วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

กระจูดบ้านทอนอามาน ต้นทุนแห่งวิถีภูมิปัญญา

 28 เม.ย. 2563 17:03 น.    เข้าชม 11530

          ผลิตภัณฑ์จากกระจูด เป็นของดีขึ้นชื่อประจำถิ่นจังหวัดนราธิวาส เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นจำนวนมาก แต่หากเอ่ยถึงสินค้าเด่น ชุมชนดังที่นำเอาวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจนสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่ว ต้องยกให้สินค้าจากบ้านทอนอามาน ต.โคกเคียน จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดชายทะเล คือชายหาดบ้านทอน ซึ่งเป็นชายหาดยาวขาวสะอาด และยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีลักษณะเป็นหมู่บ้าน ประมง อาชีพของชาวบ้านส่วนใหญ่จึงทำการประมงเป็นอาชีพหลักนอกจากนั้นยังใช้เวลาว่างประดิษฐ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่นการทำเรือกอและจำลอง การสานเสื่อจากใบกระจูด

          กระจูดเป็นพันธุ์ไม้ประเภทเดียวกับกกเติบโตได้ดีในพื้นที่ป่าพรุ ด้วยวิถีชีวิตของชาวบ้านทอนที่มีพื้นที่    ทำนาน้อยเนื่องจากอยู่ติดทะเลทำให้ต้องหาซื้อข้าวเปลือกจากภายนอกมาเก็บไว้จำนวนมาก เพื่อบริโภค ชาวบ้านจึงนำกระจูดมาสานเป็นกระสอบบรรจุข้าวเปลือก และด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบกับฝีมืออันประณีต          ได้ดัดแปลงสร้างสรรค์ลวดลาย และรูปแบบที่หลากหลายก่อให้เกิดงานศิลปหัตกรรมจักสานกระจูด ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

กลุ่มกระจูดบ้านทอนอามาน

          กลุ่มกระจูดบ้านทอนอามาน ต.โคกเคียน จ.นราธิวาส มีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2543 จากการเข้าร่วมโครงการศิลปาชีพ พัชรินทร์ บินเจ๊ะมิง ประธานกลุ่ม เป็นผู้ริ่เริ่ม และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รวบรวมแม่บ้าน      ที่ฐานะยากจน มีพื้นฐานด้านการสานกระจูด มาตั้งกลุ่ม ด้วยสมาชิกแรกเริ่ม 15 คน จากตอนแรกไม่รู้ว่าทำออกมาแล้วจะไปวางขายที่ไหน แต่เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมงานวันศิลปาชีพ ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สมาชิกได้เข้าร่วมการแข่งขันประกวดผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ และได้รับรางวัลจากผลิตภัณฑ์กล่องกระจูดสาน ทำให้สมาชิกเกิดความภูมิใจ และมั่นใจในงานที่ทำ จากนั้นสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 20 กว่าคน เป็นผู้หญิงล้วน จากแต่ก่อนเป็นการทำไว้ใช้ในครัวเรือนหรือทำเป็นอาชีพเสริม แต่ปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลักของแม่บ้านในชุมชน

          ผลิตภัณฑ์กระจูดบ้านทอนอามานจะเน้นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นดั้งเดิมของพื้นที่ งานมีคุณภาพ และได้รับการยอมรับ ปัจจุบันสินค้าที่ผลิตจากกลุ่มกระจูดบ้านทอนอามานส่งให้กับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ก่อนเป็นลำดับแรก ผลิตภัณฑ์สินค้าทุกชิ้นของกลุ่มจะส่งเข้าสวนจิตรลดา ส่วนตลาดรองลงมา ได้แก่การออกบูธขายสินค้าตามกิจกรรมสินค้าโอทอปของภาครัฐที่จัดขึ้นทั่วประเทศ ทำให้สมาชิกมีรายได้เฉลี่ย 5,000 บาทต่อเดือน รายได้ส่วนหนึ่งทางกลุ่มจะหักเข้ากลุ่มเล็กน้อย ก่อนกระจายให้กับสมาชิก เพื่อเป็นกองทุนสำหรับให้สมาชิกกู้ยืมโดยไม่คิดดอก คุณภาพชีวิตของสมาชิกแต่ละคนมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นด้วยฝีมือ

ชุมชน OTOP นวัตวีถี

          ทางองค์การบริหารส่วนตำบลโคกเคียนก็ได้ให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณในการสร้างอาชีพ มาตั้งแต่ปี 2555 รวมไปถึงการสนับสนุนในด้านการจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มาเป็นวิทยากร ต่อยอดความรู้ให้กับกลุ่ม เช่น ความรู้เรื่องการแปรรูป เติมเต็มในการสร้างเครือข่ายและการตลาด รวมทั้งอบรมให้กับเยาวชนในพื้นที่ เพื่อที่จะให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ มีความมั่นคงและมั่งคั่งด้านเศรษฐกิจ

          การพัฒนาของผลิตภัณฑ์อันโดดเด่นของกลุ่มกระจูดบ้านทอน สะท้อนให้เห็นความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค  ยืนหยัดต่อสู้กับความรุนแรงในพื้นที่ มีความเป็นกลุ่มก้อน  ปรับตัว และพัฒนา จนนำไปสู่การยกระดับสินค้าเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นได้อย่างน่าประทับใจ ประชาชนทั่วไปสามารถอุดหนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และมาเยี่ยมชม เรียนรู้ดูงานกับทางกลุ่มได้ เพราะบ้านทอนอามาน เป็นหมู่บ้านตามโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวีถี เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านการจักสานกระจูด วิถีชีวิตชาวประมงที่ใช้เรือกอและเป็นวิถีชีวิต และประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์เรือกอและจำลอง

ความคิดเห็น