วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

สันติสุขแห่งวัยเยาว์ “มารีมาย มาเล่นกันเถอะ”

 17 ก.พ. 2563 15:20 น.    เข้าชม 6268

      มารีมาย เป็นคำภาษามลายู แปลว่า มาเล่นกันเถอะ “มารีมาย มาเล่นกันเถอะ” เป็นรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เริ่มออกอากาศในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2562 จนถึงปัจจุบัน ทางสถานีไทยพีบีเอส ทุกวันเสาร์ เวลา 07.40 - 08.00 น. นำเสนอเรื่องราวของการละเล่นพื้นบ้าน ในพื้นที่ชายแดนใต้ เล่าผ่านเจ้าของพื้นที่ โดยมีน้องณาดา ผู้ดำเนินรายการและเพื่อน ๆ จากชุมชนต่าง ๆ ชวนผู้ชม ไปเรียนรู้ที่มาที่ไปของการละเล่นต่าง ๆ 

เด็กชายแดนใต้ เล่นอะไรกัน
      น้องณาดา คือตัวแทนเด็กรุ่นใหม่ชายแดนใต้ ด้วยวิถีชีวิตของครอบครัวยุคใหม่ เธอก็มีโอกาสได้เรียนรู้การละเล่นดั้งเดิมอย่างหลากหลายจากการทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ มารีมายนี่เอง โดยในแต่ละตอน น้องณาดาจะได้เดินทางไปในชุมชนต่าง ๆ และเรียนรู้การละเล่นของเพื่อน ๆ ในชุมชนนั้น ๆ โดยจะเห็นได้ว่าของเล่นแต่ละอย่างล้วนสัมพันธ์กับบริบททางธรรมชาติ และวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน
      เล่นกลองกรือโต๊ะ ที่ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นการละเล่นชนิดหนึ่งของชาวไทยมุสลิม จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี นิยมเล่นกันหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ส่วนใหญ่จะเล่น และแข่งขันเพื่อประชันเสียงกัน กรือโตะที่ใช้ในการแข่งขันจะทำจากไม้เนื้อแข็งเพราะจะทำให้มีเสียงดังก้องกังวาล
      รถสาคู ที่บ้านรือเป จ.ยะลา หมู่บ้านแห่งนี้จะมีวัสดุในการทำของเล่นจากธรรมชาติ คือ ต้นสาคู ซึ่งสามารถนำมาทำเป็น "รถสาคู" ของเล่นยอดนิยมในสมัยอดีต ที่ในปัจจุบันหาเล่นได้ยากมาก ๆ แล้ว​​
      ลูกข่างมลายู ที่อ.รามัน จ.ยะลา พื้นที่ที่มีการละเล่นพื้นบ้านตั้งแต่ดั้งเดิมที่มีการสืบสานการละเล่นนี้       สู่เด็ก ๆ คนรุ่นใหม่ ฆาซิงมลายู หรือ ลูกข่างมลายู ซึ่งในปัจจุบันหาเล่นได้ยากมาก ๆ แล้ว
      ลูกหวือ ที่ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงจึงทำให้มีอากาศดี มีหมอกตลอดปี และมีสวนยางมากมายในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่ง "ลูกยาง" ถือเป็นวัสดุหลักของการทำ "ลูกหวือ" ของเล่นยอดนิยมที่เล่นกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ในช่วงที่ลูกยางร่วงหล่นพื้น เด็ก ๆ ก็จะมาเก็บลูกยางเพื่อไปทำของเล่น
      ฉับโผง ที่ชุมชนบ้านแหลม ต.หนองแรต อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มีลำไผ่ขึ้นอยู่มากมาย เด็กๆ ใช้ประดิษฐ์เป็นของเล่นที่เรียกว่า “ฉับโผง” ซึ่งจะเล่นโดยใส่ลูกพลา หรือกระดาษแช่น้ำปั้นเป็นก้อนกลม ๆ เรียกว่ากระสุน นำใส่เข้ากระบอกไม้ไผ่แล้วใช้ไม้ดันให้สุดแรง แรงอัดจะผลักให้กระสุนพุ่งออกไปอย่างแรง ได้ยินเสียงกระสุนดัง “ฉับ” และตอนกระสุนพุ่งออกจากปลายกระบอกจะดัง “โผง” สองเสียงนี้จึงเป็นที่มาของชื่อของเล่นชนิดนี้ 
      รถกระป๋อง ที่ชุมชนติดกับเทือกเขาบูโด ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ของเล่นยอดนิยมในอดีตที่ทำมาจากวัสดุเหลือใช้อย่าง กระป๋องนมจากร้านน้ำชา และหลอดด้ายจากร้านตัดเสื้อ  นอกจากจะใช้ลากเล่นแล้ว             ในสมัยก่อน เด็ก ๆ จะทำรถกระป๋องใส่เทียนเพื่อเป็นแสงสว่าง ในการเดินทางไปเรียนอัลกุรอานในช่วงกลางคืน
      วายังกูเละ หนังตะลุงมลายู ที่บ้านสาคอ ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา หนังตะลุงชายแดนใต้ที่ใช้ภาษามลายูเป็นหลัก เป็นศิลปะการเล่นเงาได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินโดนีเซีย ตัวละครจะเน้นเอกลักษณ์ของชาวมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะตัวตลก ซึ่งมีชื่อแตกต่างกันกับหนังตะลุงภาคใต้

      โรงเรียนชาวนา ที่ต.แว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส เป็นโรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับวิถีการทำนา โดยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจากนาร้างมาหลาย 10 ปี ที่นี่ยัง เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้ลองทำนา จับปลา เล่นน้ำ และทำว่าวแล้ว ยังได้ทำปี่ซังข้าว ผู้ใหญ่ชอบทำให้เด็ก ๆ เป่าเล่นกัน แข่งกันว่าปี่ต้นข้าวใครจะเสียงดีกว่ากัน
เรียนรู้วัฒนธรรมจากขนมและอาหาร
      นอกจากการทำของเล่น น้องณาดา ยังพาเพื่อนๆ ไปเรียนรู้วิธีการทำขนมและอาหารโบราณพื้นถิ่นที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น
      ขนมอาซูรอ ​ ที่บ้านยาเด๊ะ ต.มาโมง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เป็นขนมที่เอาวัตถุดิบหลากหลายที่มีในหมู่บ้าน ไม่มีสูตรตายตัว มีทั้งชนิดคาว และชนิดหวาน คำว่า อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม หรือการรวม และมีวิธีกวนคล้าย ๆ กับการกวนขนมกระยาสารทของไทย
      ขนมนีเล็ง ขนมใบเหลียงป่า ที่บ้านไอปูลง ต.มาโมง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส พื้นที่สมบูรณ์ทางธรรมชาติ     มีแม่น้ำล้อมรอบ เป็นพื้นที่ทำขนม “นีเล็ง” ขนมโบราณ มีแป้งคล้ายขนมเทียน ใช้แป้งข้าวเจ้า มะพร้าว และใบเหลียงป่า                  เป็นวัตถุดิบหลัก หาซื้อขนมชนิดนี้ได้เฉพาะจ.นราธิวาสในพื้นที่เขตภูเขา

      ตูปะซูตง หมึกยัดไส้ต้มหวาน ที่บ้านปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เป็นการนำหมึกยัดไส้ข้าวเหนียวแล้วนำไปต้มกับกะทิ แล้วเติมความหวานด้วยน้ำตาลแว่นและน้ำตาลทราย จะเรียกว่าเป็นอาหารคาวก็ไม่ใช่ อาหารหวานก็ไม่เชิง สามารถหาซื้อได้ตามร้านอาหารทั่วไปในพื้นที่จ.ชายแดนภาคใต้
      ข้าวยำสีม่วง เมนูที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่เพาะปลูก มีทั้งนาข้าว และพืชผักต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะต้นพันสมอ วัตถุดิบหลักที่ทำ “ข้าวยำ” ให้เป็นสีม่วง เมื่อคั้นน้ำออกมาแล้วจะมีสีเขียวเข้ม และเมื่อโดนความร้อนจะกลายเป็นสีม่วง
      ละแซ ขนมจีนชายแดนใต้ ที่บ้านตูตง ต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่นี่มีการปลูกข้าวทำนาเกือบทั้งหมู่บ้าน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทำ "ละแซ" ขนมจีนชายแดนใต้ มีรสสัมผัสของเส้นที่มีความเหนียวหนึบกว่าขนมจีนทั่วไป กินคู่กับน้ำแกงกะทิสีขาว
      รายการ “มารีมาย มาเล่นกันเถอะ” ถือเป็นโอกาสในการเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับคนในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อสื่อสารเรื่องราว และมุมมองดี ๆ สู่วงกว้างของสังคมอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแง่มุมเกี่ยวกับการละเล่นของเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมไปถึงเรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรม และศาสนา ที่แม้แต่เด็กรุ่นใหม่ในพื้นที่ก็มีโอกาสได้รับรู้น้อยลงทุกที

ความคิดเห็น