วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

สืบสานสำเนียงรองเง็ง อัตลักษณ์ดนตรีพื้นบ้านจังหวัดชายแดนใต้

 28 เม.ย. 2563 17:19 น.    เข้าชม 8314

          ดนตรีพื้นบ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า ดนตรีรองเง็งเป็นศิลปะการแสดงดนตรีประกอบการร่ายรำแบบไม่มีเนื้อร้อง เป็นการผสมผสานดนตรีหลายประเภทเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการดีดสี ตีเป่า บางส่วนก็เป็นเครื่องดนตรีสากล นั่นเพราะได้รับอิทธิพลจากชาวสเปน และโปรตุเกส ที่ได้มาแสดงในแหลมมลายู เมื่อคราวมาติดต่อค้าขายกันในอดีต ผสมผสานกับเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เพิ่มกลิ่นอายความเป็นมลายูจนกลายเป็นหนึ่งอย่างที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองเง็งในบริบทของวัฒนธรรมปัตตานี ถือเป็นรองเง็งในราชสำนัก ใช้ในการเล่นต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

          ในอดีต รองเง็งพื้นบ้านมีมากกว่า 200 เพลง แต่ก็ได้สูญหายไปตามกาลเวลา ปัจจุบันที่หลงเหลือให้ได้ยินก็มีประมาณ 14-15 เพลงเท่านั้น แต่การส่งต่อเพื่อสืบทอดศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่านี้ ก็ไม่ได้เจาะจงว่า ผู้ที่รับมรดก จะต้องหวงไว้สำหรับคนเชื้อชาติศาสนาเดียวกันเท่านั้น ขาเดร์ แวเด็ง ปรมาจารย์ด้านดนตรีพื้นบ้าน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้าน ประจำปีพุทธศักราช 2536 ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับผู้ที่สนใจได้สืบสานศิลปวัฒนธรรมอันดีงามนี้ ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน

เสียงดนตรีไม่มีพรมแดน

          สารสิทธิ์ นิลชัยศรี ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น หนึ่งในลูกศิษย์ครูขาเดร์ แวเด็ง ได้สานต่อปณิธาน สอนดนตรี พื้นบ้านให้กับผู้ที่สนใจ และต่อยอดเพื่อให้ดนตรีพื้นบ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือรองเง็งเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ดั้งเดิม ครูสารสิทธิ์เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด และย้ายมาอยู่ที่จังหวัดปัตตานีเมื่อปี พ.ศ.2534 จะได้ยิน ได้ฟังบทเพลงของครูขาเดร์ฯ ผ่านการบรรเลงในสถานีวิทยุ มอ. ทุกๆ วัน เสียงเพลงไวโอลินนั้นไพเราะจับใจมาก           จึงพยายามตามหาคน ผู้เล่น จนวันหนึ่ง ได้พบกับครูขาเดร์ ในโอกาสการเข้าร่วมกิจกรรมที่สนามกีฬากลาง และได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกัน เรื่อยมา

          ต่อมาในปี พ.ศ.2544 ศอ.บต., สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และ มอ.ปัตตานี ได้ร่วมกันจัดทำโครงการศึกษาดนตรีพื้นบ้าน ครูสารสิทธิ์ จึงได้ไปสมัครเข้าร่วมโครงการฝึกอบรม เป็นเวลาสามเดือน ได้ศึกษาเครื่องดนตรีทุกอย่างที่ใช้เล่นดนตรีรองเง็ง มีทั้งเครื่องดนตรีตะวันตก ได้แก่ ไวโอลิน แมนโดลิน และแอคคอร์เดี้ยน เป็นตัวดำเนินทำนองหลัก ส่วนเครื่องดนตรีทางตะวันออก ได้แก่ กลองรำมะนา ฆ้องมลายู และมาราคัส เป็นเครื่องให้จังหวะ

สานต่อปณิธานสู่คนรุ่นใหม่

          จากเดิมที่ครูสารสิทธิ์ ได้เรียนจากครูขาเดร์  ผ่านการเรียนการสอนของครูเพลงดั้งเดิม คือใช้ การฟัง จดจำ บันทึกเสียง และฝึกฝนตามครู จากนั้นยังมีโอกาสได้รับการถ่ายทอดจากครูเซ็ง อาบู ผู้สามารถจดจำเพลงพื้นบ้านดั้งเดิมได้มากมาย และช่วยสอน ช่วยต่อเพลงให้ ซึ่งครูเซ็ง อาบู ครูเพลงอาวุโส ก็คือ หนึ่งในสมาชิกวงอีรามาอัสลี - วงดนตรีรองเง็งของครูขาเดร์  ซึ่งปัจจุบันใน จ.ปัตตานี มีวงดนตรีรองเง็ง 2 วงคือ วงอีรามาอัสลี ของครูขาเดร์ มีผู้สานต่อคือ ลูกชายของครูขาเดร์ ที่ตั้งใจกลับมาสืบสานองค์ความรู้ของบิดา และยังมีวงรองเง็งของครูสารสิทธ์ ชื่อวงเปอร์มูดาอัสลี

          ในปัจจุบัน วงรองเง็งของผู้ใหญ่ที่เล่นเป็นอาชีพนั้นเหลือน้อยมาก ซึ่งแต่ละวงก็พยายามถ่ายทอดไปยังคนรุ่นใหม่ โดยได้ใช้หลักการของโน้ตดนตรีสากลมาใช้ในการสอนเด็ก ๆ รุ่นใหม่เพื่อให้ถ่ายทอดได้ง่ายขึ้น เปิดกว้างให้ผู้สนใจ เด็ก และเยาวชนรุ่นใหม่ และเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ได้เรียนรู้ เกิดเป็นวงรองเง็งของเด็ก และเยาวชนตามโรงเรียน และชุมชนต่าง ๆ เช่น วงอาเนาะบุหลัน เป็นต้น โดยมีเพลงที่เป็นที่นิยมอยู่ประมาณ 14 เพลง เป็นเพลงพื้นบ้านดั้งเดิม โดยมีการเล่นประกอบการรำ และเน้นย้ำให้รักษาสำเนียงท่วงทำนองแบบมลายู ที่เป็นอัตลักษณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้

ความคิดเห็น