วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ.2567

ฟื้นชีวิตผ้า พัฒนาชีวิต ผ้าปาละงิง

 14 มี.ค. 2562 20:46 น.    เข้าชม 3135

      ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมประเพณี และ ศาสนา สิ่งหนึ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์เหล่านี้ได้ชัดเจนที่สุดได้แก่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ด้วยเวลาที่หมุนผ่าน รูปแบบการแต่งกายก็เปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งการสูญหายไปของงานหัตถกรรมผืนผ้าอันทรงคุณค่า ผ้าปาละงิง ผ้าทอมือโบราณชายแดนใต้       ผ้าปาละงิง มีความเป็นมายาวนานกว่าร้อยปี พบในอินเดีย (ปันตานี) มาเลเซีย อินโดนีเซีย (เปลางี) และไทย ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยครั้งแรกว่ามีการพบเห็นผ้าชนิดนี้ในขบวนรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลปัตตานี ในปี พ.ศ.2472 ชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในสมัยนั้นแต่งกายด้วยผ้าปาละงิง ใช้เป็นผ้านุ่ง ผ้า โพกศีรษะ หรือผู้ชายบางคนก็ใช้คาดเอวแล้วเหน็บด้วยกริชหัวนก ผู้หญิงมุสลิมนิยมใช้เป็นผ้าคลุมศีรษะ ตัดเย็บเป็นเสื้อหรือผ้านุ่ง ด้วยเอกลักษณ์ลวดลายที่อยู่บนผืนผ้าปาละงิง ไม่เพียงแสดงถึงความงดงามที่เป็นเอกลักษณ์ ยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของชุมชน และศาสนา ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของจังหวัดชายแดนใต้

      ในผ้าปาละงิงหนึ่งผืนนั้นผสมผสานไปด้วยหลากหลายเทคนิควิธี เริ่มจากการทอผ้าไหมด้วยเส้นไหมที่มาจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในท้องถิ่น ทอขึ้นด้วยกี่พื้นบ้านด้วยลวดลายยกดอก อันเป็นลายที่ถอดแบบมาจากลายแม่พิมพ์ไม้ นำมามัดย้อม พิมพ์ลายด้วยบล็อกไม้ เขียนลายด้วย และเขียนสี เอกลักษณ์สำคัญของผ้าปาละงิง คือการพิมพ์ลายด้วย บล็อกไม้ แกะสลักลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ซึ่งมาจากสถาปัตยกรรมในท้องถิ่น เช่น ช่องหน้าต่าง ช่องลมในบ้านเรือน วังเก่า มัสยิด ลายประตู ลูกกรง หรือลายแป้นพิมพ์เก่าที่ยังพอหลงเหลืออยู่ นำมาพิมพ์ลงบนตัวผ้าตามจินตนาการของช่าง ใช้เฉดสีที่หลากหลายให้ความโดดเด่น

วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทำให้ผ้าปาละงิงค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมๆ กับ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากเยาวชนคนรุ่นใหม่ และรุ่นต่อๆ ไป จะไม่มีโอกาสได้รู้จัก และเรียนรู้เรื่องราวภูมิปัญญาผ้าปาละงิง นับเป็นความโชคดีอย่างมากที่มีผู้ที่สนใจสืบสาน และฟื้นฟูผ้าปาละงิงขึ้นมาหลังจากสูญหายไปจากพื้นถิ่นชายแดนใต้ถึง 70 กว่าปีมาแล้ว

ครูช่างผู้ฟื้นชีวิต ผ้าปะลางิง

      ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ผ้าปาละงิง ถูกฟื้นชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้มีส่วนรื้อฟื้นให้กลับมาอยู่ในวิถีของคนชายแดนใต้ จนเป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมอีกครั้ง เป็นผ้าที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัดยะลา นั่นก็คือ ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างศิลปะหัตถกรรม ปี พ.ศ. 2560 ประเภทเครื่องทอ (ผ้าปาละงิง) ครูปิยะ เป็นคนจังหวัดยะลา มีความชื่นชอบศิลปะงานไม้ และงานผ้ามาแต่เดิม ครู เป็นนักออกแบบงานไม้ เมื่อกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดยะลาก็อยากทำงานด้านวัฒนธรรม เคยมีโอกาสได้พบเห็นงานผ้าโบราณ แต่ไม่รู้ว่าผ้านั้นเรียกชื่อว่าอะไร ด้วยความสนใจในลวดลายที่ปรากฏอยู่บนผืนผ้า ซึ่งมีลักษณะคล้ายลายจากช่องหน้าต่าง ช่องลม ลายตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ ที่เคยพบเห็น จึงตั้งใจที่จะศึกษาความเป็นมาของงานผ้าในท้องถิ่นบ้านเกิด ครูจึงเดินทางมาที่หอสมุดแห่งชาติเพื่อหาหนังสือ ตำราเกี่ยวกับผ้าโบราณ และพบข้อมูลจากหนังสือ ฝ้ายแกมไหม ของกรมศิลปากร ซึ่งทำการศึกษางานผ้าท้องถิ่น เมื่อเริ่มรู้เรื่องราวแล้ว ก็ได้ศึกษาจากครูหลายๆ ท่าน รวมทั้งศึกษาจากผ้าโบราณ สืบค้นเทคนิควิธีการทำ และเริ่มลงมือทำมาอย่างต่อเนื่องจนวันนี้ร่วมสิบปี ประยุกต์ สร้างชีวิตใหม่ให้ผืนผ้า

      เมื่อครูปิยะ ศึกษา ทดลอง และฟื้นฟูผ้าปาละงิงขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จ ครูได้ใช้ทักษะความเป็นนักออกแบบมาออกแบบบล็อกไม้ จากรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิต และศิลปะในท้องถิ่น ปัจจุบันมีลวดลายมากถึง 200 ลาย บางลายก็เป็นลวดลายที่นำมาจากผ้าจวนตานีโบราณ มีการนำเทคนิคสีคู่ตัดมาใช้เพื่อสร้างความโดดเด่น และยังนำศิลปะการเขียนผ้าบาติกมาประยุกต์เขียนลวดลายลงบนผืนผ้าปาละงิงเพื่อสื่อให้เห็นเอกลักษณ์ของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ผ้าปาละงิงมีความน่าสนใจ และมีความร่วมสมัยมากขึ้น ผ้าแต่ละผืนที่มีลายทอแบบเดียวกับลายบนบล็อคไม้ เมื่อผ่านการมัดย้อม และพิมพ์ลายแล้ว ยังมีการเขียนลายบาติกด้วยมือ โดยการเขียนสด ไม่มีการร่างโครงไว้ก่อน แล้วลงสีไล่เฉด ผ้าแต่ละผืนจึงไม่เหมือนกัน และมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

      ปัจจุบัน ผ้าปาละงิงที่เคยสูญหายไปกว่า 70 ปีเป็นที่รู้จักนิยมอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ในจังหวัดยะลา และพื้นที่ชายแดนใต้เท่านั้น ความรู้ในการทำงานผ้าปาละงิงยังได้รับการถ่ายทอดไปสู่ชุมชน สร้างอาชีพ และยังสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ้าปาละงิงจึงฟื้นคืนชีวิต และเป็นศิลปวัฒนธรรมที่จะอยู่คู่กับจังหวัดยะลา และพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้สืบไป       ผู้สนใจงานผ้าปาละงิง สามารถเข้าไปชมผลงานและสั่งซื้อได้ที่ กลุ่มศรียะลาบาติก Facebook: SriYala Batik

ความคิดเห็น