วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ.2567

ภูมิปัญญาการแทงหยวก สกุลช่างสงขลา

 14 มี.ค. 2562 23:18 น.    เข้าชม 3875

      หลังล่วงผ่านงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ศิลปะการแทงหยวกได้กลับมาเป็นที่รู้จัก และกลับมาอยู่ในความสนใจอย่างเป็นปรากฏการณ์อีกครั้งจากที่เงียบเหงาไปแล้วเกือบชั่วอายุคน การสลักหยวกหรือการแทงหยวก งานวิจิตรศิลป์ที่ทรงคุณค่าที่ใช้วัตถุดิบจากเรือกสวนไร่นา จัดเป็นงานฝีมือช่างประเภทหนึ่ง ที่จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่ ประเภทสลักอ่อน การสลักหยวกกล้วยนั้น ผู้ที่เป็นช่างจะต้องได้รับการฝึกหัด จนเกิดความชำนาญ จึงจะสลักหยวกกล้วยได้โดยไม่ต้องวาดลวดลายลงไปก่อนจรดมีด ลงมือสลักกันสดๆ จึงเรียกการทำงานนี้ว่า การแทงหยวก ซึ่งเดิมทีนั้นในสมัยก่อนการเผาศพจะใช้ต้นกล้วยเป็นฉนวนป้องกันไฟมา รองที่พื้นโลงศพก่อนเผา       ต่อมาได้วิวัฒนาการมาสร้างเป็นศิลปะสวยงามตามความเชื่อเรื่องวิมาน ปราสาท ราชวัง แล้วแต่ช่างจะคิดประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ ลงบนหยวก ก่อให้เกิดความงามทางศิลปะ พัฒนารุ่นต่อรุ่นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ละสกุลของช่างจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ที่จังหวัดสงขลาจะมีศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้แก่ สกุลช่างสงขลา ซึ่งมีผู้สืบทอดได้แก่ ช่างสวน หนุดหละ “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” ปี 2559 ประเภทงานหัตถกรรม : แทงหยวก จังหวัดสงขลา ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 8 ผู้สร้างชื่อเสียงให้กับ อ.รัตภูมิ จังหวัดสงขลา โดยท่านมีความภาคภูมิใจสูงสุด คือ ได้ร่วมถวายงานแทงหยวกประดับ “พระจิตกาธาน” พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.9 โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนงานแทงหยวกชั้นรัดเอว และลายเสาเล็ก ชั้นเรือนฟืน  ซึ่งก่อนหน้านี้ท่านได้มีโอกาสได้ถวายงานแทงหยวกในพระราชพิธีพระราชเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพี่นางเธอฯ และงานสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ มาแล้ว ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประเภทงานหัตถกรรมแทงหยวก

      ช่างสวน หนุดหละ เป็นชาวจังหวัดสงขลา มีอาชีพหลักคือการทำเกษตร ทำนา ทำสวน ส่วนงานแทงหยวกเป็นงานอดิเรก ซึ่งทำมา 37 ปี เพื่อต้องการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้านไว้ ตัวท่านเองได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นช่างโบราณ ได้เรียนผู้ผ่านการไปดู ไปเห็น ไปช่วยเป็นลูกมือ จนสามารถทำได้จนมาถึงทุกวันนี้ การแกะสลักทั่วไปจะใช้ค้อน สิ่ว แกะออกมา แต่การแทงหยวก เมื่อแทงมีดลงไปจะเดินมีดเป็นลวดลายไปจนจบลายจึงจะยกมีดขึ้น กาบกล้วยที่นิยมใช้ในการแทงหยวกได้แก่ กล้วยตานี เพราะมีคุณสมบัติ คือ ลำต้นตรง กาบกล้วยไม่หนาไม่บางจนเกินไป มีเนื้อกาบมากสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้นาน เมื่อนำไปใช้จึงไม่เหี่ยวเฉา เลือกหยวกกล้วยที่แก่เต็มที่ ออกปลี ออกลูกแล้วแก่เต็มที กาบจะหนา เหนียว ทน ตัดมาแล้วใช้ได้ทุกส่วน เวลามาแทงลายจะใช้กาบขาวๆ มาแทงลวดลาย ส่วนกาบนอกใช้อัดไว้ด้านในให้ความแข็งแรง ในการทำงานจริงจะต้องเร่งมือ เพราะเป็นของสด ต้องทำงานแข่งกับเวลา ไม่ว่าจะงานมงคลหรืองานศพ อย่างเช่นงานศพพรุ่งนี้ จะต้องทำตั้งแต่คืนนี้ ศูนย์การเรียนรู้งานช่างฝีมือ จ.สงขลา

      งานแทงหยวกเป็นวิถีที่สืบทอดกันมาของแต่ละพื้นที่ของจังหวัดสงขลามีเอกลักษณ์การแทงลวดลายกนกที่รวดเร็วและแม่นยำ ลายที่ใช้ในการแทงหยวกจะมีมากมายหลายหลาก แล้วแต่ช่างจะสร้างสรรค์ออกมา ซึ่งกว่าจะเป็นช่างได้ทุกคนต้องเรียนการเขียนลายให้แม่นยำเสียก่อน อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการแทงหยวกก็เป็นปัจจัยสำคัญ มีดแทงหยวกที่เป็นอาวุธคู่ใจจะทำมาให้เหมาะมือกับช่างแต่ละคน ของใครของมันไม่ยืมกัน จะเป็นมีดปลายแหลมมีคมสองด้านใช้ในการแทงหยวก มีมีดปาดใช้ในการตัดหยวก มีมีดฟันเลื่อยใช้หั่นหยวกที่หนาหลายชั้น และมีไม้เสียบ และตอกที่ใช้ในการประกอบลาย       การแทงหยวกของจังหวัดสงขลาแถบลุ่มน้ำทะเลสาบจะแบ่งลวดลายออกเป็นสองประเภท ได้แก่ ลวดลายแนวนอน ภาคกลางเรียกว่าลายหน้ากระดาน อีกประเภทคือแนวตั้งเรียกว่าลายเสา มีลวดลายต่าง ๆ ประกอบด้วยดอก ก้านต่อดอก ลายที่ใช้มีทั้งลายฟันปลา ลายฟันสาม ลายมือหมี ลายน่องสิงห์ ลายเถาวัลย์หรือลายเครือเถา ลายนอ ฯลฯ เป็นลายหยาบๆ เมื่อโดนแสงแดด หยวกกล้วยจะหด ได้ลวยลายที่สวยกำลังพอดี และทนต่อความร้อน

      ครูสวน หนุดล่ะ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำงานแทงหยวก ได้สืบสานภูมิปัญญาวิชาช่างที่เป็นอัตลักษณ์ของไทยนี้ไว้ และอยากจะให้ภูมิปัญญางานศิลป์ประเภทนี้มีผู้สืบทอดต่อไป ซึ่งปัจจุบันก็มีคนรุ่นใหม่ที่สนใจ และตั้งใจฝึกฝนที่จริงจัง ปัจจุบันมีการเปิดสอนให้กับผู้ที่สนใจอยู่ที่ศูนย์การเรียนรู้งานช่างฝีมือ จังหวัดสงขลา มีที่เป็นแล้วขณะนี้ก็มีช่างแทงหยวกอยู่ 40-50 คน สามารถสืบทอดการปฏิบัติ ออกพื้นที่ลงมือทำจริง ซึ่งจะต้องมีความเชื่อมีความศรัทธา และเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย โดยครูจะเน้นสอนการแทงหยวกแบบโบราณ เพื่อรักษารากเหง้าภูมิปัญญาท้องถิ่นชายแดนใต้เอาไว้ เพื่อให้อยู่คู่แผ่นไทยสืบไป

ความคิดเห็น