วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

พลิกฟื้นนาร้าง ปลูกข้าวประจำถิ่นตากใบ ข้าวหอมกระดังงา

 19 ส.ค. 2562 21:31 น.    เข้าชม 6041

“…ข้าวต้องปลูกเพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ

เราต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชากรคนไทยไม่ยอม คนไทยต้องมีข้าว

แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทย จะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก..”

      พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ผู้ตามเสด็จและผู้เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการโคกกูแว ตำบล พร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อ ปี พ.ศ. 2536

ข้าวหอมกระดังงา อัตลักษณ์ตากใบ นราธิวาส

      จากการสํารวจความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรในจ.นราธิวาสเพื่อรองรับการดําเนินงานในโครงการฟื้นฟูนาร้างเพื่อการปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยศูนย์วิจัยข้าวปัตตานีในปีพ.ศ.2551 พบว่าข้าวพันธุ์หอมกระดังงาเป็นพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรมีความต้องการเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์เพื่อนํามาปลูกมากที่สุด ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานีได้เก็บรวบรวมพันธุ์จากแหล่งปลูกต่างๆ ในอ.ตากใบ ได้แก่ ตำบลพร่อน ศาลาใหม่ บางขุนทองโฆษิต และเจ๊ะเห จํานวน 200 รวง มาปลูกศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์ ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวนาน้ำฝน และโครงการวิจัยการคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ข้าวหอมพันธุ์พื้นเมือง คัดเลือกเหลือเพียงสายพันธุ์ PTNC09002-59 ซึ่งเก็บตัวอย่างมาจากต.พร่อน อ.ตากใบ

      ข้าวพันธุ์หอมกระดังงา เป็นพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นเมืองที่มีการปลูกในจังหวัดนราธิวาสมาอย่างยาวนาน พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ที่อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยจุดเด่นของข้าวพันธุ์นี้นอกจากจะมีกลิ่นหอมคล้ายดอกกระดังงา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ หอมตั้งแต่ออกรวงจนกระทั่งนำไปหุง เมล็ดข้าวมีสีน้ำตาลเข้ม รูปร่างชาวรี ข้าวกล้องมีสีแดงและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ปริมาณโปรตีน ธาตุเหล็กและสารต้านอนุมูลอิสระมากในข้าวกล้อง ข้าวกล้องงอกมีปริมาณไขมัน สังกะสี แคลเซียม สาร GABA และสารกลุ่มวิตามินอีกมาก เป็นที่นิยมของกลุ่มผู้บริโภคข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวซ้อมมือเมื่อหุงสุกมีความนุ่มและหอม ส่วนข้าวกล้องเมื่อหุงสุกมีความร่วนแต่ไม่แข็งและมีกลิ่นหอม

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางขุนทองพัฒนา (โคกงู)

      ด้วยลักษณะพิเศษของข้าวหอมกระดังงา ในอดีตชาวบ้านจึงนิยมปลูกไว้เพื่อหุงนำไปถวายพระสงฆ์ในโอกาสสำคัญต่างๆ นอกจากนี้ยังสงวนไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง แต่เมื่อเหลือก็ไม่ได้เอาไปขายที่ไหนเพราะทุกบ้านก็ทำนาเหมือนกันหมด ตลาดข้างนอกก็ยังไม่มี จากนั้นเมื่อมีหน่วยงานต่างๆเข้ามาแนะนำไม่ว่าจะเป็นพัฒนากรอำเภอ เกษตรอำเภอ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่อำเภอตากใบและใกล้เคียงจึงเกิดการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหลายกลุ่ม

      หนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางขุนทองพัฒนา (โคกงู) ต.บางขุนทอง อ.ตากใบ ที่มีการรวมตัวกันปลูกข้าวพันธุ์หอมกระดังงาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวหอมกระดังงาบรรจุถุง และนำมาแปรรูปเป็นข้าวกล้อง และแป้งข้าวหอมกระดังงา เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกอิฐ-โคกใน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกมะม่วง และกลุ่มแม่บ้านนารีสามัคคีธรรม ต.พร่อน อ.ตากใบ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรข้าวบ้านบอฆอ ต.โฆษิต อ.ตากใบ และกลุ่มสตรีข้าวซ้อมมือบ้านตอหลัง ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ นอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มชาวบ้านแล้ว ยังได้พลิกฟื้นอาชีพการทำนาที่กำลังถูกปล่อยทิ้งร้างให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ซึ่งเป็นการสืบสานภูมิปัญญาและรักษาพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่อำเภอตากใบ ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษเพื่อส่งอาชีพการทำนานี้ไปยังคนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

รังสรรค์เมนูได้มากกว่าหุงกิน แปรรูปเพิ่มค่าข้าวหอมกระดังงา

      จากคุณค่าของข้าวหอมกระดังงาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อของจังหวัดใครที่ได้ลิ้มลองมาติดใจในรสชาติซึ่งถูกนำไปเป็นของฝาก จึงเกิดแนวคิดที่จะแปรรูปเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากข้าวราคา 30-50 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อแปรรูปเป็นแป้งข้าวขายได้กิโลกรัมละ 80 บาท ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร การนำแป้งข้าวหอมกระดังงามาใช้ประโยชน์ นอกจากการทำขนมจีนแบบดั้งเดิม จึงเพิ่มแนวคิดการทำเมนูเบเกอรี่ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดีทั้งในด้านรสชาติและโภชนาการ

      พิซซ่าหน้าซีฟู้ดอาหารอิตาเลี่ยนเป็นอีกหนึ่งเมนูทานเล่นที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าประจำร้าน ”คอฟฟี่คัพ” ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ภายในศาลากลางหลังเก่าติดกับศูนย์ OTOP หน้าเทศบาลเมืองนราธิวาสมากจากการจัดแต่งร้านให้น่าอยู่ ซึ่งไฮไลท์ประจำร้านคอฟฟี่คัพต้องยกให้เป็นพิซซ่าข้าวหอมกระดังงาซึมตัวแปลงของพิซซ่าทำมาจากข้าวหอมกระดังงาข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่นิยมปลูกในพื้นที่อำเภอตากใบจังหวัดนราธิวาสโดยลักษณะพิเศษผิวสีแดงเนื้อนุ่มมีกลิ่นหอมดอกกระดังงา เมื่อเป็นพิซซ่าพร้อมเสิร์ฟแล้วยืมการันตีความอร่อยมากขึ้นแป้งกรอบแน่นหอมไม่เหนียวเหนอะหนะ และทางร้านเองยังได้ใช้แป้งข้าวหอมกระดังงาทดลองทำอีกหลายเมนู เช่น วาฟเฟิล ขนมปังไส้กรอก หรือเอแคลร์

ข้าวหอมกระดังงา Ricebar

      ชาวบ้านซรายอออก ต.ปาเสมัส อ.สุไหง โก-ลก จ.นราธิวาส ได้รวมตัวกันเพื่อสร้างอาชีพเสริม โดยการทำ “ซามา” หรือน้ำพริกของสามจังหวัดชายแดนใต้ เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ สิบกว่าคน จนเกิดกลุ่นก้อนในนาม กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จากผลิตภัณฑ์น้ำพริกซามาที่ผลิตขายจนเป็นที่นิยมในท้องตลาดแล้ว ทางกลุ่มยังได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกินเล่น (Snack) และได้รับการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา โดยการนำข้าวหอมกระดังงาอันเป็นอัตลักษณ์ของนราธิวาส มาแปรรูปและผสมกับน้ำพริกซามา อัดเป็นแท่งเป็นผลิตภัณฑ์ ข้าวหอมกระดังงา Ricebar ในแบรนด์ Hana Sama ที่มีลักษณะของข้าวตัง มีความหอมของข้าวหอมกระดังงาอบและ รสชาติโดดเด่นของน้ำพริกซามา เป็นของกินเล่นที่ให้รสชาติคุ้นเคยในรูปแบบแปลกใหม่ถูกใจชาวสามจังหวัดและเป็นของฝากที่ไม่เหมือนใคร เพราะมีที่นราธิวาสที่เดียวเท่านั้น

ความคิดเห็น