วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ.2567

“ขัดกันฉันมิตร” (Pergaduhan Teman | Friendly Quarrel)

 25 มิ.ย. 2562 21:48 น.    เข้าชม 2145

      เรื่องเล่าทุกประเภททำงานกับคนได้ และ ภาพยนตร์ คือ สื่อที่สามารถเข้าถึงคนได้ทุกชนชั้น และ เครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารที่มีมากมายในปัจจุบัน ทำให้คนมีอำนาจสามารถที่จะเล่าเรื่องของตนเองได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย โดยการใช้หนังเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่อง (Storytelling) ได้อย่างปลอดภัย เพราะหนังเป็นสิ่งบรรจบระหว่างประสบการณ์ และ จินตนาการ ไม่ใช่ข้อมูลข้อเท็จจริงโดยตรง (Fact) ยุคสมัยปัจจุบัน คือยุคสมัยที่แวดล้อมไปด้วยเครื่องมือสื่อสาร หมดยุคสมัยของผู้ชำนาญการ ใครๆ ก็เข้าถึงการทำหนังได้เสมอกัน มีเทคโนโลยีสำหรับสื่อสารขนาดพกพา
      ปัจจุบันเราเข้าถึงความรู้อยู่ในทุกที่ ทุกเรื่องเล่าพร้อมจะส่งเสียงอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 13 ปีแห่งความขัดแย้ง เรื่องราวของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เรารู้จักแผ่นดินนี้จากข่าวคราว และ คำบอกเล่าของคนภายนอกเสมอ แต่เรื่องราวจากสายตาของเยาวชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสิ่งที่พวกเขาพบเจออยู่ในชีวิตประจำวัน กลับเป็นสิ่งที่เราอาจจะไม่เคยเข้าถึง และ รับรู้มาก่อน จึงเป็นที่มาของ โครงการประกวดหนังสั้นทักษะวัฒนธรรมสำหรับเยาวชน “ขัดกันฉันมิตร”
หนังสั้นทักษะวัฒนธรรม “ขัดกันฉันมิตร”

      โครงการประกวดหนังสั้นทักษะวัฒนธรรมสำหรับเยาวชน “ขัดกันฉันมิตร” (Pergaduhan Teman | Friendly Quarrel) เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560 และ จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ในปี 2561 นี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคี ได้แก่ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สหภาพยุโรป (EU), ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS)  
      กลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ เยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปี ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ มีเป้าหมายให้เยาวชนได้มีโอกาสทำความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม สำรวจอคติ และ ภาพเหมารวมที่ส่งผลต่อ ทัศนคติในเชิงลบและ การเลือกปฏิบัติที่มีต่อคนที่แตกต่าง รวมทั้งเรียนรู้ผลกระทบของสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้  โดยเฉพาะในกลุ่มที่นับถือศาสนาต่างกัน ทำให้เปลี่ยนมุมมอง หรือ ทัศนะด้านลบบางอย่างที่เคยมี และ เสริมทักษะให้เยาวชนทั้งด้านทักษะวัฒนธรรม และ ด้านการสื่อสารสาธารณะ มีส่วนร่วมในการสื่อสารมุมมองของเยาวชนต่อสาธารณะในประเด็นทักษะวัฒนธรรม และ การอยู่ร่วมกับความขัดแย้งในภาคใต้ ผ่านกระบวนการการทำหนังสั้น
ขัดกันฉันมิตรปี 2

      ในการจัดปีที่ 2 ได้รับความสนใจจากเยาวชนมากยิ่งขึ้นอย่างน่ายินดี มีเยาวชนจาก 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 38 ทีม ต่อมาเยาวชนทั้งหมดได้เข้าร่วมอบรมทักษะวัฒนธรรม เพื่อให้เข้าใจคำว่า “ทักษะวัฒนธรรม” และ “ขัดกันฉันมิตร” พร้อมด้วยการ Workshop จนมาสู่การคัดเลือกผลงานที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 10 ทีม จากการคัดเลือกของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หลังจากนั้นจึงเริ่มกระบวนการผลิตผลงานหนังสั้นที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเพื่อใช้ทำการตัดสินรอบชิงชนะเลิศในวันนี้ นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการกระบวนการผลิตหนังสั้น เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ในการผลิตหนังสั้นให้แก่เยาวชนที่ร่วมโครงการฯ อีกด้วย
มิตรภาพ ≠ ความไม่ขัดแย้ง

      หนังสั้นที่สร้างสรรค์เพื่อถ่ายทอดมุมมองของเยาวชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามสร้างความเข้าใจ และสะท้อนภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ได้มีแต่ความรุนแรง แต่ยังมีความสวยงาม มีเสน่ห์ของวิถีชาวบ้านที่เรียบง่าย ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความจริงที่อาจเคยถูกมองข้ามไป มิตรภาพไม่ได้หมายถึงความไม่ขัดแย้ง ความแตกต่างไม่ได้หมายถึงศัตรู พลังสร้างสรรค์ และ เรื่องเล่าจากเยาวชน “คนใน” ที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม เยาวชนเหล่านี้เลือกที่จะบอกเล่าเรื่องราวของชีวิต และ แผ่นดินถิ่นกำเนิดผ่านกระบวนการทำหนังสั้น เกิดเป็น “สันติศิลป์” จากดินแดนที่เพรียกหาสันติ โดยมีรายนามหนังสั้นที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้ง 10 เรื่อง ได้แก่
1.  “สะพานแห่งศรัทธา”
โดย นายซาการียา แม, นายอัมมัร มะลาเฮง และ นายอิลหาม มะนะแล
2.  “LINE”
โดย นายชนสรณ์ แวหะมะ, นางสาวณัฐริณีย์ สุหลง และ นางสาววิภาวนี อักษรชู
3.  “KAWAE KAWAN”
โดย นายซารีฟ ลาเตะ, นายซูไฮมี ยะโกะ และ นายนาบิล มายะสาและ
4.   “45 องศา” รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1
โดย นายชนาธิป ทองจันทร์ และ นายอัฐพล ปิริยะ
5.   “Our War”
โดย นางสาวอัสรีนา อารง, นางสาวชมพูนุช ทองแป้น และ นายวาลิด นาวินพัฒนรัตน์
6.   “วงจรอุบาทว์” รางวัลชนะเลิศ (Best Film)
โดย นายอิฟฟาน ยูโซะ, นายอัจญมัล เริงสมุทร และ นายสิกรี มุเสะ
7.   “สติ” รางวัล Audience Award ซึ่งมาจากการโหวตจากผู้ชม
โดย นายฮาฟิซ หละบิลลา, นายอัฟฟาน ดอลี และ นายอับดุลเราะมาน อาแวกือจิ
8.   “สัมผัสที่อบอุ่น”
โดย นายอับดุลการีม หะมะ, นายอิรฟาน รีดน และ นายเฟอดินันต์ ยือโร๊ะ
9.   “อาลิส”
โดย นางสาวนุรฮายาตี ยูโซ๊ะ, นางสาวไซนับ มามะ และ นางสาวคัสมีนี วานิ
10.  “One More Time” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
โดย นางสาวสุทธิกานต์ พูลทวี, นางสาวสกาวรัตน์ วีรวุฒิไกร และ นางสาวเจ๊ะฟาเดีย เจ๊ะอาแว
โดย 10 หนังสั้นที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการ “ขัดกันฉันมิตร” ปี 2 ได้รับการแพร่ภาพผ่านสถานีโทรทัศน์ Thai PBS และ ฉายในโรงภาพยนตร์ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Cf.Shortfilm

ความคิดเห็น