วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

ต้นแบบระดับสี่ดาว ศูนย์ตาดีกาประจำมัสยิดบ้านบือแน

 14 มี.ค. 2562 22:58 น.    เข้าชม 3396

      ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชากรกว่า 90% นับถือศาสนาอิสลาม และมีวิธีชีวิตที่เดินตามบทบัญญัติของศาสนา นั่นคือ การสอนให้ทุกคนนั้นกระทำความดี ชายคนหนึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอกพื้นที่ และตัดสินใจที่จะกลับมาใช้ความรู้พัฒนาบ้านเกิด ในบทบาทครู และผู้บริหารของศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด หรือ ศูนย์ตาดีกา ซึ่งงานท้าทายก็คือการสืบทอดการศึกษาตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน ดำเนินคู่ขนานไปกับการศึกษาแนวคิดสมัยใหม่ และสามารถทำให้ศูนย์ตาดีกาเล็กๆ ภายในชุมชน กลายเป็นศูนย์ตาดีกาต้นแบบระดับสี่ดาว       มัสยิดเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นและเป็นศูนย์รวมใจของชุมชนมุสลิม ที่สามารถบ่งบอกความเจริญของชุมชน มัสยิดไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ละหมาดประกอบศาสนกิจ แต่ยังเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคนให้เป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ตามศาสนบัญญัติของศาสนา ซึ่งมีวิถีปฏิบัติที่ชาวมุสลิมจะต้องนำมาเป็นธรรมนูญแห่งการดำเนินชีวิต ชาวมุสลิมจะต้องหน้าที่ต่ออัลเลาะห์ และเพื่อนมนุษย์ และจะต้องเผยแพร่บทบัญญัติแห่งอัลเลาะห์ออกไปทำความเข้าใจแก่เพื่อนมนุษย์ ร่วมสร้างสันติภาพความร่มเย็นในสังคม การทำให้เด็ก และเยาวชนเข้าใจในคำสอนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การให้เด็กเติบโตขึ้นมาโดยนับถือศาสนาตามๆ กันไปจากคนรุ่นก่อน จะไม่สามารถสร้างวิถีชีวิตแบบอิสลามได้ การบ่มเพาะสำนึกความตระหนัก และจรรยามารยาทต่างๆ ต้องทำตั้งแต่เยาว์วัย       ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดหรือตาดีกาอยู่ประมาณ 2,000 แห่ง มีความสำคัญในฐานะสถาบันแห่งการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ อบรมคุณธรรมจริยธรรม และหลักปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอิสลาม โดยใช้อาคารในมัสยิดเป็นสถานที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรอิสลามศึกษา ภาคบังคับระดับขั้นพื้นฐาน โดยใช้เวลาในวันเสาร์ถึงอาทิตย์ หรือวันจันทร์ถึงศุกร์ตามความพร้อมของชุมชน คือความสำเร็จ ตาดีกาต้นแบบระดับสี่ดาว

      ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ดารุลนาอีม บ้านบือแน เดิมมีการเรียนการสอนตามหลักศาสนา และสอนอ่านเขียนภาษามลายูในวันเสาร์อาทิตย์ แต่ในปัจจุบันมีหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแลให้เป็นระบบ และเสริมความรู้พื้นฐานตามวิชาสามัญ เพื่อให้เด็ก และเยาวชนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มีความรู้พื้นฐานที่ดีสามารถศึกษาต่อในระดับสูงต่อไป และสามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้ในอนาคต รูปแบบการเรียนการสอนในปัจจุบันมีหลักสูตร 9 สาระวิชาการเรียนรู้ โดยเน้นสอนให้เยาวชนนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง เน้นเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม มีเรื่องของภาษาอังกฤษ มลายู และอาหรับเพื่อการสื่อสาร มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนโดยเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เยาวชนคิดเป็น ทำเป็น ใจรักการเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคม ส่งผลให้ศูนย์ตาดีกาแห่งนี้ผ่านการรับรองมาตรฐานการจัดการศึกษาในระดับสี่ดาว และได้รับการยกย่องให้เป็นตาดีกาต้นแบบ ที่ประยุกต์การเรียนการสอนแนวใหม่ และเป็นศูนย์การเรียนรู้คู่ชุมชน โดยการปลูกฝังเรื่องจิตสาธารณะให้กับเด็กๆ แทนคืนสถานศึกษาบ้านเกิด

      ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ดารุลนาอีม บ้านบือแน ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นศูนย์ตาดีกาที่ก่อตั้งมายาวนานถึง 25 ปี โดยแยกออกมาจากโรงเรียนปอเนาะในพื้นที่บ้านแบเซ็งตั้งแต่ปี 2543 มีอิหม่ามประจำมัสยิดดารุลนาอีม บ้านบือแน ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดดารุลนาอีม บ้านบือแน ต่อมาเมื่อผู้บริหารเดิมลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนา นายอานาฟณันทร์ การีดอง คือคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการเลือกจากชุมชนให้เข้ามารับหน้าที่ผู้บริหารตาดีกาดารุลนาอีม บ้านบือแนคนใหม่ ซึ่งตัวเขาเองก็เป็นอดีตนักเรียนในศูนย์ตาดีกาแห่งนี้มาก่อนในช่วงที่ยังเป็นเด็ก จนกระทั่งไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยนอกพื้นที่ และกลับมาใช้ความรู้เพื่อพัฒนาบ้านเกิด       นายอานาฟณันทร์ หรือฟิวส์ แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่มีหัวคิดทันสมัย แต่ก็ยังคงยึดมั่นในการพัฒนาศูนย์ตาดีกาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้คู่ชุมชน โดยมีเป้าหมายพัฒนาเด็กนักเรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา และไม่ละทิ้งวิถีปฏิบัติของการเป็นมุสลิมที่ดี โดยสอนระเบียบวินัยให้เด็กๆ อ่านดูอาในตอนเช้า และก่อนกลับบ้านทุกครั้ง ที่สำคัญคือความเคร่งครัดในเรื่องการละหมาดที่มัสยิด โดยเด็กๆ จะได้รับการเรียนรู้จากผู้ใหญ่ในชุมชนนั่นเอง ผลจากความมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องทำให้นายอานาฟณันทร์ และศูนย์ตาดีกาแห่งนี้ได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย เรียนรู้เพื่อเท่าทัน และยึดมั่นในวิถี

      แม้ว่ารูปแบบการเรียนการสอนของศาสนาอิสลามจะมีการพัฒนาไปมาก และเด็กๆ มุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีชั่วโมงการเรียนตลอด 7 วัน แต่ก็ยังได้รับการประเมินผลเรื่องมาตรฐานการศึกษาที่ยังไม่ดีนักเมื่อต้องเทียบกับพื้นที่อื่นๆ บางภาคส่วนมีความเห็นว่าอาจจะมาจากปัจจัยทางด้านภาษาที่มีความหลากหลาย เด็กๆ ที่นี่พูดคุยกันอย่างน้อย 3-4 ภาษา แต่ไม่สามารถใช้ในการสื่อสารในระดับที่สูงขึ้นได้ แต่นายอานาฟณันทร์กลับมองว่า นี่คือความได้เปรียบของเด็กๆ จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากให้ภาครัฐมองด้วยมุมมองใหม่ และให้การส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาให้เด็กๆ อย่างจริงจัง เพื่อให้เด็กๆ สามารถนำทักษะนี้ไปทำงานในระดับสากลได้ ซึ่งครูที่มาสอนในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นครูจิตอาสา ไม่ใช่ครูสอนวิชาชีพทางด้านภาษาอังกฤษ หากภาครัฐต้องการส่งเสริมอาจจะสนับสนุนอัตรากำลังครูวิชาชีพทางภาษา หรือจัดฝึกอบรมให้ครูอาสาตาดีกาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสอนให้เข้มเข้นใช้งานได้จริง       สำหรับภาษามลายู และภาษาอาหรับนอกจากจะเป็นภาษาสำคัญที่ใช้สื่อสารในพื้นที่ จะทำให้เด็ก และเยาวชนให้สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ถึงระดับภูมิภาคอาเซียน หากมีแนวคิดที่จะพัฒนาทักษะภาษามลายู และภาษาอาหรับให้ดีขึ้นเทียบเท่ากับการพัฒนาภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ก็ยิ่งจะสร้างความภาคภูมิใจให้คนในพื้นที่มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมต่อไป

      ศูนย์ตาดีกา ถือเป็นสถานศึกษาแห่งแรกในชีวิตของเด็กๆ ชาวมุสลิม โดยมีผู้ใหญ่นำหลักคำสอนมาเป็นสิ่งนำทางให้พวกเขาเติบโตมาเป็นชาวมุสลิมที่ดี และนอกจากนี้มัสยิด และชุมชนถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษาที่ดีให้กับเยาวชน ซึ่งศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด หรือตาดีกา เป็นของทุกคนในชุมชน ถ้าเด็กๆ ได้รับการศึกษาที่ดี ก็จะมีความแข็งแรงทั้งทางร่างกาย และจิตใจ และสามารถเป็นกำลังสำคัญกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของเขาเองได้ในอนาคต

ความคิดเห็น