วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ.2567

จากตำนานเล่าขานสู่..นิทานบ้านเรา (รูเมาะกีตอ)

 13 ก.พ. 2563 17:13 น.    เข้าชม 3190

โดย ศปป.๕ กอ.รมน.

เล่านิทาน เล่านิทาน..ภาพเด็กๆ ส่งเสียงเจื้อยแจ้วรุมล้อม ปู่ ย่า ตา ยาย ออดอ้อนให้เล่านิทานให้ฟัง เป็นภาพชินตาในครอบครัว คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ความบันเทิงที่หาได้ง่ายที่สุดในบ้าน คือ การฟังนิทาน และนิทานส่วนใหญ่มักเกิดจากการบอกเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผ่านตามกาลเวลา เนื้อเรื่อง เนื้อหา ตัวละครแปรเปลี่ยนไปตามลักษณะทางกายภาพ และสังคมถิ่นนั้นๆ ซึ่งบทบาทของนิทานนอกจากจะเป็นแหล่งบันเทิงที่ไม่ต้องซื้อหา ได้ความสนุก ตื่นเต้น ได้ความรู้ สร้างความคิด และประโยชน์ที่จับต้องไม่ได้อีกมากมายแล้ว สิ่งที่นิทานยังให้ได้อีกประการหนึ่งคือ การสร้างสรรค์สังคม ที่งดงาม เพราะตอนจบของนิทานส่วนใหญ่คือ “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..” รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรทำแล้วดี อะไรทำแล้วเกิดโทษ ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น

ให้นิทานนำทาง ชมรมตาดีกาตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี มองเห็นประโยชน์จากสิ่งนี้ จึงให้นิทานนำทางไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม ผ่านการอ่าน การเล่าจากรุ่นสู่รุ่น “โครงการรักการอ่านผ่านนิทานตำนานชุมชนสู่ผู้เรียนในศูนย์ตาดีกา” จึงเกิดขึ้น โดยเริ่มจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย เช่น ผู้นำชุมชน, ผู้นำศาสนา, ครูตาดีกา และสมาชิกชมรมตาดีกา ซึ่งมีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงตำนานท้องถิ่น และภูมิปัญญาของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนไว้ในคราวเดียวกัน รวมทั้งบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งภาษาไทย และภาษามลายูเพื่อเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และเพื่อการดำรงอยู่ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชุมชนภายใต้อัตลักษณ์ มุ่งหมายให้เป็นปัจจัยในการสร้างการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะความคิด สร้างจิตวิญญาณ รวมทั้งทักษะทางภาษาให้แก่นักเรียนของศูนย์ตาดีกา

ก้าวทีละก้าว เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน การเดินตามหานิทานจึงเริ่มขึ้น ครูดาตีกาที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีโอกาสฝึกฝน เทคนิคการสืบค้นตำนาน และเรื่องเล่า เพื่อให้สามารถแกะรอยแล้วนำมารวบรวม เรียบเรียง ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพวาด และคำบรรยายโดยมีการฝึกทักษะการวาด การเขียน การเล่านิทาน เพื่อให้การสื่อสารผ่านนิทานตำนานชุมชนตรงใจ และได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ระหว่างทาง ด้วยตระหนักถึงการมีส่วนร่วม และสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ คณะทำงานฯ จึงได้จัดกิจกรรมภาษาไทยให้กับนักเรียนของศูนย์ตาดีกาคู่ขนานไปกับการจัดทำนิทาน ตำนานชุมชน เช่น การอ่านนิทานแลกกับหนังสือที่นักเรียนชอบ, การเขียนตาม คำบอก, การแข่งขันแต่งนิทาน เป็นต้น นอกจากจะเป็นการสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่เด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นการปูทางไปสู่การรักการอ่านของเด็ก ๆ รวมทั้งเป็นแนวทางให้ครูนำไปพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนได้เช่นกัน

นิทานเล่มแรก จากการสืบค้นเรื่องเล่าอันเป็นตำนานชุมชน สามารถรวบรวมเรื่องเล่าได้จำนวน ๑๐ เรื่อง และพิจารณาให้ เรื่อง “ช้างกับสายน้ำ” ซึ่งมีเนื้อหาเน้นให้เห็นถึงพลังของความสามัคคี จัดพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กในรูปแบบนิทานสองภาษา คือ ภาษาไทย และภาษามลายู เป็นเรื่องเล่าเล่มแรกที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนอย่างแท้จริง และได้ทำการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ในวันที่ ๑๙ ม.ค. ๖๓ ในชื่องาน “นิทานรูเมาะกีตอ” ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่มีความหมายว่า นิทานบ้านเรา หรือนิทานพื้นบ้านนั่นเอง สำหรับตำนานเรื่องเล่านอกเหนือจากนี้ ได้จัดทำออกมาอยู่ในรูปแบบของหนังสือนิทานการ์ตูนทำมือ และรอความพร้อมเพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือต่อไป

กว่าจะมีวันนี้ การเดินทางของโครงการฯ นับแต่วันเริ่มต้นจนมาถึงวันนี้ สะท้อนให้เห็นความร่วมมือ และความตั้งใจของครูตาดีกาทุกคน ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การสืบค้นหาตำนาน ที่ไม่เคยรู้ว่ามี, การกล้าออกมาหัดเล่านิทานพร้อมท่าทางประกอบต่อหน้าสาธารณชน, การวาดการ์ตูนที่ใช้เวลาเพียง ๑ วัน ๑ คืน กับอีก ๓ ชั่วโมง ผลิตผลงานที่นำไปใช้ประกอบนิทานได้จริง เป็นต้น การดำเนินการโครงการฯ นี้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ๆ และสร้างความตระหนักต่อคุณค่าของผู้อาวุโส รวมทั้งสามารถส่งผลต่อการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับวิถีชุมชนของคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถนำทางไปสู่จิตใจที่รักถิ่นฐานบ้านเกิดตนเอง และร่วมมือร่วมใจสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

นิทานรูเมาะกีตอ จึงไม่ใช่แค่นิทานที่เล่ากันเล่นๆ อีกต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
น.อ.หญิงศรินทร สุวรรณพงศ์
ที่ปรึกษา พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล

(บทความของศปป.๕ฯ ตีพิมพ์ในวารสาร กอ.รมน.ฉบับที่ ๕ ประจำเดือน ก.พ.๖๓)

คลิกที่นี่เพื่ออ่านนิทาน

ความคิดเห็น