วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

ชันโรงบูโด ยี่งอ จากธรรมชาติ สู่เศรษฐกิจชุมชนและระบบนิเวศน์

 19 ส.ค. 2562 20:38 น.    เข้าชม 9314

      ผึ้งชันโรง (stingless bee) เป็นผึ้งชนิดหนึ่งไม่มีเหล็กไน ซึ่งมีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย เป็นแมลงตัวเล็กๆที่ให้ประโยชน์มากมายเกินตัว และเป็นแมลงที่ปรับตัวได้เก่ง โดยส่วนใหญ่จะอาศัยตามโพรงต้นไม้ โพรงใต้ดิน และไม่ชอบย้ายที่อยู่อาศัย และน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งชันโรงนั้นมีราคาที่สูงกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งทั่วไป เพราะเชื่อว่าน้ำผึ้งที่ได้จากชันโรงมีสรรพคุณทางยา เหนือกว่าน้ำผึ้งทั่วไปด้วยความเข้มข้น เนื่องจากสรีระของผึ้งชันโรงมีความต่างจากผึ้งธรรมดา นับเป็นยอดนักผสมเกสร เนื่องจากชันโรงไม่มีนิสัยรังเกียจของเก่าหรือของใช้แล้ว ชันโรงจะตอมดอกไม้ได้ทุกดอกแม้ว่าดอกไม้นั้นจะเคยถูกแมลงผสมเกสรตัวอื่นมาตอมแล้ว และทิ้งกลิ่นไว้ก็ตามในขณะที่ผึ้งจะไม่ตอมดอกไม้ที่มีกลิ่นของผึ้งชนิดอื่นหรือรังอื่นลงตอมไว้ก่อนเลย       ชันโรงเป็นแมลงที่ชอบเก็บเกสรมีพฤติกรรมตอมดอกไม้ที่ละเอียดนุ่มนวลจึงผสมเกสรได้ดีแตกต่างจากผึ้งบางชนิดที่เลือกดูดแต่น้ำหวานไม่สนใจเกสร ทำให้การถ่ายละอองเกสรเพื่อการผสมเกสรเกิดได้น้อยอุปนิสัยการแสวงหาและสะสมอาหารของชันโรง ชันโรงไม่กินน้ำ แต่กินเกสรและน้ำหวานจากดอกไม้ ผลไม้ พืชสมุนไพร เวลาที่ชันโรงตอมดอกไม้จะเก็บเกี่ยวเกสรจากดอกไม้ไป80 % เก็บน้ำหวานจากเกสรไป20 %แตกต่างจากผึ้งทั่วไปที่จะเก็บเกี่ยวน้ำหวานไป80% เก็บเกสรไปเพียง20 % ทำให้น้ำผึ้งและชัน หรือ พรอพอลิส ของชันโรงมีสารพฤกษเคมีหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีผลในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรค เพิ่มภูมิคุ้มกัน จึงทำให้น้ำผึ้งชันโรง เป็นน้ำผึ้งที่อุดมคุณค่าทางอาหารและยา มากกว่าน้ำหวานจากผึ้งทั่วไป กลุ่มผู้เลี้ยงชันโรงเพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมอาชีพแบบวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

      วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงชันโรงเพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมอาชีพแบบวิธีเศรษฐกิจพอเพียง ต.ยี่งอ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ริเริ่มขึ้นโดย นายมูหัมมัดซัมซูดิน เซ็นมาด ชาวอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส  จากจุดเริ่มต้นที่เห็นชันโรงตามธรรมชาติอาศัยอยู่ในกล่องเก็บข้างบ้าน  จึงเกิดความคิดที่จะเลี้ยง เริ่มจากเพื่ออนุรักษ์จน ทำเป็นอาชีพเสริมรายได้ โดยเริ่มศึกษาความรู้เกี่ยวกับชันโรง พร้อมกับทดลองเลี้ยงและขยายผลเพิ่มขึ้น สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่เลี้ยงชันโรง ควบคู่กับสวนลองกองซึ่งแซมด้วยกาแฟ โดยมีพื้นที่ปลูกลองกอง จำนวน 1 ไร่ ชันโรง 40 กล่อง สามารถสร้างรายได้ปีละ 300,000 บาท เกิดการจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงสมาชิก 45 ราย พื้นที่ 50 ไร่ จำนวน 250 กล่อง  เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

      เมื่อชุมชนเกิดความสนใจเลี้ยงชันโรงมากขึ้น และหันมาลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ทำให้ระบบนิเวศในชุมชนค่อย ๆ กลับมามีความสมดุล เนื่องจากหน้าที่สำคัญของชันโรงในระบบนิเวศ คือการผสมเกสรดอกไม้ของพืช และแน่นอนว่าชันโรงจะอยู่รอดได้ย่อมต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดจากสารเคมีอันตราย การเลี้ยงผึ้งชันโรงจึงสามารถตอบโจทย์ความสมบูรณ์แบบของการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ตอบโจทย์ความเป็นอินทรีย์อย่างแท้จริงและพื้นที่ข้างเคียงได้รับผลประโยชน์ไปด้วย ชุมชนของชันโรงจึงกลายดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

Young Smart Farmer ผู้ไม่หยุดนิ่ง

      นายมูหัมมัดซัมซูดิน เซ็นมาด หรือ แบดินประธานกลุ่มชันโรงบูโด ยี่งอ ได้ก้าวสู่การเป็น Young Smart Farmer จากการเป็นตัวแทนของอำเภอ ผ่านเวทีพัฒนาศักยภาพและเปลี่ยนเรียนรู้ ของกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดโอกาสสร้างเครือข่ายด้านการเกษตร  สามารถสร้างวิทยากรถ่ายทอดความรู้ แหล่งศึกษาดูงาน และเป็นต้นแบบ พัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการ และมีโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (early-stage) 2562 ผลิตสินค้าภายใต้ลิขสิทธิ์ "ชันโรงบูโด ยี่งอ"  อีกทั้งในอนาคตมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย มองตลาดที่เน้นเรื่องสุขภาพและความงาม       ปัจจุบัน ได้เกิด เครือข่ายผึ้งโพรงและชันโรงภาคใต้ มีการจัดตั้งธนาคารผึ้งและชันโรงขึ้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งแบดินได้มีโอกาสเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้บอกเล่าความตั้งใจในการทำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงชันโรงให้ทุกคนในงานเสวนาเครือข่ายผู้เลี้ยงผึ้งและชันโรงในระดับภาคใต้ ได้ฟังอย่างน่าสนใจ “อำเภอยี่งอเป็นปลายน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาบูโด การช่วยกันอนุรักษ์ดูแลจึงเป็นหน้าที่สำคัญที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น การเลี้ยงผึ้งและชันโรงไม่ใช่แค่การสร้างมูลค่าในมุมที่เพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวแต่ส่วนสำคัญที่สุดนั้นเพื่อการอนุรักษ์และเชื่อมความสัมพันธ์สามัคคีกันในเครือญาติพี่น้องและคนในชุมชนให้รักใคร่เข้าใจกัน เป็นเครื่องมือสำคัญให้คนมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน น้ำผึ้งที่ว่ากันว่าใช้เป็นยารักษาโรคบางชนิดได้ก็สามารถใช้มันในการเยียวยาโรคบางโรคของสังคมได้ด้ว

      ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรงแท้ 100 % ภายใต้ลิขสิทธิ์ ยี่ห้อ “ชันโรงบูโด ยี่งอ” เป็นผลผลิตจากชันโรงสายพันธุ์ อิตาม่า (Heterotrigona itama) ซึ่งให้รสชาติ เปรี้ยวอมหวาน ส่วนน้ำผึ้งชันโรงรสชาติหวานอมเปรี้ยว มาจากสายพันธุ์ขนเงิน (Tetragonula fuscobalteata variety pagdeni) ในขนาดบรรจุ 150 มิลลิลิตร และ 45 มิลลิลตร มีจำหน่ายทางเพจเฟซบุค ชันโรงบูโด ยี่งอ หรือ Line ID:Chanrong budo ส่งถึงบ้านทุกท่าน พร้อมมีบริการหลังการขาย ใส่ใจติดตามให้ความรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์และวิธีการบริโภค รวมถึงปัญหาการบรรจุขนส่งที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์และการบริการ

ความคิดเห็น