วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

รู้อยู่ รู้กิน บนผืนป่า และน้ำ ชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลนยะหริ่ง จ.ปัตตานี

 3 ต.ค. 2561 20:14 น.    เข้าชม 5223

      ป่าชายเลนอำเภอยะหริ่ง อยู่ทางทิศใต้จากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 15 ก.ม. เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลอันมหัศจรรย์แห่งหนึ่งของประเทศไทย มีพื้นที่ชุ่มน้ำกว้างขวางเกือบ 8,000 ไร่ ประกอบด้วยพืชนานาพรรณที่เขียวชอุ่มทั้งปี ทำหน้าที่เสมือนป้อมปราการปกป้องชายฝั่ง อีกทั้งเป็นบ้านหรือแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ รวมไปถึงสัตว์ปีกตามธรรมชาติ เพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิดหล่อเลี้ยงผู้คนรอบๆ ชายฝั่งมาหลายชั่วอายุคน
      พื้นที่ป่าชายเลนของอำเภอยะหริ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน อยู่ในการดูแลของ สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 39 จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ทั้งหมด 3 แปลง แปลงที่ 1 กินพื้นที่ตั้งแต่บางปูไปจนถึงตะโล๊ะกาโปร์ มีพื้นที่ประมาร 6200 กว่าไร่ แปลงที่สอง บริเวณบ้านบานา 1,200 กว่าไร่ และแปลงที่สามอยู่ที่บ้านดาโต๊ะ เนื้อที่ 375 ไร่ รวมทั้งหมดเกือบ 7,800 กว่าไร่ พรรณไม้ที่พบในป่าชายเลนมีมากกว่า 20 กว่าสายพันธุ์ ได้แก่ ฝาดดอกขาว โปรงขาว ตาตุ่มทะเล ถั่วขาว ถั่วดำ พังกาหัวสุมดอกขาว แดงน้ำ แสมขาว ลำพู ปอทะเล น้อยหนาทะเล เตยปาหนัน โกงกางใบใหญ่ และพรรณไม้เด่นได้แก่ โกงกางใบเล็ก มีความหนาแน่นประมาณ 250 ต้น / ไร่
      ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน มีอยู่หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นกุ้งหอยปูปลา หรือนกก็มีจำนวนมาก ป่าชายเลนยะหริ่งมีนกอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณด้วยสายตามีจำนวนนับหมื่น พื้นที่ที่เป็นเกาะนกซึ่งนกชอบไปทำรัง ต้นไม้บางส่วนจะยืนต้นตายเพราะมีนกเกาะมาก และมีมูลนกมากเกินไป หกโมงเช้านกจะไปหาอาหารแถวทุ่งนา หรือฝั่งทะเลโดยรอบ ช่วงค่ำห้าโมงเย็นจะกลับมารวมตัวนอนที่รังบนต้นไม้ในป่าชายเลน ถ้าเราเข้าไปในป่าชายเลนช่วงเย็นค่ำ เราจะไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยนอกจากเสียงนก ซึ่งช่วงต้นปีประมาณเดือนเมษายน - พฤษภาคมจะเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ นกจะสร้างรัง และวางไข่ หลังจากนั้นนกจะอพยพย้ายไปพื้นที่อื่นต่อไป มีทั้งนกกระยางหลายสายพันธุ์ นกเป็ดน้ำ นกกาน้ำ ฯลฯ
กลุ่มนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์ป่าชายเลนยะหริ่ง

      ชุมชนบ้านบางปู คือชุมชนหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนยะหริ่ง เป็นที่ตั้งกลุ่มบางปูสุเหร่า หนึ่งในกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนส่วนหนึ่งมาจากการช่วยกันดูแลโดยชาวชุมชนแห่งนี้ เป็นที่มาของคำขวัญ “ตำนานบางปู สืบรู้โกงกาง กระยางงามถิ่น ดินแดนอนุรักษ์”เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม พืชพรรณธรรมชาติในดินเลน และสังคมมนุษย์ที่อาศัยอยู่กับระบบนิเวศนี้มาอย่างยาวนาน
      เมื่อเดินทางโดยเรือเข้าไปตามร่องน้ำในป่าชายเลนบางปู เบื้องบนจะปกคลุมด้วยกิ่งโกงกางต้นสูงใหญ่โน้มตัวลงมาจากทั้งสองฟากฝั่ง เกิดเป็นลักษณะของอุโมงค์ต้นโกงกางอันสวยงาม และน่าทึ่ง ต้นกางกางเหล่านี้มีอายุยืนมากว่าสี่สิบปี เพราะคนในชุมชนไม่ตัดทำลาย แต่ร่วมมือกันดูแลรักษาไว้ จนเกิดเป็นอาชีพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้กับคนในชุมชน โดยจัดเป็นกลุ่มนำเที่ยวให้ผู้คนมาเยี่ยมชมเพื่อสร้างสำนึกในการอนุรักษ์ และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่มีต่อชุมชน และโลก กลุ่มนำเที่ยวในตำบลบางปู มีด้วยกัน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบางปูสุเหร่า กลุ่มไอเลิฟบางปู และกลุ่มบางปูอะเมซิ่งทัวร์

      ปลายทางของสายน้ำที่เรือนำเที่ยวล่องไปจะไปสุดที่จุดชมวิวปากอ่าวปัตตานี ชาวบ้านได้สร้างเป็นนั่งร้านไม้ไผ่กว้างขวางบนกิ่งก้านสาขาของต้นโกงกาง ชื่อว่า ลานโกงกาง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปนั่งพักผ่อน รับประทานอาหาร ชมวิวได้ ซึ่งแต่เดิมพื้นที่นี้ชาวบ้านได้สร้างเป็นแคร่เล็กๆ เพื่อให้ชาวประมงสามารถขึ้นมานั่งพักผ่อน ละหมาด กินข้าว เมื่อเกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศขึ้นจึงได้ขยายใหญ่ขึ้น
      การนำเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลนบางปู คือองค์ประกอบอันลงตัวพอดีของชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ วิถีชุมชนที่เหนียวแน่น ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการท่องเที่ยวจึงเป็นคนในชุมชน เรือที่ใช้ในการนำเที่ยวก็เป็นเรือขนาดเล็กของชาวบ้านเอง ผู้นำเที่ยวก็เป็นคนในชุมชน นอกเหนือไปจากอาชีพหาปลาตามปกติ นอกจากนี้เรื่องอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวก็เป็นของจากในชุมชน
วิถีชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน

      วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นที่ป่าชายเลนยะหริ่ง อาชีพหลักจะออกเรือประมง ส่วนหนึ่งตระเวณโดยรอบป่าชายเลนหาปูดำเป็นอาชีพ โดยใช้ไซดัก หรือขุดหาปูดำ การหาปูมาได้แต่ละครั้งต้องอาศัยความชำนาญในการสังเกตุ สัมผัส และคิดอย่างรอบคอบ เมื่อไปถึงจุดที่จะดักปูดำ ชาวประมงจะเอาเท้าจุ่มลงไปในน้ำก่อน ถ้าน้ำมีความรู้สึกร้อนจากเท้าค่อยๆ ขึ้นมาที่ขา จะเป็นช่วงเวลาที่ปูกินเหยื่อ ถ้าจุ่มเท้าลงไปแล้วรู้สึกเย็น จะเป็นช่วงเวลาที่ปูไม่กินเหยื่อ ถึงมีก็น้อยมาก ช่วงคืนเดือนมืดปูจะแข็ง เมื่อถึงแรม 8 ค่ำ ปูจะเริ่มนิ่ม หลังจากแรม 15 ค่ำ กระดองปูก็จะกลับมาแข็งต่อ ความรู้เหล่านี้มีผลต่อการจับ และกินปู เพราะกระดองปูที่นิ่มจะกินได้ทั้งตัว ทั้งกระดอง และเนื้อปู ปูดำจะลอกครั้งเดือนละ 2 ครั้ง หลังจากลอกคราบน้ำหนักปูจะขึ้นมาร่วมเท่าตัว จาก 150 กรัม ลอกคราบแล้วจะหนัก 250 กรัม หรือจาก 350 กรัมเมื่อลอกคราบอีกครั้งก็จะโตขึ้นเป็น 700-800 กรัมเลยทีเดียว
      ชาวประมงที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถหาปูโดยไม่ต้องใช้ไซดัก แต่ใช้วิธีขุด โดยก่อนขุดจะดูรอยเท้าของปูรอบๆ ปากรูปู รอยเท้าใหญ่ก็จะได้ปูตัวใหญ่ ถ้ารูไม่ลึกจะใช้เหล็กขอดึงตัวปูออกมา แต่ถ้ารูอยู่ลึกก็ต้องขุดดินออกมาก่อน โดยต้องขุดอย่างระมัดระวังไม่ให้รูปูเสียหาย และสามารถกลับมาหาปูตัวใหม่ในรูเดิมภายหลัง ไม่ต้องเหนื่อยมากในการหารูใหม่ ถ้าหาปูได้ 20 ตัวต่อวันก็ได้รายได้นับพันบาท แต่ก็มีความเสี่ยงว่าในรูอาจจะมีงูก็เป็นได้ และอาจจะถูกปูหนีบจนเล็บแตกได้ แต่ชาวบ้านก็ยังใช้วิถีขุดหา เพราะมักได้ปูที่ตัวใหญ่ เลือกขนาดปูได้โดยดูขนาดรอยเท้า ถ้าปูตัวเล็กจะไม่ขุด และชาวบ้านได้จัดสรรพื้นที่ในป่าชายเลนประมาณ 2 ไร่ สร้างเป็นบ่อเลี้ยงปูแบบประตูเปิด ปูที่ชาวบ้านจับได้ก็จะมาขายให้กลุ่ม ถ้ามีปูตัวเมียที่ไข่จะรับซื้อ และไปเลี้ยงต่อในบ่อให้เจริญเติบโตในธรรมชาติ ให้ลูกๆ ปูได้กลับสู่ธรรมชาติทางปากบ่อเปิดต่อไป
      รู้อยู่ รู้กิน บนผืนดิน ป่า และน้ำ คือแนวทางการอยู่ร่วม ใช้ และดูแลทรัพยากรป่าชายเลนของชุมชนบางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่คนในชุมชนร่วมออกแบบการท่องเที่ยวชุมชน การหาอยู่หากินที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ นั่นทำให้ที่นี่เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งของคนใน และนอกชุมชนอย่างยั่งยืนตลอดไป

ความคิดเห็น