วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

โรงเรียนจีนในสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้

 17 ก.พ. 2563 15:15 น.    เข้าชม 5589

      สังคมปลายด้ามขวาน พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ประกอบไปด้วยไทย จีนและมลายู ยังคงมีการพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ และความแตกต่างเหล่านี้นำพาให้เกิดสิ่งที่ดี ทั้งไทย จีน และมลายู     ทุกภาษาล้วนมีความสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวและการค้าให้มีการพัฒนาเติบโต  ภาษาจีนเป็นภาษาที่คุ้นเคยกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ทั้งในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส หลายปีที่ผ่านมาภาษาจีนกลางได้รับความนิยมขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีบทบาทต่อตลาดแรงงานของไทยในทุกระดับ ไม่ว่า     จะเป็นเรื่องธุรกิจค้าขาย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจชาวไทย และชาวจีน รวมถึงชาวสิงคโปร์ ก็มีอัตราส่วนการทำธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ในการใช้ภาษาจีนกลางมากขึ้น การปลูกฝังทักษะด้านภาษาจึงมีความสำคัญยิ่ง
      ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีโรงเรียนที่ยืนหยัดทำการเรียนการสอนภาษาจีนมาแต่ต้น และสร้างนักเรียนที่มีทักษะภาษาจีนมาแล้ว 101 ปี ได้แก่ โรงเรียนจ้องฮั้ว ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2461 ในขณะนั้นมีนักเรียน 60 กว่าคน เปิดสอนเฉพาะภาษาจีน และเมื่อปี พ.ศ. 2488 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง โรงเรียนก็ได้ปรับปรุงกิจการของโรงเรียน โดยการจัดการศึกษาตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มจัดการเรียนการสอนช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 4  เพื่อให้ลูกหลานชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานในปัตตานี ได้เรียนทั้งภาษาไทยและภาษาจีน พร้อมทั้งสืบสานวัฒนธรรมไทย-จีนให้อยู่ต่อไป ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง ในอดีตเด็กที่มาเรียนโรงเรียนจ้องฮั้ว จึงเป็นลูกหลานพ่อค้าจีนในเมืองปัตตานี ปัจจุบันนักเรียนในอดีตเหล่านั้นได้กลายเป็นบุคลากรที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี นักธุรกิจในปัตตานีรุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนจ้องฮั้วทั้งสิ้น
ไทย จีน มุสลิม เรียนรู้ร่วมกัน

      มาจนถึงวันนี้โรงเรียนจ้องฮั้วมีอายุถึง 101 ปี ได้ทำการพัฒนาการเรียนการสอนอยู่ตลอด ปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นก่อนประถมศึกษาหรือชั้นบริบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 714 คน มีเด็กไทย และเด็กไทยเชื้อสายจีน 80 เปอร์เซ็นต์, ไทยมุสลิมประมาณ 20 % มีความโดดเด่นกว่าโรงเรียนอื่น ๆ คือเปิดทำการเรียนการสอนโดยเน้นภาษาจีน  มีครูสอนภาษาจีน 5 คน จะมีการสอนภาษาจีนให้เด็กประถมศึกษาถึงสัปดาห์ละ 5 ครั้ง และเริ่มสอนภาษาจีนให้เด็กนักเรียนชั้นบริบาล 2 ครั้งต่อสัปดาห์      เป็นการปลูกฝังพื้นฐานให้กับเด็ก ๆ ได้มีความคุ้นเคยกับการใช้ภาษาจีนให้มากขึ้น 
      ภายในโรงเรียน และในห้องเรียนมีการสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ภาษาจีนไว้ในทุกพื้นที่ ทั้งกิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน และการพูดเน้นให้นักเรียนได้สนทนากันเป็นภาษาจีน ใช้เวลาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ส่วนภายนอกโรงเรียนมีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายโรงเรียนจีนทั้งใน และต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการต่อยอดพัฒนาการด้านทักษะภาษาจีนอย่างสม่ำเสมอ โดยจัดเวทีแสดงความสามารถด้านภาษาให้นักเรียน ได้ใช้ทักษะที่เรียนรู้มาแสดงให้เพื่อน ๆ และคุณครูได้ดู เป็นการฝึกฝนความกล้าแสดงออก
เรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว

      การมีนักเรียนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และภาษามาอยู่ร่วมกัน ข้อดี คือการใช้ภาษามลายูเดิมของนักเรียนชาวไทยมุสลิม ซึ่งส่งผลดีต่อการเรียนรู้ภาษาจีนเป็นอย่างมาก เพราะคุณครูยืนยันว่า การออกเสียงและการใช้รูปปากของนักเรียนไทยมุสลิมในการพูดภาษาจีนนั้น เนื่องจากนักเรียนมุสลิมจะมีสำเนียงที่ดี และใกล้เคียงกับสำเนียงจีนเจ้าของภาษาเป็นอย่างมาก ทำให้นักเรียนมุสลิมส่วนใหญ่มีทักษะภาษาจีนที่ดี ในระดับที่สามารถเป็นตัวแทนโรงเรียนในประกวดแข่งขันทักษะทางภาษาในเขตพื้นที่ได้เลยทีเดียว
      เด็กๆ โรงเรียนจ้องฮั้ว เมื่อจบชั้นประถมปีที่ 6 แล้วส่วนใหญ่สื่อสารภาษาจีนได้เบื้องต้นไปถึงระดับดี เป็นทักษะพื้นฐานติดตัวเด็กไปจนโต สามารถไปต่อยอดในด้านการศึกษา และชีวิตประจำวัน ไปจนถึงอาชีพในอนาคต การเรียนรู้ภาษาจีนจึงเป็นการได้เปรียบ สามารถนำไปต่อยอดในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การเมืองได้ทั้งสิ้น ในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมอาเซียน และในสังคมที่ความหลากหลายอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข การเรียนรู้ภาษาเพื่อความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันนั้นมีความสำคัญยิ่ง เพราะภาษาทุกภาษาล้วนเป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่าง     แต่ลงตัว หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปอาจจะทำให้สังคมพหุวัฒนธรรมนี้ขาดความสมดุลไปได้

ความคิดเห็น