วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

กาแฟโบราณเบตง ประวัติศาสตร์พื้นถิ่นชุมชนกับป่าฮาลา

 19 ส.ค. 2562 20:08 น.    เข้าชม 6923

      ถ้าเอ่ยถึงแหล่งปลูกกาแฟ เรามักจะนึกถึงดินแดนทางภาคเหนือ แต่ในพื้นที่ภาคใต้ก็มีการปลูกกาแฟไม่น้อยเช่นกัน ตั้งแต่พื้นที่จังหวัดชุมพรลงมา มีการปลูกกาแฟแซมไปกับสวนยาง บางพื้นที่ก็เป็นสวนกาแฟล้วนๆ ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน ในยุคที่ยางราคาตก ชาวบ้านก็เริ่มเปลี่ยนมาปลูกผลไม้ตามกระแสทุเรียนแพงบ้าง ปลูกกาแฟแซมไปกับสวนยางบ้าง แต่หลายคนอาจยังไม่เคยทราบว่าในพื้นที่สูงและอากาศเย็น ขอบพื้นที่ป่าฮาลาบาลาอย่างอำเภอเบตงนั้นมีการปลูกกาแฟมากว่า 70 ปีแล้ว โดยมีเรื่องราวความเป็นมาอันผูกพันกับพื้นป่าฮาลาบาลาและประวัติศาสตร์พื้นถิ่นอย่างแน่นแฟ้น

กาแฟฮาลา โกปี๊เบตง บนฐานสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

      พื้นที่อำเภอเบตง ผู้คนทั้งในเมืองและชุมชนรอบนอกนิยมดื่มกาแฟ ต่างไปจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของชายแดนภาคใต้ที่มักนิยมดื่มชา โดยวัฒนธรรมนี้มาพร้อมกับชาวจีนโพ้นทะเล เอกลักษณ์ของกาแฟโบราณ หรือ โกปี๊ คือรสชาติที่เข้มข้นและกลิ่นที่หอมเป็นเอกลักษณ์ มีความกลมกล่อมทั้ง " หอม ขม และ มัน " นิยมชงโกปีใส่น้ำตาล หรือนมข้นหวาน ตามสไตล์กาแฟโบราณ รสหวานมากเพื่อกลบความขมของเนื้อกาแฟ ในเขตตำบลอัยเยอร์เวงมีสายพันธุ์กาแฟซึ่งปลูกกันมาแต่ดั้งเดิม ชาวบ้านเองก็ไม่สามารถระบุให้แน่ชัดได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใดกันแน่ระหว่าง อาราบิก้า หรือ โรบัสต้า ชาวบ้านมักเรียกกันว่า พันธุ์ฮาลา ตามแหล่งที่นำเอาเมล็ดพันธุ์มาปลูกเป็นครั้งแรก ฮาลาซึ่งเป็นที่มาของชื่อของพันธุ์กาแฟนั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นชื่อของชุมชนดั้งเดิมของชาวมลายู

      ชุมชนฮาลาคืออดีตชุมชนเก่าแก่กลางป่า ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเบตง ปัจจุบันยังหลงเหลือร่องรอยของกลุ่มบ้าน มัสยิด ไร่นา และสุสาน หรือกุโบร์ของชาวมุสลิม กลายเป็นส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ฮาลา บาลา ที่มีอานาเขต พื้นที่กว่า 800,000 ไร่ ที่มีความหลากหลาย สมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด จากชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาหลายร้อยปีต้องกลายเป็นชุมชนร้างเนื่องจากเหตุการณ์การรุกล้ำของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนในป่าลึกฝั่งไทย หมู่บ้านฮาลาก็เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับผลกระทบนี้และพากันอพยพทิ้งถิ่นฐานจากมา พวกเขาเดินทางออกมาด้วยสัมภาระที่พอหยิบฉวยมาได้ และหนึ่งในนั้นก็คือ เมล็ดพันธุ์กาแฟพันธุ์พื้นเมือง เพื่อนำมาขยายพันธุ์ในที่อยู่ใหม่ ซึ่งแทบทุกหลังคาเรือนจะปลูกต้นกาแฟเอาไว้

กาแฟทำมือ ตำครกไม้

      เมื่อว่างจากงานในสวนและงานบ้าน กลุ่มแม่บ้านมักจะมารวมตัวกัน คั่วและตำกาแฟด้วยครกไม้ ไว้สำหรับชงกาแฟโกปี๊ดื่มในครัวเรือน กระบวนการผลิตกาแฟทำมาของชาวบ้านพื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวงรวมไปถึงพื้นที่อื่นๆ ในอำเภอเบตง เป็นกระบวนการทำมือในทุกขั้นตอน เริ่มจากการนำเมล็ดกาแฟที่แก่จัดมาคั่วด้วยเตาถ่าน ควบคุมไฟให้สม่ำเสมอ คั่วจนได้ที่ค่อยยกลงมาพักไว้ ระหว่างนั้นนำน้ำตาลทรายแดงและน้ำตาลอ้อยตั้งไฟคนให้ละลายจนกลายเป็นตังเม แล้วค่อยใส่เมล็ดกาแฟเข้าไป คนให้เข้ากัน พักทิ้งไว้จนแห้ง ก่อนจะนำมาตำด้วยครกไม้โบราณให้ละเอียดและร่อนจนได้ผงกาแฟ สามารถนำไปชงในน้ำร้อนดื่มได้ทันทีมีรสหวานเล็กน้อยในตัวเอง

      ชุมชนอัยเยอร์เวงนั้นปัจจุบันเริ่มมีรายได้ที่มั่นคงจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม เกิดการพัฒนาคน พัฒนางานในท้องถิ่น หนึ่งในชุมชนเหล่านั้นได้แก่ บ้านกม.36 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ชุมชนไทยมุสลิมที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมไหล่เขาติดถนนสาย 410 เบตง-ยะลา รกรากเดิมอยู่กลาง " ผืนป่าฮาลา-บาลา " ขณะนี้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในพื้นที่ได้รับการโปรโมทเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ที่ผู้คนนิยมขึ้นมาเฝ้าชมตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง " โกปีฮาลา " ที่ชาวบ้านนำมาขายริมทาง กลายเป็นตัวเลือกหนึ่ง มักจะถูกลูกค้าทั้งขาประจำและขาจรสั่งมาจิบโต้ลมหนาวท่ามกลางอุณหภูมิ 20 องศาต้นๆ บนยอดเขาสูง เข้าบรรยากาศได้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในการตำกาแฟด้วยครกไม้ และซื้อหาผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปของชุมชนติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากได้

กาแฟคราฟต์เบตง

      นอกจากตำบลอัยเวอร์เวงแล้ว พื้นที่อื่นๆ ของอำเภอเบตงก็มีอีกหลายแบรนด์กาแฟของดินแดนสุดแดนสยามแห่งนี้ ซึ่งกาแฟโบราณหรือโกปี๊เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 มีการปลูกกาแฟกันมากก่อนที่พืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวยางพาราจะคืบคลานเข้ามายึดพื้นที่ ต้นกาแฟถูกโค่นค่อยๆ หายไป จนขาดแคลนเมล็ดกาแฟ และในปัจจุบันได้รับการส่งเสริมให้หวนวิถีกาแฟกลับมาใหม่ โดยกรรมวิธีการผลิตยังคงแบบเดิมทุกขั้นตอน ในเทศบาลเมืองเบตง มีกลุ่มผู้ผลิตโกปี๊ในนามกลุ่มผู้ผลิต โกปี๊วังเก่า อยู่ 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มกาแปะกอตอใน กลุ่มกาแฟฮางุด และกลุ่มนารีพัฒนา ในจำนวนนี้กลุ่มกาแปะกอตอในดูจะมีแต้มต่อที่นอกเหนือจากกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม นั่นคือเรื่องราวที่เป็นฉากหลังของชุมชนอายุหลายร้อยปี       โดยมีการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในโครงการการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนากลุ่มผลิตโกปี๊ (กาแฟโบราณ) อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (ABC) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อแก้ปัญหาใน 3 ด้าน คือ การส่งเสริมการผลิตวัตวัตถุดิบในท้องถิ่น การจัดการกลุ่มให้เข้มแข็ง และการจัดการด้านธุรกิจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้ยั่งยืน โดยใช้องค์ความรู้ที่เป็นทุนเดิมของชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาคน พัฒนางานที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ไม่ใช่แค่การเสริมรายได้ แต่ยังหมายถึง ‘สันติสุข’ ที่ทุกคนปรารถนา

ความคิดเห็น