วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

มังงะและการ์ตูน กับการสื่อสารรากเหง้าวัฒนธรรมมลายู

 19 ส.ค. 2562 21:46 น.    เข้าชม 5440

      เชื้อชาติ ภาษา และ ศาสนาอิสลาม เป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความเป็นมลายูที่ผ่านกาลเวลามาจากรุ่นสู่รุ่น ได้ส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าให้กับคนรุ่นหลัง ผ่านการนำเสนอโดยวิธีต่างๆ แม้กระทั่งในรูปแบบการ์ตูนมังงะที่เป็นรูปเล่ม และ คุณอาจยังไม่เคยรู้จัก งานเขียนการ์ตูนในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยนักเขียนในพื้นที่เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เน้นการสั่งสอน และ การ ถ่ายทอด เรื่องราวประสบการณ์ร่วมในชีวิตที่พบเจอ สร้างความสนุกสนานให้กับผู้อ่าน และ สร้างความสุข ให้กับผู้เขียน

Melayu Route  เปิดเส้นทางใหม่ด้วยหัวใจมลายู

      มังงะเป็นคำในภาษาญี่ปุ่น ที่ใช้เรียกการ์ตูนช่อง คำๆ นี้ถูกเผยแพร่ผ่านวัฒนธรรม หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นออกไป ยังทั่วโลก จนเป็นที่เข้าใจกันดีว่าคำว่ามังงะนั้นใช้เรียกหนังสือการ์ตูน

      กิตติคุณ กิตติอมรกุล ชายหนุ่มจากจังหวัดพิจิตร วิทยากร และ ผู้ผลิตสารคดีสถาบันรามจิตติ ได้เผยแพร่ผลงาน การเขียนการ์ตูนเล่มในชื่อ Melayu Route ที่ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ในการสืบสาน วัฒนธรรมมลายู ครั้งแรกในรูปแบบการ์ตูนมังงะ จากความชอบส่วนตัวที่ได้อ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนไทยก็ได้รับอิทธิพล จากญี่ปุ่นมาเยอะ จึงซึมซับเรื่อง การแบ่งช่อง การเล่าเรื่อง จึงชอบวาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เมื่อมีโอกาสทำงานในการสื่อสารจึงดึงเอาความชอบส่วนตัวมาโยงกับงานสื่อสารในด้านอื่น

      มังงะก็เป็นการสื่อสารทางหนึ่งเหมือนกับการถ่ายภาพ การถ่ายวีดีโอนั่นเอง คนเขียนต้องออกเดินทาง ต้อง แสวงหา ลงพื้นที่เพื่อจะไปศึกษาเรื่องราวของมลายูให้ลึกซึ้งพอที่จะถ่ายทอดมาเป็นมังงะ ได้จากการ ได้ลงพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนใต้เพื่อทำงานวิจัยเป็นระยะๆ รวมๆ เกือบปี นั่นคือ นอกจากการลง ไปสัมผัสพื้นที่จริง ยังมีตัวอย่างที่เก็บสะสมเช่น ไม้แผ่นงานแล้วก็เขียนลายเป็นลายเดียวกับที่ใช้วาด บนเรือกอ และ กริชตือมืองง วรรณะกริชชั้นเจ้าเมือง ซึ่งได้มาตอนที่ลงพื้นที่ทำวิจัย ก็จะปรากฏอยู่ในการ์ตูน เมื่อตัวละครไปพบกับอาจารย์ ช่างตีกริช ซึ่งได้เรียนรู้วัฒนธรรม ลวดลายของกริช

      การถ่ายทอดด้วยมังงะจึงเป็นการเล่าเรื่องที่อาจจะไม่เต็มเปี่ยมเท่าสารคดี แต่ว่าเราสามารถดึงข้อมูลที่สำคัญ มาใส่ บวกกับความสนุกมุขตลกของความเป็นการ์ตูนได้ คนที่อ่านการ์ตูนก็จะสนุก และ ได้ความรู้แบบไม่รู้ตัว ในด้านวิธีการทำงาน ผู้เขียนจะร่างภาพในกระดาษก่อน แบ่งช่องการ์ตูน เขียนคำพูดลงไป แล้วจึงนำไปตัด เส้นจริง ในคอมพิวเตอร์ การสื่อสารในเชิงสารคดีหรือเชิงข่าว คนที่รับสารก็จะมีอยู่กลุ่มหนึ่ง แต่เมื่อเพิ่ม ช่องทาง ด้วยมังงะ ผู้รับสารก็จะเพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้ใหญ่ เด็กโต ไปเป็นกลุ่มเด็กเล็ก หรือ อาจจะเป็นเด็กโตหน่อย กลุ่มนี้ไม่เคยรับสารในเรื่องวัฒนธรรมมลายูจากที่อื่นเลย อาจจะไม่ดูสารคดีหรือดูข่าว แต่เด็กๆ อ่านการ์ตูน เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมมลายูในมุมที่กว้างขึ้น ซึ่งการ์ตูนมลายูรูทเล่าถึงการเดินทางของอานิง ในการไปพบสิ่งที่น่าสนใจ ในบ้านเกิดของเขา “การกลับบ้าน” คือคำสำคัญ เป้าหมายของการ์ตูนคือทำให้เด็ก และ คนรุ่นใหม่เห็นว่าบ้านเกิดของตัวเองมีความเท่ มีศิลปะ มีวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง งดงาม และ สามารถดึงออก มาเป็นธุรกิจได้ เขาสามารถสร้างงานทำมาหาเลี้ยงชีพตัวเองได้

Kerrang : Comic Illustrator ชาวจะบังติกอ

      Kerrang คือนามปากกาของนักวาด Comic ชาวจะบังติกอ จ.ปัตตานี มีผลงานกับสำนักพิมพ์ต่างๆ เช่น Red Comic หรือ Nation งานภาพประกอบของเขาจะได้รับแรงบันดาลใจจากความเป็นท้องถิ่นของปัตตานี ตัวคาแรคเตอร์จะใส่ผ้าโสร่ง จูงแพะ โพกผ้า รวมไปถึงการนำต้นทุนของวัฒนธรรมมลายูมาใส่ไว้ในผลงาน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย วิถีชีวิต หน้าตา จนไปถึง Texture ของลายผ้าปาเต๊ะ

อาหะมะ เปาะตองเช็ง ผู้วาดการ์ตูนและแอดมินเพจ Katung Pokcik

      การวาดการ์ตูนเป็นสิ่งที่อาหะมะทำแล้วมีความสุข และการ์ตูนสามารถสื่อได้ทั้งเรื่องอดีตหรือปัจจุบัน และ เข้าถึงได้ง่ายไม่ว่าคนชาติไหน ภาษาใด สามารถเข้าใจการ์ตูนได้ เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ตัวการ์ตูน Pokcik เป็นตัวแทนคาแรคเตอร์คนสูงอายุเป็นบุคคลที่สามารถที่จะชี้แนะ และ สั่งสอนเด็กๆ เป็นคนแก่มีเคราใส่หมวกกะปิเยอะ เป็นวัยที่เหมาะในการสอนลูกๆ หลานๆ มีการใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เพราะมีการสื่อสารไปนอกพื้นที่ด้วย เป็นการใช้ภาษามาลายูที่เขียนไทย

มาวัรดีย์ มาเจ๊ะมะ ครูผู้สร้างสรรค์เพจ Benci ku

      ดีย์ มาเจ๊ะมะ โรงเรียนวังกะพ้อพิทยาคม อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ด้วยความเป็นครูจึงมีโอกาสได้พบเห็น ดูแลเด็กๆ นักเรียน ครูมาวัรดีย์สังเกตว่าเวลานักเรียนไม่เข้าใจ หรือ ไม่ชอบใจอะไรสักอย่าง มักจะอุทานว่า Benci ku ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อเพจ  ด้วยความที่ตัวเองเป็นครูผู้สอน พบว่านักเรียนมีอะไรที่ตลกขบขัน ไม่เข้าท่า ธรรมดา แต่ก็ดูไม่ธรรมดาในมุมมองของครู จึงเน้นถ่ายทอดมุมมองของนักเรียน นำเอามาเป็นตัว การ์ตูน สร้างคาแรคเตอร์ของเพจ ในด้านของภาษาใช้ภาษามาหลายรูปแบบ แต่สุดท้ายจะเน้นการ ใช้ภาษา ภาพ เพราะเป็นสิ่งที่สื่อได้กว้างกว่าไดอะล็อก

      ความเข้มแข็งในวัฒนธรรมที่ยาวนานนั้นเกิดจากความร่วมสมัยของวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับปัจจุบัน ส่วนจะ เป็นไปในวิถีทาง หรือ รูปแบบใดนั้น เราทุกคนต่างล้วนมีคำตอบที่สอดคล้องกับตัวตนของเรา จะเห็นได้ว่า การสื่อสารวัฒนธรรมมลายูหรือวัฒนธรรมบ้านเกิดของตัวเองนั้นสามารถทำได้ตามความถนัด บ้าน สิ่งสำคัญ คือต้อง ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรม และ รากเหง้าที่มีอยู่ในตัวตน รักษา และ สืบทอดให้มันคงอยู่ และ สร้างความเข้มแข็ง ทำให้เห็นว่าพื้นที่ที่คนภายนอกมองว่าเป็นพื้นที่ที่รุนแรง ใช้วัฒนธรรมเป็นใบเบิกทาง สร้างความตื่นตัว ผ่านงานศิลปะบนฐานวัฒนธรรมของตนเอง 

ความคิดเห็น