วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

ให้นิทานนำทาง

 30 ม.ค. 2563 14:52 น.    เข้าชม 1573

จากคนต้นเรื่อง น.อ.หญิงศรินทร สุวรรณพงศ์

เล่าผ่าน ศปป.๕ กอ.รมน.

          ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีศักยภาพในการเรียนรู้ และสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรการศึกษาต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น คือ ทักษะด้านภาษา เพื่อสื่อสาร โต้ตอบ และพัฒนาตนเอง จนสามารถเป็นกำลังหลักในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนได้ในอนาคต แต่ในความเป็นจริง ยังมีเด็กนักเรียนที่ยังคงมีปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อการเรียนตามปกติแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจที่อาจทำให้เกิดความท้อแท้ในการพัฒนาศักยภาพของตนเองต่อไป

          ศปป.๕ กอ.รมน. ได้มีโอกาสพบกับ น.อ.หญิงศรินทร สุวรรณพงศ์ นายทหารนอกราชการ ที่ปรึกษา พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับเด็ก และเยาวชน รวมทั้งสตรีในพื้นที่ปลายด้ามขวาน มาหลายปี แม้ในวัยเกษียณที่ข้าราชการส่วนใหญ่ได้พักจากการปฏิบัติราชการ แต่ท่านยังคงลงพื้นที่เพื่อสานงานพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งท่านได้เล่าให้ ศปป.๕ฯ ฟังถึงที่มาที่ไป และการดำเนินงาน ดังนี้

          “การแก้ปัญหาพื้นฐานทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องของโรงเรียนที่เกี่ยวข้องเพียงครูกับนักเรียนเท่านั้น แต่ผู้ปกครองและชุมชนสามารถมีส่วนเข้าร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เช่นกัน ซึ่งหนึ่งในวิธีการหลากหลายที่สามารถเข้าถึงเด็กได้เร็วสุด ง่ายสุด คือ การนำเรื่องเล่าที่เป็นตำนานของชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างบรรยากาศ การเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน ผ่านคนเฒ่าคนแก่ของบ้านและชุมชนนั้น ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนแล้ว ผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้น ก็คือ การได้ตระหนักถึงคุณค่าของผู้อาวุโส ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และหมู่บ้าน รวมทั้งเกิดความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิดบ้านเกิดของตน

          ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาในมิติของความมั่นคงในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวเช่นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้สามารถอ่านออกเขียนได้ และเป็นการอ่านออกเขียนได้ผ่านตำนานจากบ้านเกิดของตน จึงเป็นความจำเป็น และสมควรทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เด็ก และเยาวชนเหล่านี้สามารถ “เท่าทัน” ต่อสถานการณ์ความเป็นจริงในพื้นที่ และเพื่อเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ไม่ให้เข้าใจผิดต่อข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ และหลักคำสอนทางศาสนาที่อาจถูกบิดเบือนได้ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่เน้นการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง และการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

          โครงการรักการอ่านผ่านนิทานตำนานชุมชนสู่ผู้เรียนในศูนย์ตาดีกา จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อต้นปี ๖๒ โดยความร่วมมือของชมรมครูตาดีกาบ้านป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ที่เริ่มจากเด็กนักเรียนในศูนย์ตาดีกา ควบคู่ไปกับการแสวงหาตำนานในชุมชน รวบรวม เรียบเรียง และเขียนภาพการ์ตูนด้วยฝีมือของคณะครูจากศูนย์ตาดีกาบ้านป่าไร่ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มประจำศูนย์ตาดีกา เพื่อสร้างพื้นฐานรักการอ่านให้แก่นักเรียนตาดีกาผ่านตำนานเหล่านี้ ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ สร้างคุณค่าต่อพื้นที่ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐–๒๕๗๙) ดังกล่าวแล้ว ยังช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย ครูตาดีกา และชาวบ้านในชุมชน ที่สามารถร่วมพัฒนาไปสู่สันติสุขในอนาคตได้ต่อไป

          การดำเนินงานของโครงการ เริ่มต้นที่ ชี้แจงสร้างความเข้าใจ และสอบถามความคิดเห็นจากครูตาดีกา และผู้นำชุมชน, รับสมัครคณะทำงาน, ชี้แจงแนวทางการทำงาน จัดอบรมเทคนิคการอ่านนิทาน/การสืบค้น/การจัดทำสื่อ, ลงพื้นที่สำรวจศูนย์ตาดีกา และทดสอบทักษะภาษาไทยของนักเรียน, ลงพื้นที่เพื่อสืบค้นประวัติ และเรื่องเล่าของชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์และคัดเลือกเรื่องที่จะจัดพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนในรูปแบบหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็ก ๒ ภาษา (ไทยและมลายู)เผยแพร่, ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลการอ่านของนักเรียนตาดีกา และกิจกรรมสุดท้ายที่เตรียมจัดให้มีขึ้นในเดือนมกราคม ๒๕๖๓ หลังงานวันเด็กคือ การจัดงานมหกรรมหนังสือเผยแพร่หนังสือการ์ตูนตำนานชุมชน “รูเมาะกีตอ” ซึ่งภายในงาน เด็กนักเรียนตาดีกาเตรียมแสดงความสามารถ ในการใช้ภาษาไทยอย่างเต็มที่ ด้วยการอ่านนิทานตำนานชุมชนของตนประกอบการแสดงละคร, การแข่งขันแต่งนิทาน พร้อมกับการถอดบทเรียนของโครงการฯ และสาธิตการทำหนังสือนิทานทำมือของศูนย์ตาดีกา

          ถึงแม้โครงการนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่การดำเนินงานที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความร่วมมือ ความตั้งใจของครูตาดีกาทุกคน แม้ในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การเล่านิทาน, การวาดการ์ตูนประกอบนิทาน, ครูตาดีกา บางคนบอกว่า ยังไม่เคยเห็นโครงการลักษณะนี้ที่ใดมาก่อน โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงการยอมรับวิถีชุมชนและสามารถเข้าถึงจิตใจของผู้คนในชุมชนได้อย่างมาก ส่วนเด็ก ๆ ตาดีกาเองก็สนุกสนานไปกับหนังสือที่อ่านร่วมกัน และสัญญาว่าจะมาเล่านิทานเล่มใหม่ที่ได้รับแจกเมื่อลงมาจัดกิจกรรมครั้งต่อไป เห็นได้ชัดเจนว่า ทั้งเด็กและผู้เฒ่าผู้แก่ ต่างรอคอยโครงการเช่นนี้ ”

          บทสรุปของการสนทนา คือ “ ไปถึงเป้าหมายโดยให้นิทานนำทาง ”

ความคิดเห็น