วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

ทะเลจร จากรองเท้าสู่รองเท้า จากขยะสู่อาชีพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 25 มิ.ย. 2562 21:12 น.    เข้าชม 4850

      Tlejourn : ทะเลจร รองเท้าที่เกิดใหม่จากรองเท้าขยะที่ถูกทิ้งล่องลอยในท้องทะเล เกิดขึ้นจากไอเดียความคิดของนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเทคโนโลยียาง และโพลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งต้องการลดปัญหาขยะที่มีอยู่ตามชายหาด และ นำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง โดยการนำขยะที่คัดแยกได้จากขยะชายหาดมาทำเป็นรองเท้าแตะหลากหลายแบบให้เลือก
      3 ปี ผ่านไปนับจากวันที่ได้ริเริ่มโครงการ ปัจจุบันรองเท้าแตะทะเลจร ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก่อน และ เริ่มเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมจากคนไทยในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มคนนักอนุรักษ์
Trash Hero Pattani ต่อยอดสู่ ทะเลจร

      ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย อาจารย์-นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเทคโนโลยียาง และ โพลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้จุดประกายแนวคิดในการนำขยะมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้และ อาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยร่วมมือกับองค์กร Trash Hero Thailand นักคิดพิชิตขยะ และอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยแต่เดิม ดร.ณัฐพงศ์ ได้รวมกลุ่มกับนักศึกษา และ เยาวชนทำกิจกรรมเก็บขยะชายหาด และได้ทดลองนำรองเท้าขยะที่เก็บจากทะเลในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ แต่ทำในลักษณะการทดลองในลักษณะงานอดิเรกเนื่องจากมีปริมาณขยะรองเท้าไม่มาก จนกระทั่งได้พบกับนักกิจกรรมกลุ่ม Trash Hero Pattani ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งกลุ่มที่เกาะหลีเป๊ะ จึงติดต่อไปเพื่อขอขยะรองเท้าแตะ

      ทางกลุ่ม Trash Hero จะมีกิจกรรมให้เยาวชนอาสาสมัครเก็บขยะตามพื้นที่ชายทะเล และ ขยะจะได้รับการคัดแยกเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยแยกออกเป็น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว ซึ่งจะมอบให้ชาวบ้านเอาไปขาย นอกจากนี้จะมีขยะพิเศษ เช่น ฝาขวด จะนำไปทำเป็นโคมไฟ และ รองเท้า จากขยะรองเท้าแตะที่ไม่สามารถนำไป รีไซเคิลได้ วิธีเดียวคือต้องเผาทำลายทิ้ง ซึ่งก็ไปทำลายสิ่งแวดล้อม รองเท้าจากทะเลนี้เองกลับถูกนำมาชุบชีวิตจากรองเท้ากลายมาเป็นรองเท้าใหม่อีกครั้ง โดยหลังจากที่ได้รับการติดต่อขอขยะรองเท้า 1 ปีต่อมา ดร.ณัฐพงศ์ จึงได้รับการติดต่อกลับให้นำรถไปรับขยะรองเท้าแตะ ซึ่งปริมาณมากถึง 8 ตัน จากการทำเป็นงานอดิเรกจึงต้องขยับขยายเป็นโครงการที่ใหญ่ขึ้น โดยทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด คือ รองเท้า และได้ส่งโครงการเข้าประกวดในโครงการ One Young World ปี 2015 โดยใช้ชื่อ Wonderer พเนจร เพื่อจะสื่อถึงการเดินทางของรองเท้า แต่ได้รับคำแนะนำให้ใช้ชื่อว่า ทะเลจร จึงใช้ชื่อนี้นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

      ช่วงเริ่มต้นของการทำรองเท้า Tlejourn : ทะเลจร ประมาณ 3 ปีที่แล้ว ทางทีมงานยังไม่ได้ติดต่อสัมพันธ์กับชาวบ้านในพื้นที่มากนัก แต่จากความพยายามที่จะสร้างแบบรองเท้าให้มีความหลากหลาย และต้องการถุงผ้าเพื่อมาใส่สินค้า และบังเอิญได้พบกับกลุ่มซายัง กลุ่มแม่บ้านผ้าปาเต๊ะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จึงติดต่อพูดคุยขอให้ทำถุงผ้าให้เพื่อมาใส่ผลิตภัณฑ์รองเท้า ในเวลาต่อมาจึงได้มีการชักชวน และ ฝึกอบรมให้กับเยาวชน และแม่บ้านการทำรองเท้าเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้นอกเหนือจากการทำสวน และ การทำประมง ซึ่งกลุ่มแม่บ้านจะได้เป็นจุดแปรรูปทั้งทำรองเท้า และ ถุงผ้าในที่เดียวกัน

      ในตอนแรกทางทีมงานพยายามที่จะสร้างศูนย์ทำรองเท้าภายในมหาวิทยาลัย แต่การที่ชาวบ้านต้องออกจากหมู่บ้านเพื่อมาทำรองเท้าทะเลจร กลายเป็นการทำให้ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงได้เปลี่ยนวิธีการโดยนำอุปกรณ์ทำรองเท้าอีกชุดเอาไว้ใช้ในหมู่บ้าน ขั้นตอนในการทำรองเท้าเริ่มจากนำขยะที่เป็นรองเท้าแตะมาคัดแยกประเภทก่อน ได้แก่ รองเท้ายาง รองเท้าฟองน้ำ แล้วทำความสะอาด จากนั้นแยกโทนสีประมาณ 3 โทนก่อนนำมาบดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วอัดแผ่นเป็นแผ่นรองเท้า แล้วจึงส่งให้กลุ่มแม่บ้านทำการแปรรูปเป็นรองเท้า โดยการตัด เจียร เจาะ และใส่สาย

      ทะเลจรจึงสามารถสร้างรายได้โดยไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้าน และทำให้มุมมองต่อขยะที่ชาวบ้านมีนั้นเปลี่ยนแปลงไป มีจิตสำนึกเห็นคุณค่าของการแยกขยะในชุมชนมากขึ้น ดร.ณัฐพงค์ ได้แนะให้ชาวบ้านชายแดนภาคใต้ เปิดบูธขนาดเล็กขายรองเท้าแตะตามแหล่งท่องเที่ยว และ แสดงการทำรองเท้าให้นักท่องเที่ยวดูทุกขั้นตอน พร้อมวัดขนาดเท้าของลูกค้าที่น่าจะสร้างกำไรได้มากถึง 200 บาทต่อคู่เลยทีเดียว นอกจากนี้ช่องทางการขายรองเท้าแตะทะเลจร คือ Facebook ที่มีชื่อว่า Tlejourn  รองเท้าหนึ่งคู่ที่คุณสั่งซื้อจากทะเลจร คุณจะได้รับPackaging สวยๆ เป็นถุงผ้าปาเต๊ะ และที่สำคัญคุณจะได้รับคุณค่าทางจิตใจที่คุณได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
      กิจกรรมจิตอาสาของกลุ่ม นักคิดพิชิตขยะ Trash Hero Pattani นอกจากจะมีแนวคิด และ ทำกิจกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีการต่อยอดเข้าไปส่งเสริมสร้างอาชีพให้กับกลุ่มแม่บ้าน และ เยาวชนมีรายได้เสริมเพื่อวิถีชีวิตที่ดีขึ้น และเกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลธรรมชาติ กลายเป็นกิจการเพื่อสังคมที่กระตุ้นจิตสำนึก และ การร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มลูกค้าของทะเลจร Tlejourn คือกลุ่มคนที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เขาเหล่านี้มีความต้องการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคม และ สามารถส่งอิทธิพลไปยังกลุ่มคนที่มีทัศนคติคล้ายกันได้ง่าย เป็นวิถีของธุรกิจที่กลุ่มผู้ใช้สามารถเป็นกระบอกเสียงของแบรนด์ได้ดีที่สุด

ความคิดเห็น