วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

บาติก เดอ นารา บนเส้นทางพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ชายแดนใต้

 19 ส.ค. 2562 21:10 น.    เข้าชม 7138

      ผ้าบาติก หรือ ผ้าปาเต๊ะ เป็นผ้าชนิดหนึ่งที่ผลิตโดยการใช้เทียนหรือวัสดุอื่นปิดเนื้อผ้าในส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี หรือว่ามันเป็นจุดเล็กๆ ก็ได้ แล้วใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการ ให้สีติดลงไปบนผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายที่สวยงามตามต้องการ ในปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอนว่าผ้าบาติกมีต้นกำเนิดมาจากที่ใด เพราะพบทั้ง อียิปต์ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็พบในอินโดนีเซีย มาเลเซีย นับเป็นวัฒนธรรมร่วมแทบทั่วโลก แต่วัฒนธรรมผ้าบาติกนั้นเป็นศิลปะดั้งเดิมของอินโดนีเซีย มีเทคนิคแตกต่างและสูงกว่าที่อื่น คาดว่าน่าจะมีมาก่อนที่วัฒนธรรมอินเดียจะเข้าไปถึงอินโดนีเซีย

      การเข้ามาของผ้าบาติก จากข้อมูลของนักวิชาการในพื้นที่ ระบุว่า เริ่มจากช่างไทยที่สุไหงโก-ลก นราธิวาส ไปเรียนรู้วิธีการทำผ้าบาติกของมาเลเซีย แล้วกลับมาตั้งโรงงาน และเผยแพร่ผ้าบาติกให้เป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นอาชีพมาจนถึงปัจจุบัน โดยสีสันลวดลายผ้าก็จะเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ ลักษณะเด่นของผ้าบาติกคือ ลายจะเต็มผืน เพราะกฎเกณฑ์ความงามของอินโดนีเซียคือ รังเกียจพื้นที่ว่าง ส่วนผ้าบาติกของไทยก็ส่วนใหญ่เป็นแบบเขียนเทียนมากกว่าแบบปั๊มลายหรือพิมพ์ลาย มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ต่างกันไป อย่าง ภูเก็ตจะวาดลายทะเล ธรรมชาติ ฝั่งจังหวัดอันดามันลายจะใหญ่ดอกดวงชัด ส่วนงานผ้าบาติกใน สามจังหวัดชายแดนใต้ลายจะเล็กและละเอียด

บาติก เดอ นารา จังหวัดปัตตานี

      คุณรอวียะ หะยียามา ผู้หลงไหลในความงามของผ้าบาติก และเห็นโอกาสทางธุรกิจ ตัดสินใจลาออกจากงานในเมืองกรุง กลับบ้านเกิดปัตตานี และบุกเบิก บาติก เดอ นารา ขึ้นโดยมีสถานที่ผลิตอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส และมีหน้าร้านอยู่ที่ปัตตานี สร้างสรรค์ผ้าบาติกโดยยังคงใช้เทคนิคการเขียนผ้าด้วยมือทั้งผืน ที่ปัจจุบันแทบจะหายากมีแต่ใช้เครื่องจักรในการผลิตทั้งนั้น เป็นผ้าที่ใช้ความง่ายและงดงามตามแบบฉบับของบาติก เดอ นารา เนื้อผ้าพลิ้วไหว เหมาะสมกับการใช้สวมใส่ จากจุดเริ่มต้นที่เน้นผลิตจำนวนมากเพื่อเจาะตลาดทั่วไป จนกระทั่งคลี่คลายไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งในแง่งานศิลปะและวัตถุดิบ โดยเลือกใช้ผ้าไหมที่มีความพลิ้วเบา สัมผัสนิ่มลื่น ลดความสดของสีให้ออกมาเป็นโทนพาสเทลหรือเอิร์ธโทน และเพิ่มเรื่องราวอันเป็นอัตลักษณ์ตามบริบทของพื้นที่ ได้แก่ แรงบันดาลใจจากเรือกอและ หรือจากท้องทะเล ออกมาเป็นคอลเล็คชั่นต่างๆ

      แม้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จะมีผลต่อการที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเข้ามาถึงตัวสินค้า แต่ทางคุณรอวียะเองกลับไม่นั่งรอโอกาส แต่เลือกที่จะวิ่งเข้าหาโอกาสโดยใช้การเข้าร่วมการออกบูธในงานแสดงสินค้าต่างๆ เช่นงานแสดงสินค้าโอท็อป และเข้าร่วมการเข้าอบรมเวิร์กช็อปตามโครงการต่างๆ ของกรมส่งเสริมการส่งออก ทำให้ได้เรียนรู้แนวโน้มเทรนด์สี เทรนด์แฟชั่น การทำตลาดและสร้างแบรนด์จากผู้เชี่ยวชาญและดีไซเนอร์ โดยได้นำผลิตภัณฑ์ไปร่วมเดินแบบในงานแสดงสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง (Bangkok International Fashion Fair and Bangkok International Leather Fair หรือ BIFF&BIL) ติดต่อกัน 2 ปี ทำให้เริ่มมีลูกค้าต่างประเทศเข้ามา ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์และแคนาดา ซึ่งสามารถให้ราคาได้ค่อนข้างสูงจากการมีโอกาสได้ออกบูธกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศครั้งแรก ที่งานโตเกียว กิฟต์ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เธอได้พบกับคู่ค้าชาวญี่ปุ่นคนสำคัญซึ่งเป็นเจ้าของ Gallery hechi แกลลอรี่ขายสินค้าหัตถกรรมคุณภาพสูง ที่มีความชื่นชอบในลวดลายบนคอลเล็คชั่นผ้าพันคอของบาติกเดอ นารา จึงต้องการให้เธอนำลวดลายไปวาดลงบนผ้าไหมญี่ปุ่น สำหรับนำไปตัดเป็นชุดกิโมโน

พัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล

      ในปี 2561 บาติกเดอนารา เป็น 1 ใน 24 ผู้ประกอบการจากชายแดนใต้ ที่ได้เข้าร่วม งาน Contemporary Southern Batik by OCAC เป็นการแสดงผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายจากโครงการ “ผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้” ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีโอกาสได้ร่วมงานกับนักออกแบบเครื่องแต่งกาย โดยมีการลงพื้นที่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเพื่อไปพบปะพูดคุยและแชร์ไอเดียกับกลุ่มผู้ผลิตผ้าบาติก จากนั้นครั้งที่สองได้ลงพื้นที่เพื่อผลิตลวดลายใหม่ในชุมชน ซึ่งการเข้าถึงถิ่นทำให้นักออกแบบเห็นรายละเอียดที่สามารถนำมาใช้ในการออกแบบลวดลาย จนเกิดเป็นผลงานเผยโฉมครั้งแรกในงาน แอล แฟชั่น วีก 2018

      ปี 2562 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากลขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้และชุมชนทางวัฒนธรรม เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวผ่านมิติ ‘ผ้าไทย’ รวมไปถึงส่งเสริม ‘ศิลปินพื้นบ้าน’ และ ‘เครือข่ายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการทอผ้าไทย’ ได้เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมบนรากฐานของวัฒนธรรมในชุมชนให้อยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน 

      คอลเลคชั่น ‘จากแดนไกล’ ออกแบบโดย อู๋-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ Wisharawishความน่าสนใจของคอลเลคชั่นนี้อยู่ที่การนำ ผ้าไทย มาต่อยอดด้วยการออกแบบให้เป็นเครื่องแต่งกายที่มี ‘ความร่วมสมัย’ คือแพทเทิร์นที่ดูสบาย เน้นความเรียบง่าย สวมใส่ได้หลายโอกาส เพื่อให้ผ้าไทยไม่เป็นเพียงมรดกล้ำค่าที่เก็บไว้ในตู้ ทำงานร่วมกับ 7 ชุมชนผ้าทอไทย ต่อยอด ‘ผ้าทอผืน’ โดยนำมาออกแบบตัดเย็บเป็นแฟชั่นร่วมสมัยในคอลเลคชั่นชื่อ ‘จากแดนไกล’ พร้อมมอบแพทเทิร์นให้แต่ละชุมชนไว้ตัดเย็บเพื่อการจำหน่ายโดยตรง

ต่อยอด ส่งเสริม เพื่อสืบสาน

      ผ้าบาติกจากบาติก เดอ นารา ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 7 ผ้าไทยที่เข้าร่วมโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล (Taproot Thai Textiles) จึงเป็นความภาคภูมิใจของรอวียะเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังได้รับเลือกให้ใช้ตัดเย็บในงาน Amazon Fashion Week ณ กรุงโตเกียว โดยไปทดลองโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น ผลปรากฎว่า บาติก เดอ นารา ได้รับออร์เดอร์สั่งทำผ้าบาติกลายนี้เพื่อไปตัดเย็บเป็นกิโมโน และฝรั่งเศสสั่งไปตัดเย็บเป็นชุดใส่ตามรีสอร์ตเมืองชายทะเล

      20 ปีบนเส้นทางของบาติก เดอ นารา ยังมุ่งหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งเสริมเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่น แม้ แบรนด์จะโกอินเตอร์ไปแล้ว แต่คุณรอวียะยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดผ้าบาติกให้เข้าถึงทุกคน โดยจะผลิตแพ็กเกจทำบาติกแบบดีไอวายส่งขายไปทั่วประเทศ และปรับเปลี่ยนเนื้อผ้าให้เหมาะสมกับคนในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการต่อยอดสินค้าและสืบสานภูมิปัญญาของชายแดนใต้ให้อยู่ต่อไป

ความคิดเห็น