วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

Plogging นักวิ่งเก็บขยะ ชัยชนะที่มากกว่าชนะใจตนเอง

 25 มิ.ย. 2562 21:58 น.    เข้าชม 4068

      ต้องยอมรับว่าในช่วงระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา กีฬาวิ่งมาราธอนได้กลายเป็นกระแสที่ได้รับนิยมอย่างมากในปี 2561 ที่ผ่านมา มีการจัดวิ่งมาราธอนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คาดเม็ดเงินสะพัดเฉียด 5 พันล้านบาท เมื่อดูสถิติตัวเลขนักวิ่งในไทยจากสถาบันวิจัยประชากร และ สังคมมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าในปี 2560 มีจำนวนกว่า 15 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีอยู่ 12 ล้านคน และ หากเปรียบเทียบจากปี 2545 ปีแรกๆ ที่มีการ รณรงค์ให้มีการวิ่งออกกำลังกายซึ่งพบว่ามีนักวิ่งประมาณ 5.8 ล้านคน จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่านักวิ่งในไทยเพิ่มอย่างก้าวกระโดด โดยก่อนหน้านี้คนที่วิ่งออกกำลังจะนิยมในกลุ่มผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่หลังจากปี 2555 เริ่มมีคนหนุ่มสาวออกมาวิ่งมากขึ้นจากการฉายภาพยนตร์เรื่องรัก 7 ปีดี 7 หน  ทั้งนี้ปัจจัยที่สำคัญมาจากปรากฏการณ์ที่ พี่ตูนบอดี้สแลมวิ่งระดมทุนโครงการก้าวคนละก้าวทั้ง 2 ครั้งจากกรุงเทพฯ-บางสะพาน และ เบตง-แม่สาย รวมถึงกระแสการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียซึ่งประมาณการตัวเลขผู้ที่วิ่งประจำมีอยู่ 10% ของนักวิ่งทั้งหมด
Plogging วิ่งกระแสใหม่ กับจิตสำนึกเพื่อสิ่งแวดล้อม

      นอกเหนือจากกระแสนิยมการวิ่งมาราธอน ที่หมุนเวียนงานวิ่งไปหลายๆ โลเคชั่น ภาพแก้วน้ำที่ถูกโยนทิ้งเป็นขยะ ต้องเสียค่าใช้จ่าย และ เดินทางข้ามจังหวัดในการเข้าร่วมงานวิ่ง ได้เทรนด์ใหม่ของนักวิ่ง ที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องดั้นด้นไปไกล แต่เป็นการวิ่งในชุมชนพื้นที่ของตนเอง และ ช่วยให้สภาพแวดล้อมของชุมชนดีขึ้นได้ด้วย นั่นคือ Plogging เทรนด์ออกกำลังกายด้วยการวิ่งสุดฮิตจากสวีเดน ที่กำลังกระจายไปยังเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก ต้นกำเนิดของ Plogging ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2016 โดยเป็นการรวมกันของ 2 กิจกรรม นั่นคือ การ Jogging และ Plocka Upp เป็นภาษาสวีดิชแปลว่าการเก็บหรือหยิบขึ้นมา (Picking up ในภาษาอังกฤษ) แล้วสิ่งที่เราจะเก็บขึ้นมาระหว่างการจ็อกกิ้งก็คือ “ขยะ” ที่อยู่ตามถนน หรือ ทางที่เราวิ่งผ่านนั่นเอง ด้วยความที่เป็นกิจกรรมแบบใหม่ที่ผสานกับการออกกำลังกาย เมื่อถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย จึงเป็นที่สนใจ และ มีผู้ลองทำตามเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นกระแส Plogging ขึ้นมา

      การวิ่งพลางเก็บขยะไปพลาง เป็นกิจกรรมที่ริเริ่มโดยกลุ่มชื่อ Plogga ก่อตั้งขึ้นโดย Erik Ahlström ชาวสวีเดนที่ดึงเอานักวิ่ง หรือ คนที่ออกกำลังกายให้ช่วยเหลือสังคม และ สิ่งแวดล้อมไปด้วยขณะออกกำลังด้วยการวิ่งไปเก็บขยะไปในระหว่างทาง เมื่อถุงขยะที่เอาไปด้วยเต็ม ก็เอาไปวางไว้ในที่ที่คนเก็บขยะจะไปรวบรวมได้ง่าย ทั้งหมดนี้เพื่อจะช่วยไม่ให้ขยะนั้นล่องลอยไปในที่ต่างๆ จนในที่สุดไปลงเอยในทะเล หรือ มหาสมุทร หรือ เข้าไปฝังตัวตามแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และ แหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ การรวมตัวแบบกลุ่ม Plogga ขยายตัวไปทั่วโลก กิจกรรมของพวกเขาคือ "นักวิ่งเก็บขยะ"
PLOGGING
กับ นักวิ่งถุงแดง Plogger ชายแดนใต้

      กิจกรรม "ก้าวคนละก้าว" ของ ตูน บอดี้สแลม ที่เริ่มวิ่งจากพื้นที่ชายแดนใต้ จากเบตงจังหวัดยะลา ผ่านปัตตานี นราธิวาส สงขลา จนไปถึงเหนือสุดของประเทศไทย เป็นความประทับใจที่ยังอยู่ในใจผู้คนชาวชายแดนใต้ ประกอบการภาพข่าวความน่าสลดใจในการตาย และ การได้รับผลกระทบของสัตว์ทะเลจากขยะพลาสติก ได้ ปรากฏเป็นกิจกรรม "วิ่งเก็บขยะ Plogging Pattani" ขึ้นที่จังหวัดปัตตานี ตามมาด้วยนราธิวาส โดยเหล่าจิตอาสาที่เรียกว่า "นักวิ่งถุงแดง"
      ที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อกลาง ผ่านเฟซบุค Plogging Pattani ซึ่งมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และ ขยายวงจิตอาสามากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆสัปดาห์จะมีการสลับเปลี่ยน ลีดเดอร์ในแต่ละสัปดาห์ไปเรื่อยๆ ลีดเดอร์ หรือ ผู้นำการวิ่งจะเป็นปัจเจกบุคคล มาเป็นคู่ หรือเป็นกลุ่ม ชมรม ประกอบอาชีพใดก็ได้ โดยผู้นำจะโพสต์ประกาศกิจกรรมผ่านเฟซบุ๊คตัวเอง และเพจ Plogging Pattani ซึ่งลีดเดอร์สามารถ กำหนด วัน เวลา สถานที่ ได้เองว่าจะไปวิ่งเก็บขยะที่ไหนอย่างไร

      ในการเก็บขยะทุกคนมาในชุดวิ่งของตัวเอง และ จะได้รับอุปกรณ์สำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ คือ ถุงแดง และ ที่คีบขยะ ซึ่งก็คือ ที่คีบอาหารเวลาทำอาหารปิ้งย่างนั่นเอง เมื่อวิ่งเก็บขยะเสร็จแล้ว จะมารวมตัวกันเพื่อคัดแยกขยะและ รวบรวมไว้ในจุดที่ทาง อบต. จะสามารถมาเก็บขยะได้ สิ่งที่ทำร่วมกัน นอกจากจะเป็นการรักษาความสะอาด เพื่อให้ปัตตานีน่าอยู่ ยังทำให้ผู้วิ่ง และ ผู้พบเห็นตระหนักถึงปัญหาเรื่องขยะมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึก และจิตอาสา ที่ทุกคนมีความสุขกับได้ทั้งออกกำลังกาย และ ได้ร่วมกันเก็บขยะ โดยเรียกรอบกิจกรรมแต่ละครั้งว่าไม้ จากไม้ที่หนึ่งในปี 2560 ปัจจุบันได้ดำเนินมาเป็นไม้ที่ 36 แล้ว เมื่อ 31 มีนาคม 2562

กิจกรรม Plogging Pattani เริ่มต้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ เพราะเชื่อว่าความสม่ำเสมอในการทำกิจกรรมสำคัญมากๆ ที่จะทำให้ตัวกิจกรรมอยู่ต่อไปไม่ล้มหายตายจากไป และ ในวาระครบรอบการทำกิจกรรมเป็นระยะเวลา 8 เดือน ของ Plogging Pattani ในเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้มีการร่วมกันสรุปบทเรียน โดยสามารถสรุปข้อมูลเป็นสถิติได้ดังนี้
- ทำกิจกรรมวิ่งเก็บขยะ 32 ครั้ง จำนวนอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรม 647 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็ก ๆ 43 คน เฉลี่ยจำนวนผู้เข้าร่วม 20 คนต่อครั้ง
- ระยะทางสะสมที่อาสาร่วมกันเกินวิ่ง 1,306 กิโลเมตร (คำนวณจาก ระยะทางโดยประมาณเดินวิ่งไปและกลับ 2 กิโลเมตร คูณด้วยจำนวนคน แต่ในส่วนของครั้งที่ 1 และ 2 ระยะในการวิ่งคือ 2.5 กิโลเมตร)
ในด้านปริมาณขยะทั้งหมดที่เก็บได้ เป็นจำนวน 1,091.4 กิโลกรัม เฉลี่ย 34.1 กิโลกรัมต่อครั้ง โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นสถิติได้ดังนี้
- เก็บขยะได้ 0.84 กิโลกรัม ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ต่อ 1 คน (นำน้ำหนักขยะทั้งหมดที่เก็บได้ หารด้วย ระยะทางสะสมของทุกๆคน)
- เก็บขยะตามระยะแต่ละครั้ง 17.01 กิโลกรัมต่อ 1 กิโลเมตร ต่อ 1 ครั้ง (นำน้ำหนักขยะทั้งหมดที่เก็บได้ (1,091.4) หารด้วยระยะทางจริงที่เราวิ่ง (24 ครั้ง x ครั้งละ 2 กิโลเมตร)

ขยายวงจิตอาสาจากท้องถิ่น สู่ World Plogger
      
จากการที่นักวิ่งของ Plogging Pattani คนหนึ่งได้มีโอกาสย้ายมาทำงานที่นราธิวาส และ เช้าวันหนึ่ง เธอได้มาวิ่งออกกำลังกายที่หาดนราทัศน์ในช่วงเทศกาล หรือ ที่ชาวนราฯ รู้จักกันในฤดูหิมะตก (ขยะขาวโพลน) จึงมีความคิดริเริ่มที่จะขยับขยายกิจกรรมนี้ มา ณ ที่นี้ด้วย จึงได้เกิด Plogging Narathiwat ไม้ที่ 1 ขึ้น เมื่อประมาณปลายปี 2018 โดยมีพันธมิตรหลัก คือ คณะอาจารย์ จาก ม.นราธิวาสราชครินทร์ และน้องๆ นักศึกษาจากหลายๆ คณะ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาส่งต่อไม้ 2, 3, และ 4 ขยายวงจิตอาสาไปเรื่อยๆ จนล่าสุด ไม้ที่ 19 รับต่อเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ในมือของน้องๆ คณะแพทย์ ม.นราธิวาสราชครินทร์ Plogging Narathiwat มีกำหนดนัดหมายกันทุกเช้าวันเสาร์ เวลา 06.30 น. ทุกคนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ มีถุง และ อุปกรณ์คีบขยะได้เลยเตรียมไว้ให้อย่างพอเพียง

      ด้วยการที่ Plogger สองพื้นที่นี้มีความต่อเนื่องของกิจกรรมวิ่งเก็บขยะ ทำให้ Plogging Narathiwat และ Plogging Pattani ต่างได้รับข่าวดีเมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากเว๊ปไซต์ https://www.ploggingworld.org
ได้บรรจุตัวแทนทั้ง 2 จังหวัด ลงใน Plogging ระดับโลก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชาว Plogger ชายแดนใต้ จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมอันเป็นการประกาศหมุดหมายสำคัญ ได้แก่ กิจกรรม " Plogging World Clean Up Day "
โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นการนัดหมายจัดกิจกรรมวิ่งเก็บขยะ Plogging World Clean Up Day ครั้งแรกของโลก และจัดพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยก็จะมีตัวแทน Plogging Pattani และ Ploggging Narathiwat ซึ่งได้รับการยอมรับระดับโลก บรรจุอยู่ใน Plogging World

      Plogging World Clean Up Day จะมีกิจกรรมเดินวิ่งเก็บขยะ เป็นระยะทาง 3 - 4 กิโลเมตร ที่ปัตตานีเริ่มเดินวิ่งจากหน้าด่านศุลกากรไปยังหาดรูสะมิแล และ กลับมาหน้าด่านศุลกากรอีกครั้ง และ ที่นราธิวาสจัดกิจกรรมที่หาดนราทัศน์ เริ่มวิ่งจากจุดทะเลแหวก เขื่อนหินกันคลื่อน โดยจะมีสองประเภทให้ลงทะเบียนกัน คือ 1.ประเภทเดี่ยว 2.ประเภททีม (3 คน) รวมกรณีมาเป็นครอบครัว กติกาคือ ผู้ร่วมกิจกรรมจะต้องวิ่งให้ทันเวลา Cut off เวลา 1:30:00 นาที และ กำหนดลำดับผู้ชนะจากเวลา Cut off และ น้ำหนักขยะ ทั้งนี้เนื่องจากกิจกรรมต้องการลดการใช้พลาสติกเพื่อช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมกิจกรรมจะต้องนำกระบอกน้ำส่วนตัวมาด้วย เปิดรับผู้เข้าร่วมจากทั่วประเทศมาร่วมกันวิ่งเพื่อสุขภาพ และ เพื่อร่วมกันสัมผัส และ รักษาความงดงามของชายแดนใต้ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้ฟรีที่เพจ Plogging Pattani และ Plogging Narathiwat
 

ความคิดเห็น