามัสต่อจากพ่อด้วยความภาคภูมิใจ

      ว่าวเบอร์อามัสเป็นว่าวที่มีความสวยงาม และมีกรรมวิธีการทำอันเป็นเอกลักษณ์ ทุกลวดลาย และเส้นเชือกที่ขึงไม้ไผ่แต่ละก้านไว้ มีเรื่องราวที่หลากหลายเหมือนเส้นสายชีวิตของชาวจังหวัดชายแดนใต้ ที่ต้องปรับเปลี่ยนไปในบางส่วน แต่ก็ยังคงอัตลักษณ์ทางพหุวัฒนธรรมนี้ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น การลอยลม และการต้านลมของว่าวก็เหมือนกับการใช้ชีวิตของคนเรา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และสังคม เหมือนกับว่าวที่ต้องลอยอยู่ท่ามกลางสายลมแรงได้ ว่าวเบอร์อามัส จึงเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมที่แท้จริงของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา บ่งบอกถึงความเป็นมลายูได้โดยไม่ต้องเอ่ยคำใด ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มาจากรากทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และส่งต่อสู่ลูกหลานเป็นการสืบสานศิลปะภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ ซึ่งที่ผ่านมาทางพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขุนละหารได้มีการจัดอบรมการทำว่าวเบอร์อามัสให้กับนักศึกษา และเยาวชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ก็ได้มีการจัดงานแข่งขัน และประกวดว่าวโบราณ ในงานว่าวไทยสุดแดนใต้มาเป็นปีที่ 3 แล้ว ในปี 2561 นี้ เพื่อให้ว่าวชนิดนี้ยังคงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจของลูกหลานคนมลายูสามจังหวัดชายแดนใต้อีกตราบนานเท่านาน

ความคิดเห็น