วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

นกเขาชวาเสียง ทูตวัฒนธรรมสู่สันติภาพ

 14 มี.ค. 2562 22:16 น.    เข้าชม 6245

      นกเขาชวา เป็นนกที่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นิยมเลี้ยงกันเป็นอย่างมาก ประเพณีการเลี้ยงนกเขาไว้ประดับบ้านถือเป็นมงคล   โดยเลือกนกเขาที่เข้าลักษณะตามตำรา และนกที่มีเสียงดีตามลักษณะนิยม ไปทางไหนจะพบเสาสูงปักหน้าบ้านเพื่อชักรอกให้นกขึ้นไปผึ่งแสงแดดตอนเช้า และพ่นน้ำเสมอ มีการจัดงานแข่งขันฟังเสียงทั้งระดับประเทศ และนานาชาติเป็นประจำเกือบทุกปีที่จังหวัดยะลา แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และใน อ.เมือง จังหวัด ยะลา จะมีการแข่งนกเขาชวาเสียง ซึ่งจัดขึ้นโดยเทศบาลเมืองยะลา จังหวัดยะลา ซึ่งการแข่งขันนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นของคนในพื้นที่       เหตุที่ชื่อนกเขาชวากล่าวกันว่าในสมัยหนึ่งชาวชวาให้ความสำคัญแก่นกเขาชวามาก    เพราะถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์    สามารถบันดาลให้ลาภยศ และโชคลาภ   จึงพากันจับนกเขาชนิดนี้มาเลี้ยงกันทั่วหน้า และนี่เองเป็นสาเหตุให้นกเขาเล็กชนิดนี้เรียกกันว่า   นกเขาชวา ในอดีตจะนิยมเลี้ยง และเล่นกันในราชสำนัก ข้าราชบริพาร ขุนนาง คหบดี และประชาชนที่สูงอายุ มักจัดงานแข่งขันในงานนักขัตฤกษ์ และงานชมรมสมาคมเกี่ยวกับนกเขาชวา ไม่มีหลักฐานปรากฏยืนยันได้ว่าการจัดการแข่งขันนกเขาชวาเสียงเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้เลี้ยงนกเขาว่า การแข่งขันนกเขาชวาเสียงที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่สนใจของผู้นิยมเลี้ยงนกมากที่สุด คือ การแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี ณ สนามโรงพิธีช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ประเพณีการแข่งขันนกเขาชวาเสียง

      จากความร่วมมือในการริเริ่มของ เทศบาลเมืองยะลา ร่วมกับจังหวัดยะลา ชมรมผู้เลี้ยงนกเขาชวาเสียงจังหวัดยะลา และชมรมผู้เลี้ยงนกเขาชวาเสียงภาคใต้ โดยการสนับสนุนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันพัฒนาสนามแข่งขัน และกติกาการแข่งขันให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น ตลอดจนความคิดที่จะพัฒนาเสริมสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่นในด้านเศรษฐกิจจึงได้กำหนดให้มีการแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงชนะเลิศในระดับอาเซียน ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2529 ณ สนามโรงพิธีช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยการใช้ชื่อในการจัดการแข่งขันว่า "การจัดงานแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงแชมป์กลุ่มประเทศอาเซียนครั้งที่ 1" สาเหตุที่ใช้คำว่า "อาเซียน" เพราะมีประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้าร่วมแข่งขันด้วย คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน ซึ่งประเทศดังกล่าวนี้มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับประชาชนในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของไทย ได้มีการแลกเปลี่ยน สนับสนุนเกื้อกูลกันในเรื่องต่าง ๆ มาตลอด ที่สำคัญคือ มีความชื่นชอบ และนิยมเลี้ยงนกเขาชวาเสียงเหมือนกัน จึงเกิดเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม คือ สังคมนกเขาชวาเสียงตลอดมา สนามท้องถิ่น เชื่อมความสัมพันธ์บนความหลากหลาย

      ในปัจจุบัน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลาบางส่วน ซึ่งประชาชนนิยมเลี้ยง และเล่นนกเขาชวามาอย่างช้านาน เป็นวิถีชีวิต และเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น ตามหมู่บ้านตำบลต่าง ๆ จะจัดให้มีการแข่งขันในกลุ่มเล็ก ๆ เฉพาะผู้ที่สนใจ และในพื้นที่เทศบาลเมืองจังหวัดยะลา จะมีกิจกรรมการแข่งขันนกเขาชวาเสียง ซึ่งจัดขึ้นโดยเทศบาลเมืองยะลาเป็นประจำทุกสัปดาห์ เป็นกิจกรรมที่ประชาชนในอำเภอเมือง จ.ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้าร่วมการแข่งขัน ที่ต้องการให้ประชาชนได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้พบปะพูดคุยกัน โดยมีนกเขาชวาเป็นทูตสันถวไมตรี สร้างความสัมพันธ์ให้กับประชาชนในรูปแบบสังคมพหุวัฒนธรรม และสืบต่อประเพณีท้องถิ่นของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากเอานกขึ้นเสา เจ้าของนกก็จะมานั่งคุยกัน ดื่มน้ำชาร่วมกัน ได้พบปะพูดคุย ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนที่อยู่ไกลๆ นานๆ จะได้มาเจอกัน โดยมีประเพณีการแข่งขันนกเขาชวาเสียง เป็นสื่อกลางในการสร้างสันติสุขในพื้นที่นั่นเอง กติกาในการประกวดก็เน้นย้ำการสร้างความเคารพซึ่งกันและกัน ผู้ที่มาเข้าร่วมการแข่งขันจะไม่มีการถือยศถาบรรดาศักดิ์ ทุกคนเท่าเทียมและเคารพในกติกาการแข่งขัน

      ในการจัดกิจกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงนอกจากจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้กับคนในพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการถ่ายทอดประเพณีโบราณที่มาอย่างยาวนานให้ประชาชนได้เรียนรู้ก่อนที่จะเลือนหายไป รวมถึงคนภายนอกก็จะได้รับรู้ และรู้จักประเพณีนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในการแข่งขันก็มีคนภายนอกจากต่างพื้นที่มาเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมากทีเดียว ขนาดสนามแม้จะเป็นขนาดเล็ก แต่คนที่มาเข้าร่วมการแข่งขันไม่ได้มีแค่คนในพื้นที่จังหวัดยะลาเท่านั้น แต่มาจากพื้นที่อื่นๆ มากกว่า 5 ถึง 6 จังหวัด อีกทั้งเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างพื้นที่ทั้งเพื่อนบ้านจังหวัดใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน คุณค่าที่มากกว่าความงามและความไพเราะ       นอกจากรายได้จากการท่องเที่ยวที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับแล้ว ผลดีที่เกิดโดยตรงจากกิจกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียง คือรายได้ที่เกิดจากการทำกรงนกสวยงาม และเพาะพันธุ์นกเขาชวาเสียง การเพาะเลี้ยงนกเขาชวา ผู้เพาะเลี้ยงจะคัดเลือกพ่อพันธุ์ดีมาผสมเพื่อให้ได้ตรงตามลักษณะ และเสียงของนกที่ขันดี  การประกวดประชันเสียงนกขันจะนำนกเขาตัวผู้มาประกวดเสียงขันกัน เสียงนกเขาชวามี ๓ เสียง คือ เสียงใหญ่ เสียงกลาง และเสียงเล็ก นกที่ขันเสียงมีปลายหรือมีกังวานถือเป็นนกที่ดี การแข่งขันนกเขาชวาจะจัดทั้ง ๓ ประเภทเสียง และการพิจารณายังต้องดูคารมลีลาจังหวะการขัน เช่น ช้า เร็ว อีกด้วย  นกเขาที่ประกวดได้รางวัลสร้างชื่อเสียงให้กับพื้นที่ ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งนกเขาเสียงดี   มีราคาซื้อขายกันเป็นจำนวนเงินหมื่นเงินแสนบาท ผู้ที่มีนกเขาดีชนะการประกวดราคานกก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่การแข่งขันก็ใช่ว่าจะมีเพียงเพื่อหวังเงินรางวัล ยังมีการจัดแข่งขันเพื่อนำเงินรางวัลไปทำประโยชน์เพื่อสังคมอีกด้วย

ความคิดเห็น