วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ.2567

ยุทธศาสตร์ Smart City เมืองอัจฉริยะชายแดนใต้

 19 ส.ค. 2562 22:01 น.    เข้าชม 4774

      ยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะ เป็นเรื่องที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ หลายประเทศได้เริ่มพัฒนาระยะหนึ่งแล้ว โดยหลักการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาการเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน
คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

      รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะนี้เช่นกัน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้เกิดการกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมกันในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ในบริบทที่ต้องพัฒนาให้เมืองมีความน่าอยู่ มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมือง มีการบูรณาการสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2560 โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอร่างยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ บูรณาการ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการในแต่ละสาขา ประสานงานส่วนราชการและภาคเอกชน รายงานผลการดำเนินงาน สนับสนุน ส่งเสริมการประชาสัมพันธเผยแพร่ข้อมูล สร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้แก่ภาคส่วนต่างๆ

      ผลการดำเนินงานในเฟสแรก ปี 2561 -2562 ที่ผ่านมาได้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ 10 เมือง นำร่องใน 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ส่วนเมืองเป้าหมายในเฟสต่อไป คือ ปี 2562-2563 จะเพิ่มอีก 17 เมืองเป้าหมาย รวม 30 เมือง ใน 24 จังหวัด ซึ่งมีจังหวัดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้รวมอยู่ด้วย ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล โดยมีเป้าหมายในปี 2565 คือ เมืองอัจฉริยะ 100 เมืองใน 76 จังหวัดและกทม. ที่สามารถให้บริการ City Data Platform, มีบริการเมืองอัจฉริยะของภาครัฐและเอกชนไม่น้อยกว่า 100 บริการ และมีเมืองอัจฉริยะได้รับการยอมรับระดับโลก 3 เมือง

5 เสาหลัก 7 Smarts

      คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อจัดทำแผนนโยบายและการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระดับพื้นที่ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ขององค์ประกอบของแผนการพัฒนา ประกอบไปด้วย 5 เสาหลัก และ 7 Smart โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

องค์ประกอบของแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ข้อที่ 1 การกำหนดพื้นที่และเป้าหมาย การกำหนดเขตเมืองอัจฉริยะ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ประเภทและลักษณะของเมืองอัจฉริยะ

ข้อที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แผนดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะ ทั้งด้านดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น คมนาคม พลังงาน สาธารณูปโภคหรืออื่นๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย

ข้อที 3 ระบบข้อมูลและความปลอดภัย ระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลและแนวทางการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ของเมืองและบุคคล

ข้อที่ 4 บริการเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน บริการระบบเมืองอัจฉริยะ กิจกรรม หรือโครงการที่เสนอตามประเภทของเมืองอัจฉริยะที่ขอรับการพิจารณาที่ครอบคลุมถึง บริการภาคบังคับในกรณีที่กำหนด และบริการอื่นๆ ตามความเหมาะสม

ข้อที่ 5 การบริหารจัดการและการมีส่วนร่วม แผนการบริหารโครงการและกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงาน

เกณฑ์การประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ (7 Smart City Indicators)

ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) การพัฒนาเมืองในมิติของสิ่งแวดล้อม ที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ

ด้าน Government (Smart Government) การกำกับดูแลการให้บริการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยมุ่งเน้นความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม โดยมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการ

ด้าน Mobility (Smart Mobility) ระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand Smart Transportation

ด้าน Energy (Smart Energy) เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงการข่ายไฟฟ้าหลัก

ด้าน Economy (Smart Economy) เมืองที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน Living (Smart Living) เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต

ด้าน People (Smart People) การพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนการเปิดกว้างให้สำหรับความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ก้าวต่อไปกับเมืองอัจฉริยะจังหวัดชายแดนภาคใต้

      เดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้ร่วมกับ จังหวัดยะลา จัดงานสัมมนาเชิงปฎิบัติการ “Smart City Thailand Roadshow” เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การเปิดรับสมัครการเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมี กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้นำเมืองจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ได้แก่ สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ทั้ง เทศบาล อบจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของพื้นที่ ทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน

นายเจษฎา จิตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง ว่า "จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดใต้สุดของประเทศไทย มีภาพลักษณ์ในการเป็นเมืองที่มีผังเมืองที่มีความสวยงามและเป็นระเบียบมีความสะอาดที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศไทย  มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและสวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองแห่งผลไม้ และมีประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในความหลากหลายของพหุวัฒนธรรม อีกทั้งมีความพร้อมในการพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบการเป็นเมืองอัจฉริยะ สำหรับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมี ศอบต. ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ และมีหน่วยงานความมั่นคงที่พร้อมดำเนินการ และเป็นศูนย์รวมของข้อมูล Big Data ในพื้นที่ สำหรับการขยายผลไปสู่จังหวัดภาคใต้ชายแดนได้ต่อไป"

ความคิดเห็น