วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา เยียวยาสตรีปลายด้ามขวาน

 28 เม.ย. 2563 16:41 น.    เข้าชม 4823

          สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 12 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือผู้หญิง และเด็ก ผู้หญิงกว่า 2,800 คนต้องสูญเสียสามี และกลายเป็นหม้าย ในขณะที่เด็กอีกกว่า 8,000 คน ต้องกลายเป็นกำพร้า ผู้หญิงเหล่านี้ต้องพลิกบทบาทตัวเองจากแม่บ้านขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจที่ต้องหารายได้มาเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว และต้องแบกภาระหน้าที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน และยังขาดแคลนทั้งทุนทรัพย์ ทุนความรู้ทางธุรกิจ และการตลาด

          “ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา” เกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์การอ็อกแฟม และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ วานีตา เป็นภาษามลายู แปลว่าผู้หญิง จึงชัดเจนว่ากลุ่มมีเป้าหมายในการเพิ่มพูนศักยภาพของกลุ่มอาชีพผู้หญิง และเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการสนับสนุน ช่วยสร้างพื้นที่ในการสื่อสารที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราววิถีชีวิตที่ต้องต่อสู้ ความเข้มแข็งของกลุ่มผู้หญิง และความมุมานะที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นท่ามกลางภาวะความไม่สงบในพื้นที่

ผลิตภัณฑ์จากสตรีปลายด้ามขวาน

          ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา ทำงานร่วมกับกลุ่มอาชีพผู้หญิงจำนวน 56 กลุ่ม 56 ชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยรวบรวม และนำเสนอสินค้าของกลุ่มอาชีพผู้หญิงที่มีคุณภาพและเอกลักษณ์ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ www.wanita.in.th และทาง Facebook: www.facebook.com/wanitase เพื่อให้คนนอกพื้นที่ได้เข้าใจ และรับรู้เรื่องราวของคนในพื้นที่ และเป็นพื้นที่ในการโปรโมทสินค้าให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงตลาดมากยิ่งขึ้น

          ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีทั้งผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่น ได้แก่ ข้าวเกรียบปลากือโป๊ะ กล้วยหินกรอบแก้ว และผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริติช เคานซิล ซึ่งเล็งเห็นถึงช่องทางในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวานีตา จึงได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจ และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ลงพื้นที่เพื่ออบรม และทำงานร่วมกันกับชุมชน โดยเน้นให้ชาวบ้านดึงอัตลักษณ์ของชุมชนลงไปในการออกแบบผลงาน ให้มีคาแรคเตอร์ที่โดดเด่น เกิดเป็นคอลเลคชั่นงานจักสาน 4 คอลเลคชั่นใหม่ ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของ 4 ชุมชน     ผู้ผลิตผลงานขึ้น

พลังที่ยิ่งใหญ่ของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

          หลังจากจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2561 ได้มีการประชุมใหญ่สมาชิกวานีตาเป็นครั้งแรก ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อรายงานให้สมาชิกได้รับทราบถึงผลประกอบการธุรกิจ แผนการจัดสรรผลกำไร แผนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก และแผนพัฒนาด้านการตลาดในปี 2563 ที่ตั้งใจจะทำการตลาดผลิตภัณฑ์กล้วยหินกรอบแก้ว รวมทั้งได้จัดทำเว็บไซต์ http://www.talesfromthesouth.shop สำหรับ ทำการตลาดสินค้าหัตถกรรมโดยเฉพาะด้วย

          ทั้งหมดนี้จึงเป็นความเติบโตที่น่าภาคภูมิใจ และตอบโจทย์ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการสนับสนุนให้กลุ่มอาชีพผู้หญิงสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตไปพร้อม ๆ กับการดูแลชุมชน และสังคม เพราะเมื่อผู้หญิงมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น สามารถบริหารจัดการชีวิตตัวเอง ดูแลครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้  สามารถพัฒนาธุรกิจ และมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ ในพื้นที่ได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้น ครัวเรือน และชุมชนมีเงินหมุนเวียนจากการขายสินค้า และขยายตลาด ส่งผลให้คนในพื้นที่มีงานทำ และไม่ย้ายถิ่นฐานเพื่อออกหางานทำนอกพื้นที่  ผู้หญิงจึงสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพอันเป็นรากฐานของปัญหาในพื้นที่ได้ในที่สุด

ความคิดเห็น