วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

มิสแกรนด์ไทยแลนด์ อัตลักษณ์ความงามเพื่อสันติภาพ

 19 ส.ค. 2562 21:53 น.    เข้าชม 3995

      ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของเวทีการประกวดนางงามมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตที่ผ่านมามาก ทั้งในแง่แนวคิดในการให้คุณค่าความงามและการจัดการประกวดที่ให้ความสำคัญกับบริบททางสังคม รวมถึง ชูวิสัยทัศน์ที่ทำให้เกิดอัตลักษณ์ที่แตกต่างไปของความเป็นนางงาม และสิ่งเหล่านี้เราพบเห็นได้ในเวทีการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ และมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล อันเป็นเวทีระดับสากลที่ถือกำเนิดในประเทศไทย โดยคนไทย เพื่อแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลก

วิสัยทัศน์เพื่อสันติภาพ เปิดตัว ณ จังหวัดชายแดนภาคใต้

      “สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก” คือวิสัยทัศน์สำคัญระดับสากลของเวที MISS GRAND ซึ่งจัดให้มีเวทีการประกวดในระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อเวทีที่ว่า MISS GRAND INTERNATIONAL โดยยกระดับเวที MISS GRAND ให้เทียบเท่าระดับสากล และมีเป้าหมายในการรณรงค์สนับสนุนการยุติความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการนำพาไปสู่ความแตกแยกและสงคราม การจัดการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2556 จึงเลือกสถานที่ในการเก็บตัวการประกวดที่จังหวัดปัตตานี เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและอาสาสมัครทหารพราน ร่วมกิจกรรม วันสตรีสากล จังหวัดปัตตานี เยี่ยมชมสถานที่สำคัญ และทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ 

      ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยการให้ทั้ง 77 จังหวัด จัดการประกวดมิสแกรนด์ขึ้น เพื่อหาสาวงามที่จะมาเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด เป็นสร้างการรับรู้ในระดับชุมชน ให้คนในจังหวัดได้มีส่วนร่วม ส่วนนางงามเองจะมีฐานแฟนคลับแต่ละจังหวัดที่คนในจังหวัดคอยสนับสนุน  และยังให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย จึงจัดให้มีการทำกิจกรรมในการเก็บตัวของนางงามในแต่ละจังหวัด โดยให้นางงามมีส่วนร่วมในการเผยแพร่สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดที่ได้มีเก็บตัวแบบให้เห็นเป็นรูปธรรม  ผู้ได้รับตำแหน่งในแต่ละจังหวัด จะใช้ชื่อ "มิสแกรนด์" แล้วตามด้วยชื่อจังหวัด

      ในปีเดียวกันนี้ได้จัดให้มีการจัดการประกวดมิสแกรนด์ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นเป็นครั้งแรก วัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนเอกลักษณ์และความสวยงาม รวมถึงต้องการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ที่สำคัญต้องการสื่อให้เห็นถึงการอยู่รวมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมของผู้คนพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ ชุดผู้เข้าประกวด เน้นใช้ผ้าและลวดลายท้องถิ่น เช่น ผ้าปาเต๊ะ ผ้าปะลางิง ชุดมโนราห์ ลวดลายหนังตะลุง เรือกอและ และนำเรื่องราวอันเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่มาถ่ายทอดลงบนชุดเพื่อเผยแพร่วิถีพหุวัฒนธรรมของชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนสาวงามที่ได้รับรางวัล มิสแกรนด์ปัตตานี มิส แกรนด์ยะลา และมิสแกรนด์นราธิวาส ก็จะเป็นตัวแทนเข้าประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์

2019 ตอกย้ำความสวยงาม เสน่ห์ชายแดนใต้

      ปี 2562 เวทีมิสแกรนด์ ได้ก้าวสู่ปีที่ 7 ได้เลือกจัดกิจกรรมเก็บตัวที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และ สตูล เป็นเวลาถึง 10 วัน และมีการประกวดรอบขวัญใจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ในวันที่ 6 กรกฎาคม พร้อมเปิดตัวมงกุฎมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2019 ที่ออกแบบโดยใช้แรงบันดาลใจมาจาก “ลวดลายของผ้าปาเต๊ะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสิ่งที่สำคัญจะมีลวดลวยสถาปัตยกรรมบางส่วนจากอาคารมัสยิด”

      ความตั้งใจของกองประกวดในการเก็บตัวผู้เข้าประกวดในครั้งนี้ เพื่อต้องการประชาสัมพันธ์ นำเสนอเรื่องราว และความสวยงามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สู่สายตาคนไทยทั้งประเทศ เพื่อร่วมกันยุติความรุนแรงในประเทศไทย รวมถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่บอบช้ำจากเหตุการณ์ความไม่สงบมาเป็นระยะเวลา 15 ปี ให้สาวงามทั้ง 77 คนได้ทำหน้าที่นำเสนอวัฒนธรรม อาหารพื้นถิ่น ของดีชายแดนใต้ ข่าวสารและเรื่องราวดีๆ

ปลดล็อคภาพจำ เปลี่ยนมุมมอง

      77 สาวงามผู้เข้าประกวด ได้รับการต้อนรับจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) และได้รับเกียรติอย่างยิ่งจาก พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 อนุญาตให้สาวงาม มิสแกรนด์ ได้เข้าเยี่ยมเยียนและฟังผลการดำเนินการคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบภายในพื้นที่ ณ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พร้อมเปิดโอกาสให้นางงามได้ซักถามถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร และมอบดอกกุหลาบแดงให้กับท่านผู้อำนวยการฯและเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ปฏิบัติหน้าที่จนสำเร็จลุล่วง

      คุณณวัฒน์ อิสรไกรศีล ประธานกองประกวด กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจ “ผมเลือกมาเก็บตัวที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้เพราะที่นี่มีอัตลักษณ์ที่สุดยอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมพื้นถิ่น สถานที่ท่องเที่ยว อาหาร ที่คนภายนอกไม่ค่อยรู้ ด้วยความที่เขาเสพเฉพาะภาพข่าวความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ผมเคยพาผู้เข้าประกวด มิสแกรนด์ ไทยแลนด์ 2013 มาเก็บตัวที่ 3 ชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ท่ามกลางการคัดค้านของหลายๆคน แต่ผมเชื่อครับว่าต้องปลอดภัย ซึ่งเราได้พิสูจน์แล้วว่าทุกคนมาได้ ปลอดภัย ปีนั้นรู้สึกประทับใจมาก ที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างขวัญและกำลังใจให้พี่น้องจังหวัดชายแดนใต้

      วันนี้ผมคิดอยากกลับมาร่วมฟื้นฟูและสร้างสีสันให้กับการท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง เราจะช่วยส่งเสริมสิ่งมีคุณค่าที่บางคนยังไม่มีโอกาสได้เห็น รวมถึงสร้างความมั่นใจในเรื่องของการท่องเที่ยว และให้ทุกคนทราบว่ามีมุมอื่นที่น่าสนใจมากกว่าภาพระเบิด หรือผู้บาดเจ็บ ทั้งที่ความจริง เหตุการณ์ความสงบได้ทุเลาเบาบางลงไปมากแล้ว ผมอยากให้ทุกคนได้เปลี่ยนภาพจำ และมองมุมใหม่ว่าที่นี่มีของดีให้ทุกคนได้สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนป่า ลองกองที่อร่อยที่สุด ผมขอให้เวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ได้มีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์ด้วย ยืนยันครับว่าเรามาได้ คุณก็มาได้”

ความคิดเห็น