วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

บานอ เสียงปลุกชีวิตที่ยังคงดังก้อง ณ ชายแดนใต้

 14 มี.ค. 2562 22:07 น.    เข้าชม 4399

      กลองบานอ เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มีประวัติความเป็นมากว่าร้อยปี ในอดีตกลองบานออยู่คู่การดำเนินชีวิตของชาวมุสลิม ท่ามกลางความเป็นอยู่ที่แสดงถึงความรักสามัคคีในชุมชน โดยใช้ตีส่งสัญญาณให้ชาวบ้านในชุมชน และละแวกใกล้เคียงได้รับรู้ถึงงานเทศกาลต่างๆ เช่นพิธีแต่งงาน พิธีเข้าสุหนัดและพิธีมงคลอื่นๆ การต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองสำคัญๆ แต่ไม่นิยมเล่นในงานศพ เสียงกลองบานอ จึงเป็นเสียงที่ปลุกชีวิตผู้คนให้ได้รู้สึกมีความสุข ได้รับข่าวดี เกิดการรวมตัวกันเพื่อแสดงความยินดีพร้อมหน้า       คำว่า “บานอ" มาจากภาษามาเลเซีย "รือบานอ" เป็นกลองขนาดใหญ่ที่พัฒนามาจาก กลองเดาะดุ๊ ซึ่งเป็นของชาวนครเมกาในสมัยโบราณ ได้รับอิทธิพลมาจากรัฐกลันตัน เดิมทีเด็กเลี้ยงวัวใช้ในการตีเพื่อนำวัวกลับบ้าน หรือนัดหมาย เรียกมารวมตัวกันที่หนึ่งที่ใด ปัจจุบันได้วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนเล่นเป็นรูปแบบ และมีกติกาใช้ในการละเล่นประชันเสียงเพื่อการแข่งขัน ในประเทศไทย บริเวณพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ บานอ เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งที่นิยมกันมากแถบอำเภอสุไหงโกลก อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี จัหวัดนราธิวาส       ตามตำนานเล่าขานปากต่อปากว่า การเล่นกลองบานอมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2444 ชาวมลายูมีการริเริ่มประชันเสียงบานอภายในหมู่บ้าน โดยแต่ละฝ่ายกำหนดใช้บานอ 3 ลูกเท่านัน โดยใช้คนตีลูกละ 2 คน ต่อมาจนจนถึง พ.ศ 2476 มีการเปลี่ยนแปลงวิธีตีกลองบานอ จาก 3 ลูก กลายเป็น 7 ลูก ซึ่งสาเหตุมาจากมีกลุ่มโจรออกมาลักเล็กขโมยน้อย จึงท้าให้แต่ละบ้านมีการทำบานอ ใช้ตีให้เกิดเสียงเพื่อขอความช่วยเหลือกัน ต่อมาภายหลังจากที่กลุ่มโจรเงียบหายไป ก็เกิดกิจกรรมการนำบานอมาตีประชันเสียงกันเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และยังถือได้ว่าเป็นการสร้างมิตรภาพต่อกันอีกด้วย ภูมิปัญญาพื้นถิ่นในการทำกลองบานอ

      ปัจจุบันการทำกลองบานอ เหลืออยู่เพียงแห่งเดียว คือ ที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส โดยมีปราชญ์ชาวบ้านผู้เปี่ยมไปด้วยทักษะเชิงช่างในการสร้างกลองบานอ อย่าง นายสุดิน ดอเลาะ และสมาชิกในชุมชนยังคงเห็นความสำคัญในการสืบสานองค์ความรู้ในการสร้างกลองชนิดนี้ให้คงอยู่กับอำเภอแว้งสืบมาจนถึงทุกวันนี้ จนกลองบานอกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของอำเภอแว้ง

      นายสุดิน ดอเลาะ เรียนรู้การทำกลองบานอจากบรรพบุรุษ และลงมือทำกลองบานอตั้งแต่อายุ 15 ปี คลุกคลีกับการทำกลอง ซึ่งเป็นสิ่งผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้ประกอบอาชีพในการทำกลองไม่ได้เป็นอาชีพหลัก แต่ไม่เคยทิ้งการทำกลองบานอด้วยเพราะมีใจรัก เติบโตมากับวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกัน ใช้สัญญาณกลองเป็นสื่อกลาง ที่เห็นพ่อ และแม่ทำอยู่ทุกวัน เสียงกลองที่คุ้นหู ทำให้ซึมซับท่วงทำนองอันกังวาน และไพเราะอย่างไม่รู้ตัว จนเติบโตมาพร้อมกับทักษะฝีมือการทำกลอง ที่หาใครทำได้เทียบเท่ายากยิ่ง       การทำกลองบานอเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ต้องใช้กระบวนการทำมือทุกขั้นตอน นิยมทำจากไม้หลุมพอ ต้นไม้ที่อยู่บนภูเขาแถบจังหวัดนราธิวาส หน้ากลองขึงด้วยหนังควายฟอก กำจัดเอาขนออกหมดแล้ว ขึงรัดให้ตึงด้วยหวาย หน้ากลองมีขนาดหน้ากว้าง 30 นิ้ว มีรูปทรงเรียวไปทางด้านหลัง มีลิ่มไม้ลักษณะเป็นซี่ๆ ประมาณ 12-17 ซี่ เสียบด้านหลังของตัวกลอง ซึ่งเป็นเสมือนไม้ที่ใช้ปรับแต่งโทนเสียงของกลองด้วย มีการตกแต่งสีสันของกลองให้มีความสวยงามตามแบบฉบับศิลปะมลายูท้องถิ่น       เสียงกลองบานอจะดังกังวานไปได้ไกล ในปัจจุบันการตีกลองบานอ 1 ใบ จะใช้ผู้ตีสองคน และจะมีกลองที่ตีพร้อมๆ กันทั้งหมด 7 ใบ เสียงกลอง 7 ใบ ให้โทนเสียงเสมอกัน เมื่อตีพร้อมกันให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน ความยาก และหัวใจของการทำกลองบานอจึงอยู่ที่การทำให้กลองทั้ง 7 ใบ มีโทนเสียงเสมอกันนั่นเอง จึงถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลองบานอ และด้วยประสบการณ์ที่อยู่กับการทำกลองบานอมาตั้งแต่เด็ก ทำให้นายสุดินมีความชำนาญเป็นพิเศษในการฟังเสียงกลองที่ดังกังวานพอเหมาะพอดีได้เหมือนๆ กันในกลองทุกใบ และเมื่อนำกลองทั้ง 7 ใบ มาตีพร้อมกัน เสียงสนั่นลั่นกลองเป็นท่วงทำนองเดียวกันของกลองบานอ จะชวนให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังมีจิตใจฮึกเหิม และเกิดสุนทรียภาพ ตามแบบฉบับของกลองบานอ แห่งอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน ประเภทเครื่องไม้ ปีพุทธศักราช 2560

      ในวันนี้ นายสุดิน ดอเลาะ แม้ในวัย 77 ปี ที่สุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงนัก หากแต่เมื่อได้ยินเสียงกลองบานอเมื่อใด ก็มีใจที่บันดาลแรงให้ลุกขึ้นมาควบคุม และลงมือสร้าง และถ่ายทอดทักษะงานช่างการทำกลองบานอให้คนในชุมชน เพื่อให้เสียงกลองบานอเป็นเสียงแห่งการปลุกพลังความสามัคคีของคนในชุมชน ความภูมิใจของนายสุดินในทุกวันนี้คือการที่ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ในการถ่ายทอดภูมิปัญญาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษให้คงอยู่จนถึงปัจจุบัน เป็นความรู้สึกที่สัมผัสได้ด้วยใจทุกครั้งที่เสียงกลองบรรเลง นำมาซึ่งความปีติยินดีไม่เคยรู้สึกเหนื่อย และมีความสุขมากทุกครั้งที่ได้ยินเสียงกลองบานอ จนนายสุดิน ดอเลาะ ได้รับการยกย่องจาก ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ  เป็น 1 ใน 9 ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน ประเภทเครื่องไม้ (กลองบานอ) ในปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเชิดชูสุดยอดบุคคลระดับบรมครู ผู้มีทักษะฝีมือเชิงช่าง อนุรักษ์และสืบสาน รักษาคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมในงานศิลปหัตถกรรมหลายสาขา จากทั่วประเทศ “การสร้างบานอถือว่าได้เป็นการสืบทอดรักษาภูมิปัญญา มรดกทางวัฒนธรรมพื้นถิ่นของเราให้ยังคงอยู่ การได้อยู่กับเสียงกลองบานอมีความสุขมาก ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงกลองเหมือนเสียงพรของพระเจ้าทำให้พวกเราไม่ลืมวัฒนธรรมของเรา ขอเพียงแค่มีคนสนใจมาทำกลองบานอ มาตีกลองบานอ พร้อมที่จะถ่ายทอด และสานต่อ เท่าที่ยังมีแรง และมีลมหายใจ ขอให้ยังได้ยินเสียงกลองบานอดังกังวาน เพื่อให้วัฒนธรรมคงอยู่กับเราต่อไป”

ความคิดเห็น