วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

รองเง็ง มรดกวัฒนธรรม ไทย-มลายู

 14 มี.ค. 2562 21:30 น.    เข้าชม 7548

      ศิลปะการแสดงพื้นบ้านในกลุ่มชาติพันธุ์มลายู ที่นิยมแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ตลอดจนในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นวัฒนธรรมร่วมทางด้านการแสดงพื้นบ้านในภาคพื้นคาบสมุทรมลายู มีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ รองเง็ง ศิลปะการแสดงที่สื่อถึงการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากการเต้นรำพื้นเมืองของชาวสเปน โปรตุเกส ที่นำมาแสดงในแหลมมลายู เมื่อคราวได้เข้ามาติดต่อการค้า จากนั้นชาวมลายูได้นำมาดัดแปลง และเรียกการเต้นรำแบบนี้ว่า “ร็องเง็ง”       ในอดีตรองเง็งจึงเป็นสื่อพื้นบ้าน เพื่อให้กลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ได้ร่วมปฏิสัมพันธ์ จึงสะท้อนสู่รูปแบบการแสดงที่มีกลิ่นอายของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เช่น เครื่องดนตรี ท่วงทำนองเพลง การแต่งกาย ท่วงท่าการแสดง และวรรณกรรม ซึ่งในอดีตการละเล่นรองเง็ง มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ นักดนตรี นักแสดง และผู้ขับกลอน หรือ บทปันตุน (Puntun) ซึ่งเป็นบทกวีมลายูโบราณที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิต ธรรมชาติ และความรัก เป็นบทกลอนที่หนุ่มสาวใช้ร้องโต้ตอบกัน พร้อมการบรรเลงดนตรี และการเต้นรองเง็ง ซึ่งผู้ชมสามารถที่จะเข้ามาร่วมร้อง ร่วมเต้น หรือร่วมร่ายรำด้วยได้ ซึ่งสมัยเริ่มแรกใช้เครื่องดนตรีเพียง 2 ชิ้น คือ ฆ้อง และรำมะนา ร้องเล่นเต้นรำกันในหมู่ชาวบ้าน ต่อมาเมื่อฝรั่ง จีน อาหรับเดินเรือเข้ามาค้าขายแถบแหลมมลายูได้นำเครื่องดนตรีเข้ามาผสม เมื่อร่วมบรรเลงก็เกิดเป็นสำเนียงดนตรีที่ผสมผสานตะวันตกกับตะวันออก       ผู้เต้นรองเง็งจะแต่งกายแบบพื้นเมือง โดยผู้ชายสวมหมวกหนีบไม่มีปีก เรียกว่า ซาเก๊าะลีป๊ะ สวมเสื้อคอกลมแขนยาวผ่าครึ่งอกสีเดียวกับกางเกง เรียกว่า ตือโล๊ะบลางอ นุ่งกางเกงเรียกว่า ซาลูวากากีปันยัง ใช้โสร่งแคบๆ ยาวเหนือเข่าสวมทับกางเกง เรียก ผ้าสลีแน สำหรับผู้หญิงใส่เสื้อเข้ารูปแขนกระบอก เรียกเสื้อ บานง ลักษณะเสื้อจะเป็นแบบเข้ารูปปิดสะโพก ผ่าอก และติดกระดุมเป็นระยะ สีเสื้อนิยมสีโทนเดียวกับเสื้อฝ่ายชาย และเป็นสีเดียวกับ ผ้าซาเลนดัง สวมผ้านุ่งลายพื้นเมืองสวยงาม นอกจากนั้นยังมีเครื่องประดับศีรษะเรียกว่า ปิ่นซัมเป็ง หรือปิ่นดอกไม้ไหว และดอกไม้ทัดผม รองเง็งตามบริบทของพื้นที่

การแสดงรองเง็งในแต่ละพื้นที่มีรูปแบบการแสดงที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบท ค่านิยมและสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งสามารถสรุปรูปแบบการแสดงออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. รองเง็งราชสำนัก นิยมแสดงกันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นการบรรเลงดนตรีประกอบการแสดง เน้นความประณีตของท่าทางการร่ายรำ ไม่มีการขับร้อง แต่จะมีความหลากหลายเรื่องเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง 2. รองเง็งชาวเล นิยมแสดงกันในกลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะพื้นที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต เป็นการแสดงที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการแสดงแบบดั้งเดิม คือ มีการร้องโดยใช้บทปันตุนภาษามลายู การเต้นรำ และการบรรเลงดนตรี 3. รองเง็งตันหยง นิยมแสดงกันในกลุ่มชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เป็นการแสดงที่คลี่คลายมาจากรองเง็งชาวเล แต่มีการปรับเปลี่ยนเรื่องภาษาที่ใช้ในการขับร้อง จากภาษามลายูเป็นภาษาถิ่นใต้ จากยุครุ่งเรืองสู่ยุคฟื้นฟู

      ยุครุ่งเรืองของ รองเง็ง คือสมัยที่เมืองปัตตานีมีการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ประมาณปี พ.ศ.2439-2449 พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดี เจ้าเมืองยะหริ่ง ประสงค์ให้ข้าราชบริพารที่เป็นหญิงสาวฝึกเต้นรองเง็ง เพื่อใช้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง หรือเทศกาลงานรื่นเริงต่างๆ จากนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ.2484-2488 นับเป็นจุดที่ทำให้เจ้าเมืองเสื่อมอำนาจส่งผลให้การแสดงรองเง็งเสื่อมความนิยมลงไปด้วย       ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2490 ขุนจารุวิเศษศึกษากร หรือนายเจ๊ะมุ จารุวิเศษ ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานีในขณะนั้น ท่านมีแนวคิดในการสืบสานด้วยเกรงว่า รองเง็ง อาจสูญหายไปจากเมืองปัตตานี จึงรื้อฟื้นการแสดงรองเง็งขึ้นใหม่โดยมีเค้าโครงจากของเดิม พร้อมทั้งนำท่านาฏศิลป์ไทยมาประยุกต์ โดยกำหนดให้เป็นท่าเต้นมาตรฐานประมาณ 10 เพลง ได้แก่ เพลงลาฆูดูวอ เลนัง ปูโจ๊ะปีซัง มะอีนังลามา มะอีนังชวา อาเนาะดิดิ๊ จินตาชายัง โดนนังชายัง มาสแมเราะห์ และบุหงารำไป เพื่อใช้เป็นแบบแผนในการถ่ายทอดที่ฝึกหัดได้ง่าย และสามารถนำไปถ่ายทอดแก่บุคคลอื่นที่สนใจได้ เครื่องดนตรีที่ใช้ในยุคนี้ จะมีไวโอลิน แมนโดลิน รำมะนา ฆ้องและมาราคัส แต่ไม่ปรากฎมีการร้องปันตุนโต้ตอบกัน เพราะขาดช่วงในการสืบสาน และผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบในการร้อง และด้นกลอนสดนั้นหาได้ยาก บทบาททางวัฒนธรรมยุคใหม่

      โอกาสในการแสดงรองเง็งนั้น ในอดีตโดยเฉพาะในราชสำนักจะใช้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง หรือสำหรับแสดงในงานมงคล งานแต่งงาน และงานรื่นเริง เป็นต้น และในระดับชาวบ้านนั้น รองเง็งคือการละเล่นพื้นบ้านที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้นคณะมะโย่งได้นำรองเง็งมาใช้เป็นการแสดงเพื่อสร้างความบันเทิง และความสนุกสนาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคณะอีกด้วย       ในเวลาต่อมา รองเง็ง จึงกลับมาเป็นที่นิยมกันในหมู่ข้าราชการ พ่อค้า และคหบดี ทั้งกลุ่มชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิมในเมืองปัตตานี และในยุคนี้มีการนำแอคคอร์เดียน หรือหีบเพลงชัก มาร่วมบรรเลงในวงดนตรีรองเง็งเพิ่มความไพเราะ และสร้างความสนุกสนานให้กับนักแสดงมากยิ่งขึ้น จึงถือได้ว่าการแสดงรองเง็งไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในกลุ่มชาวไทยมุสลิมอีกต่อไป หากยังปรากฎในกลุ่มชาวไทยพุทธ และกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และต่างมีบทบาทร่วมในการสืบสาน และอนุรักษ์การแสดงรองเง็งนี้ด้วย       ในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โอกาสการแสดงรองเง็งได้มีการปรับเปลี่ยนจากการละเล่นมาเป็นการแสดงพื้นบ้านที่สอดรับ และสนับสนุนกับนโยบายของภาครัฐทั้งในการอนุรักษ์ และส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ให้มีการจัดแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง และหน้าพระพักตร์เมื่อคราวเสด็จทรงงานในพื้นที่ภาคใต้ด้วย       ปัจจุบันการแสดงรองเง็งปัตตานี ได้รับการสืบสานต่อเนื่องทั้งในกลุ่มศิลปินพื้นบ้าน และสถานศึกษา ทั้งประเภทรองเง็งแบบดั้งเดิม และระบำพื้นบ้าน โดยคณะบุหลันปัตตานีศิลปินซึ่งเป็นศิษย์รุ่นหลานของขุนจารุวิเศษศึกษากร ทั้งที่เป็นข้าราชการครู กลุ่มคนทั่วไป และกลุ่มศิลปินนักดนตรีรองเง็ง วงอัสลีมาลา ซึ่งเป็นศิษย์ของอาจารย์ขาเดร์ แวเด็ง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ. 2536 (ดนตรีพื้นบ้านรองเง็ง) ผู้ก่อตั้งคณะรองเง็งพื้นบ้านอีมาราอัสลี ต่างมีบทบาทในการร่วมอนุรักษ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่มาถึง 300 ปี วัฒนธรรมที่สื่อถึงความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ให้คงอยู่ในผืนแผ่นดินภาคใต้ ให้เข้าใจถึงวิถีของมลายูมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปรารถนาให้ชุมชนหันหน้าเข้าหากัน และอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

ความคิดเห็น