วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

เบญจเมธาเซรามิก ศูนย์สร้างแรงบันดาลใจชายแดนใต้

 25 มิ.ย. 2562 21:43 น.    เข้าชม 4901

      ทุกที่ย่อมมีดิน และ ดินเป็นธาตุสำคัญที่ยังประโยชน์แก่มนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพืชผลทางการเกษตร เป็นที่มาของอาหาร เป็นที่อยู่อาศัย ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ ตลอดไปจนถึงงานศิลปะ แต่ดั้งเดิมในพื้นที่สาม จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีเพียงงานเครื่องปั้นดินเผาเป็นหม้อน้ำ กระถาง กระเบื้องดินเผา โรงงานเซรามิกเบญจเมธา อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี จึงเป็นเจ้าแรกที่ผลิตงานปั้นดินในลักษณะงานฝีมือ โดยใช้วัตถุดิบ และ ภูมิปัญญาของคนในพื้นที่
มาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน

      เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ศิลปินผู้ก่อตั้งเบญจเมธาเซรามิก เป็นชาวบ้านปาลัส อำเภอปะนาเระ แต่กำเนิด การศึกษาทำให้ก้าวออกห่างจากบ้านเกิดมากขึ้นทุกที เริ่มจากเข้าสู่ตัวเมืองปัตตานี วิทยาลัยเทคนิคยะลา และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ หลังซึมซับความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมจนเต็มอิ่ม สถาปนิกหนุ่มโบยบินไปไกลถึงฝรั่งเศส เพื่อศึกษาด้านศิลปะภาพพิมพ์ และ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากสถาบันศิลปะที่แวร์ซายส์ และปารีส หลังจากเรียนจบกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ได้เพียงสองปี ก็ทนไม่ไหวกับเสียงเรียกในใจที่บอกตัวเองให้กลับบ้านเกิด
      เอ็มโซเฟียนผูกพันกับดินมาแต่เด็ก เพราะพ่อของเขานอกจากเป็นหมอชุมชนแล้ว ยังเคยทำธุรกิจโรงอิฐมอญจากดินชุมชน ดินของปัตตานีเหนียว แน่น เผาแล้วแดงสวย คนนิยมนำไปทำอิฐสร้างบ้าน แต่ต้องเลิกกิจการไปเมื่อต้องเผชิญกับราคาที่ตกต่ำ เอ็มโซเฟียนได้มีโอกาสเรียนพื้นฐานการทำเซรามิกระยะสั้นที่ลำปาง เมื่อเอ็มโซเฟียนกลับมาบ้านเขาจึงเลือกที่จะลงมือสร้างโรงงานเซรามิกเบญจเมธา เปลี่ยนผลผลิตดินปัตตานีจากอิฐมอญที่มีค่าเพียงก้อนละ 1 บาท เป็นสินค้างานปั้นสวยอ่อนโยนที่ได้รางวัลระดับประเทศหลายครั้ง งานดีไซน์ของเขากวาดรางวัลจากทั้งในประเทศไทย และ ต่างประเทศ เช่น Gmark, DEmark และ Designer Of The Year และ 10 ปีต่อมาหลังจากกลับปัตตานี บ้านของเขากลายเป็นศูนย์สร้างแรงบันดาลใจที่ใครต่อใครแวะมาเยี่ยมเยือนเมื่อมาถึงปลายด้ามขวาน
ศูนย์สร้างแรงบันดาลใจ เบญจเมธาเซรามิก

      สิ่งที่ทำให้เบญจเมธาเซรามิก กลายเป็นแรงบันดาลใจของคนทั้งใน และ นอกพื้นที่ เริ่มจากความภาคภูมิใจในการใช้ดินท้องนาจากบ้านของตัวเอง เป็นดินท้องถิ่นปัตตานี ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นดินทุ่งนาในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลจะมีส่วนประกอบของแคลเซียมสูง ทำให้เนื้อดินมีความแข็งแรง ลองมาผสมผสานกับเนื้อทรายจากชายหาด และได้ดินขาวจากนราธิวาส ผสมผสานเป็นโครงสร้างของดินใหม่ รวมถึงปรับปรุงสารที่ใช้ในการเคลือบ เพื่อใช้ในการปั้นและ เผางานเซรามิกที่ใช้ความร้อนสูงในอุณหภูมิ 1,235 องศาเซลเซียส ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีความแข็งแกร่งทนทาน
      อีกข้อสำคัญในงานสร้างสรรค์คือ การออกแบบลวดลายที่สะท้อนอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และ ความศรัทธาในปรัชญาศาสนาอิสลาม เกิดวิถียั่งยืน และ งานศิลปะหัตถกรรมในพื้นที่ที่ไม่ผิดหลักการศาสนา คือ ศิลปะเซรามิกผสานปรัชญาอิสลาม ส่งผลให้ผลงานชุดแรกของเบญจเมธาเซรามิกได้รับรางวัลไทยสร้างสรรค์ สาขางานฝีมือ และหัตถกรรม ในปี พ.ศ. 2553 เป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์งานชิ้นต่อๆ ไป ซึ่งเอ็มโซเฟียนเลือกนำวิถีชุมชนมาใช้ในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน โดยมีหลักการคือใช้งานเซรามิกเป็นสื่อในการเชื่อมโยงภูมิปัญญาเก่า และ ภูมิปัญญาใหม่เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ อักษรอาหรับ วิธีการกลึงไม้ทำด้ามกริช การทำเรือกอและ การทำว่าว การทำเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิม การใช้วัสดุท้องถิ่นอย่างกระจูด กะลา

      เอ็มโซเฟียนพบว่าเขาไม่ต้องวิ่งออกไปตามหาเอกลักษณ์การดีไซน์ที่ไหนเมื่ออยู่ที่มาตุภูมิ การเชื่อมโยงกับช่างฝีมือในชุมชนพื้นที่ ทักษะการออกแบบของเขาที่มาพบกับทักษะของช่างฝีมือพื้นถิ่น การทำงานร่วมกันเกิดเป็นผลงานที่สะท้อนถึงการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นอกจากเป็นงานศิลปะที่นอกจากสะท้อนตัวตนของศิลปิน และสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนแล้ว สิ่งสำคัญที่เบญจเมธาเซรามิกต้องการสื่อสารคือ ธรรมชาติ สันติภาพ และจิตวิญญาณมลายู ไม่ใช่ความรุนแรงที่คนทั่วไปรับรู้ ผลงานปั้นเหล่านี้เป็นฝีมือของเอ็มโซเฟียน และ พนักงานชาวปัตตานีที่นักออกแบบรับเข้าทำงานโดยไม่เกี่ยงวุฒิหรือประสบการณ์งานฝีมือ คุณสมบัติเดียวที่ต้องการคือมีคุณธรรม และ กระจายงานต่างๆ เช่น การทำด้ามจับไม้ เครื่องปั้นดินเผา ไปให้ช่างฝีมืออื่นๆ ในพื้นที่เพื่อกระจายรายได้ให้ชุมชน
มรดกเพื่อบ้านเกิด

      “เราเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที่แล้วจะตายไปเปล่าๆ โดยที่ไม่ทิ้งองค์ความรู้ ภูมิปัญญา สิ่งที่เป็นถนนหนทางเป็นประโยชน์กับคนอื่น หรือว่าถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ลูกหลาน เผื่อว่าลูกหลานจะได้สร้างเครือข่ายคนดีให้มากขึ้นเลยเหรอ ถ้าคุณไม่ทิ้งมรดก สร้างนวัตกรรมให้ชุมชน มันเสียเวลา เสียดายโอกาส ในเมื่อองค์ความรู้ ประสบการณ์ ภูมิปัญญาที่เราถ่ายทอดได้ เวลาตายไปแล้วมันก็ยังส่งผล สร้างแรงบันดาลใจให้คนเรื่อยๆ”
      เป้าหมายสำคัญในใจของเอ็มโซเฟียน คือการอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว และ พัฒนาต่อยอดในทุกๆ ด้าน เพื่อตั้งใจที่จะมอบมรดกด้านองค์ความรู้เหล่านี้ไว้ให้กับลูกหลาน และ บ้านเกิดเมืองปัตตานี ไม่ใช่เพียงแค่งานศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น ยังก้าวหน้าไปถึงงานเกษตรกรรม และ งานปศุสัตว์ แม้เซรามิกจะฟังดูห่างไกลจากการเลี้ยงแพะ แต่การทำงานกับดินทำให้เอ็มโซเฟียนสนใจเกษตรกรรม โดยทำฟาร์มแพะเล็กๆ เพื่อเพาะสายพันธุ์ ‘กำปงปาลัส’ เนื่องจากการเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะอยู่ในวิถีชีวิตคนมลายูอยู่แล้ว

      ปัญหาที่เขาพบ คือ แพะสายพันธุ์พื้นเมืองกลายพันธุ์เป็นแพะผอมแคระแกร็นไปหมด ส่วนแพะตัวใหญ่ที่คนนิยมเลี้ยงราคาแพง และ มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงมาก ชาวบ้านทั่วไปซื้อไม่ไหว ฟาร์มเดินดิน จึงเกิดขึ้นเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์แพะพื้นเมืองขึ้นมาใหม่ คัดเลือกแพะสายพันธุ์ดีๆ สร้างการจัดการที่ดี เลี้ยงแบบไม่ปล่อยปละละเลย ตั้งใจเพาะให้เป็นเอกลักษณ์ของแพะกำปงปาลัส และ ขายในราคาย่อมเยา เพื่อให้ชาวบ้านมีแพะคุณภาพดีเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในชุมชน
      เอ็มโซเฟียนจึงไม่ได้กลับบ้านเกิดปัตตานีเพียงเพื่อสร้างครอบครัว แต่กลับมาเพื่อสร้าง และ ส่งต่อแรงบันดาลใจ และ ยืนยันว่าชายแดนใต้ไม่ได้มีแต่ความรุนแรงอย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่ยังมี “ธรรมชาติและสันติ” แทรกซึมอยู่ในทุกอณูวิถีชีวิต

ความคิดเห็น