วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

ทำไมเมืองยะลาถึงมีผังเมืองที่ดีติดอันดับโลก

 19 ส.ค. 2562 20:53 น.    เข้าชม 19308

      “ใต้สุดแดนสยาม เมืองงามชายแดน” บ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดยะลาได้เป็นอย่างดี ความงามประการแรกที่ใครหลาย ๆ คนคำนึงถึง คงไม่พ้นเมืองที่มีผังสวยที่สุดของประเทศไทย จากการที่เทศบาลนครยะลาได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทย ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการพิจารณาในส่วนของโซนเอเชียและแปซิฟิค เมื่อปี พ.ศ.2546 จนผ่านการตัดสินชนะเลิศจากกรรมการตัดสินชุดใหญ่ของ UNESCO ได้รับรางวัล UNESCO Cities และมีเว็บไซต์ชื่อดัง จัดอันดับ "ยะลา" ให้เป็นผังเมืองที่ดีที่สุด อันดับที่ 23 ของโลกในปี 2560

      การวางแผนผังเมืองมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นเครื่องมือหนึ่งในฐานะกฎหมายที่มีบทบาทในการกำหนดประเภทการที่ดินและกิจกรรมต่าง ๆของมนุษย์ และเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาในอนาคตอีกด้วย หากไม่มีการวางผังเมืองก็จะทาให้เกิดปัญหาต่างๆ กับเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเจริญเติบโตอย่างไร้ทิศทางของเมือง ปัญหาชุมชมแออัด ปัญหาทางด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาการป้องกันภัยธรรมชาติ และยังยากต่อการวางแผนนโยบายการพัฒนาต่อยอด เมืองในอนาคตอีกด้วย

วางผังเมืองก่อนจะเป็นเมือง

      เมืองยะลา เป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองใหญ่ในประเทศไทยที่มีการวางผังเมืองตั้งแต่ก่อนเริ่มก่อร่างสร้างเมือง สมัยที่ชุมชนเมืองยะลายังเป็นชุมชนขนาดเล็กเกาะตัวอยู่ใกล้สถานีรถไฟ รายล้อมด้วยสวนยางและป่าไม้ การตัดถนนจึงดำเนินการไปในพื้นที่สวนและป่าเป็นส่วนใหญ่ จุดเริ่มต้นของการวางผังเมืองยะลา การวางผังเมืองยะลานั้นริเริ่มโดยพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) อดีตข้าหลวงคนที่ 10 ของจังหวัดยะลา (พ.ศ.2456-2458) ซึ่งเมื่อลาออกจากราชการแล้วได้รับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองยะลาถึงสองสมัย (พ.ศ.2480-2488)

      พระรัฐกิจวิจารณ์ได้ร่วมกับสหาย ข้าราชการ วางผังเมืองยะลาโดยได้รับการเสนอแนะจากแผนกผังเมือง กรมโยธาเทศบาล วางผังเมือง ยะลา โดยเรียกว่า ผังเค้าโครงเมืองยะลา ปี 2485 โดยพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) มีการวางแผนการกำหนดพื้นที่การใช้ที่ดินในเขตเมือง และการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ภายในเมือง ในการริเริ่มดำเนินงาน พระรัฐกิจวิจารณ์และสหายข้าราชการ ได้ร่วมกันหาศูนย์กลางของเมืองแล้วจึงปักหลักก้อนใหญ่และมีก้อนหินไว้เป็นเครื่องหมาย ซึ่งภายหลังได้เป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง และได้วางแผนผังเมืองเป็น วงเวียนรอบศูนย์กลางเมือง ทั้งสิ้น 3 วง โดยเตรียมที่ดินในบริเวณนี้ไว้เป็นสถานที่ราชการ คือ บริเวณวงในสุด เป็นสถานที่ราชการต่าง ๆ เช่น ศาลากลาง จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานที่ดิน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วงเวียนที่สอง คือ บ้านพักข้าราชการ และวงเวียนที่สาม ซึ่งเป็นวงเวียนสุดท้ายเป็นที่ตั้งของ โรงเรียน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัยของประชาชน

      มีการสร้างถนนเข้ามายังศูนย์กลางเมืองที่เรียกว่า กิโลศูนย์ และตัดถนนสายต่าง ๆ กว่าทั่วทั้งเมืองยะลา ถนนพิพิธภักดี เริ่มจากสถานีรถไฟยะลาไปยังกิโลศูนย์ ถนนสุขยางค์ จากหอนาฬิกาไปถึงกิโลศูนย์ ถนนสิโรรสจากสถานีรถไฟยะลาถึงหน้าโรงพยาบาล ปัจจุบันถนนพิพิธภักดีและถนนสิโรรสเป็นถนนสายเอกของเทศบาลเมือง มีความสวยงาม ถนนพิพิธภักดี ซึ่งเป็นถนนคู่ มีทางเดินเท้าและช่องทางจักยาน และปลูกต้นประดู่เรียงรายไว้ตามเกาะกลาง และมีการตัดถนนสายย่อย ๆเป็นรูปสี่เหลี่ยมหมากรุก ได้แก่ ถนนยะลา ถนนไชยจรัส ถนนรัฐกิจ ถนนประจิน ถนนพังงา และถนนรวมมิตร เป็นต้น การตัดถนนเหล่านี้ได้ยึดหลักเกณฑ์ที่ว่าในการวางผังเมืองและตัดถนนได้แบ่งตัดซอยให้หลังบ้านชนกันแต่ห่าง 4 เมตร สำหรับเป็นที่วางขยะ ถังขยะและสะดวกต่อการดับเพลิง

กำหนดรูปแบบการใช้ที่ดินไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม

      ผังเค้าโครงเมืองยะลา ปี 85 โดยพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) ซึ่งถือว่าเป็นการวางแผนผังเมืองยุคแรกๆ ของประเทศไทยนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า พระรัฐกิจวิจารณ์ ไม่ได้เน้นเพียงแค่รูปแบบที่มีความสวยงามของ ผังเมืองเท่านั้น แต่ยังได้จัดสรร จัดประเภทการใช้ที่ดินเข้าเป็นหมวดหมู่เดียวกัน โยการกำหนดรูปแบบและการใช้ที่ดินในเมืองยะลา แบ่งไว้อย่างชัดเจน เป็น 6 ประเภท ซึ่งเป็นแนวทางในการต่อยอดพัฒนาเมืองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

      ประเภทที่ 1 พื้นที่สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ พื้นที่สถาบันราชการของเมืองยะลานั้นจะวางอยู่บริเวณศาลหลักเมือง และวงเวียนหลักทั้งสามวงเวียน และถนนสิโรรส

      ประเภทที่ 2 พื้นที่โล่งและนันทนาการ และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เมืองยะลานั้นได้รับสมญานามว่า เมืองแห่งสวน ซึ่งทั่วทั้งเมืองยะลา ประกอบด้วยสวนและนันทนาการต่าง ๆ ดังนี้

- สวนขวัญเมือง (พรุบาโกย) สร้างบนพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 207 ไร่ ประกอบด้วย สวน สนามกีฬา สนามแข่งขันนกเขาชวาเสียง ซึ่งเป็นสนามมาตรฐานที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และชายหาดจำลอง

- สวนศรีเมือง เป็นสวนที่สร้างเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และคันกั้นน้าริมแม่น้ำปัตตานี เริ่มต้นจาก บริเวณตลาดเมืองใหม่ถึงบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟ เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร สร้างแล้ว เสร็จปี พ.ศ. 2546

- สวนสาธารณะบ้านร่ม แหล่งพักผ่อนหย่อนใจริมน้ำบ้านสะเตง เป็นอีกหนึ่งสวนสาธารณะใจกลาง เมืองของเทศบาลนครยะลา ประกอบด้วยต้นไม้นานาพรรณและศาลาริมน้ำรูปทรงที่มีเอกลักษณ์ของ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

- สวนสาธารณะสนามช้างเผือก (สนามโรงพิธีช้างเผือก) มีพื้นที่ 80 ไร่ เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายช้างเผือก "พระเศวตสุรคชาธาร" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2511 ภายในสวนสาธารณะมีศาลากลางน้ำ รูปปั้นสัตว์ต่าง ๆ และสนามกีฬาในร่มขนาดใหญ่ที่ใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ

- สวนมิ่งเมือง สวนกิจกรรมเพื่อเยาวชนประกอบไปด้วยสวนย่อย ๆ 4 สวน ได้แก่ สวนมิ่งเมือง หรือ บาโร๊ะบารู 1-4 สวนสาธารณะมิ่งเมืองมีความยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร โดยสวนมิ่งเมือง 4 เป็นสวนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ภายในสวนประกอบด้วย สนามฟุตบอลหญ้าเทียม และสนามเด็กเล่น

- ศูนย์เยาวชนยะลา ประกอบไปด้วยสนามขนาดใหญ่เพื่อใช้รองรับการจัดงานสำคัญๆระดับจังหวัด ซึ่งในยามปกติชาวเมืองยะลาจะใช้เล่นฟุตบอล ออกกำลังกาย และยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ฟิตเนสของเทศบาล นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK PARK YALA) ซึ่งเป็นอุทยานการเรียนรู้แห่งแรกในส่วนภูมิภาค

- สนามกีฬาชุมชนจารู เป็นที่ตั้งของสนามฟุตบอลหญ้าเทียมขนาดมาตรฐานแห่งเดียวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีสเตเดียม ถือว่าเป็นสนามกีฬาที่มีความพร้อมในการจัดการแข่งขันกีฬาทั้งในระดับจังหวัด และภูมิภาค

- บึงแบเมาะ บึงแบเมาะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณชุมชนตลาดเก่า ติดกับเขาตูม และค่าย สิรินธร บึงแบเมาะถือว่าเป็นบึงที่มีความสำคัญของเมือง ในฐานะเป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำขนาด ใหญ่ และนอกจากนี้ทางเทศบาลยังมีนโยบายพัฒนาบึงให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และนันทนาการ

      ประเภทที่ 3 พื้นที่พาณิชยกรรม ตั้งรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน โดยมีถนนสายสำคัญๆ ของเมืองล้อมรอบ ได้แก่ ถนนสิโรรส ถนนพิพิธภักดี ถนนสุขยางค์ โดยชาวยะลามักเรียกพื้นที่พาณิชยกรรมว่า “สายกลาง” นอกจากนี้ เมืองยะลายังมีตลาดขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง ได้แก่ ตลาดเมืองใหม่ ตลาด สดผังเมืองสี่ ตลาดนัดเสรี ตลาดเช้า และตลาดหลังสถานีรถไฟบริเวณถนนวิฑูรอุทิศ ย่านตลาดเก่ากระจายอยู่ทั่วทุกมุมเมือง

      ประเภทที่ 4 พื้นที่ที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมือง ซึ่งประชากรจะอาศัยอยู่ หนาแน่นบริเวณเขตพาณิชยกรรม และลดลงเรื่อยๆ จนกระทั้งกระทั้งเข้าพื้นที่เมืองสะเตงนอก โดยพื้นที่ ประชากรหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) จะล้อมรอบพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม)

      ประเภทที่ 5 พื้นที่เกษตรกรรม อยู่บริเวณขอบนอกของเมือง และประเภทที่ 6 พื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ตลาดเก่า และถนน เทศบาล 1 โดยพื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้านั้นพบได้น้อยมากในเขตเมืองยะลา

      จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของการวางผังเมืองยะลาคือ การจัดการวางแผนผังเมืองตั้งแต่ก่อนการเป็นเมืองทำให้เมืองยะลา ง่ายต่อการวางแผนนโยบายการพัฒนาเมือง และระบบบริการสาธารณูปโภคที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวเมืองยะลา บรรยากาศของเมืองมีความรื่นรมย์สวยงาม มีการให้ความสำคัญกับสวนในลักษณะอุทยานนคร ซึ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งมากในวิสัยทัศน์อันยาวไกล และเป็นคุณูปการในการพัฒนาต่อยอดเมืองยะลา ได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ความคิดเห็น