วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

“คนเลี้ยงแพะ” จากวิถีครัวเรือน สู่สัตว์เศรษฐกิจชายแดนใต้

 2 ก.ค. 2563 15:14 น.    เข้าชม 7904

          ดั้งเดิมชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอาชีพหลักในการทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ทำนาข้าว และเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ไก่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพะ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากแพะเป็นสัตว์พิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาอิสลาม จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ปี 2562 พบว่าในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะและจำนวนแพะมากที่สุดของประเทศ โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะคิดเป็น ร้อยละ 66.45 และมีจำนวนแพะ คิดเป็นร้อยละ 30.14 แม้ว่าจํานวนการเลี้ยงแพะต่อครัวเรือนลดลงมาก ส่วนใหญ่เกษตรกรเลี้ยงแพะไว้ครัวเรือนละ 1-6 ตัว เพื่อนําเนื้อแพะไปใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและบริโภคในครัวเรือน โดยเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ เรือกสวน ไร่นา

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบาย และแนวทางในการใช้ “การพัฒนา” เข้าไปเป็นเข็มทิศนำทางการแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อสร้างงานและอาชีพให้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นเกราะป้องกันการถูกชักจูงให้เคลื่อนไหวก่อความไม่สงบในพื้นที่ การส่งเสริมการเลี้ยงแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจจึงเป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งสามารถส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงสัตว์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริมให้กับประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง สามารถหากินใบไม้ใบหญ้าได้เอง ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ แข็งแรง ไม่ติดโรคง่าย อีกทั้งยังให้ผลผลิตเนื้อและนม ซึ่งเนื้อแพะเป็นอาหารที่มีโปรตีนที่ย่อยได้ในระดับสูงกว่าเนื้อวัว หมู และไก่ มีไขมันในระดับต่ำกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ ส่วนนมแพะมีคุณค่าทางอาหารสูง   มูลแพะใช้ทำปุ๋ย เลือด และกระดูกนำมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ขน และหนังสามารถแปรรูปเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้

โครงการธนาคารแพะตำบลสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้

          กรมปศุสัตว์ เล็งเห็นความสำคัญ และประโยชน์ของการเลี้ยงแพะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ หันมาทำอาชีพการเลี้ยงแพะให้เกิดรายได้ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลโดยได้มอบหมายให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ทำการคัดเลือกเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 1,000 ราย เข้าร่วม “โครงการธนาคารแพะตำบลสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้” ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกรจังหวัดยะลา 250 ราย, กลุ่มเกษตรกรจังหวัดปัตตานี 500 ราย และกลุ่มเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส 250 ราย ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560

          ทังนี้ กรมปศุสัตว์ได้จัดหา และส่งมอบแพะพันธุ์แท้ให้กับเกษตรกรเพื่อเลี้ยงขยายพันธุ์ โดยมีเงื่อนไขให้เกษตรกรรุ่นแรกที่ได้รับแพะพันธุ์แท้ไปนั้น ให้ส่งคืนผลผลิตลูกแพะตัวแรกให้กับกลุ่มทุกราย เพื่อนำไปขยายผลให้กับสมาชิกเกษตรกรรายอื่นในรุ่นต่อไป เกษตรกร 1 รายจะได้รับแพะจำนวน 5 ตัว เป็นแพะเพศผู้ 1 ตัว และเพศเมีย 4 ตัว แพะพันธุ์แท้ที่กรมปศุสัตว์ได้จัดสรรให้เกษตรกรมี 3 พันธุ์ ซึ่งล้วนเป็นแพะพื้นเมืองภาคใต้ที่ผ่านการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น มีคุณลักษณะเฉพาะ และมีคุณสมบัติครบถ้วน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ สามารถเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ และสร้างอัตลักษณ์ของแพะพื้นเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้แก่ แพะพันธุ์ดำบางนรา, พันธุ์โหนดวังพญา และพันธุ์ขาวสมิหลา

ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการเลี้ยงแพะ บ้านสุเหร่า ตำบลท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

          มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เข้ามาทำงานเพื่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2559 ในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ของสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งการทำงานจะแบ่งเป้าหมายออกเป็นระยะ ๆ ระยะแรก คือการอยู่รอด และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เริ่มงานระยะแรกเพื่อการเกษตรและบริโภคในครัวเรือน ตามด้วยการพัฒนาอาชีพเดิม ส่งเสริมอาชีพใหม่ ตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในพื้นที่การเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ชุมชนบ้านสุเหร่า ตำบลท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

          ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้เริ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่ชุมชนบ้านสุเหร่า ในปี 2560 โดยเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตรเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นได้ส่งเสริมการส่งเสริมด้านปศุสัตว์ โดยมีเกษตรกร 12 รายที่มีอาชีพเลี้ยงแพะมาหลายปี และแพะก็เป็นที่ต้องการในตลาดภาคใต้ แต่จำนวนแพะที่เลี้ยงไว้ในพื้นที่ของชาวบ้านสุเหร่ากลับมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้า เพราะแต่ละวันจะมีลูกค้าจากจังหวัดอื่นในพื้นที่ชายแดนใต้มาหาซื้อแพะแทบจะทุกเดือนเพื่อนำไปประกอบอาหารฉลองสำหรับเด็กเกิดใหม่

          ในการส่งเสริมระยะแรก หลังจากการเก็บข้อมูลชุมชนและสำรวจความต้องการของชาวบ้านแล้ว มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้พาเกษตรกร 5 ราย ไปศึกษาดูงานที่ จังหวัดต่าง ๆ ที่มีการเลี้ยงแพะทั่วประเทศ เพื่อนำวิธีการเลี้ยงที่เหมาะสมมาปรับเข้ากับสภาพแวดล้อมในชุมชน และได้มอบแพะพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพันธุ์แบล็คเบงกอล เพื่อใช้ในการต่อยอด และสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ โดยการขยายพันธุ์แพะให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ มีการสนับสนุนการสร้างโรงเรือนคอกแพะให้ได้มาตรฐาน ซึ่งทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้สนับสนุนด้านการออกแบบและงบประมาณ โดยให้ชาวบ้านลงแรงช่วยกันทำ

          จุดเด่นประการหนึ่งของศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการเลี้ยงแพะชุมชนบ้านสุเหร่า ตำบลท่าน้ำ ได้แก่ การผสมผสานระหว่างความรู้ด้านสัตวบาลสมัยใหม่กับภูมิปัญญาดั้งเดิมจากปราชญ์ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพรพื้นบ้านในการดูแลสุขภาพแพะ รวมทั้งการใช้พืชที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเป็นอาหารหลักให้กับแพะ ซึ่งพืชท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นที่สุดได้แก่ ผักกระฉูด ที่ขึ้นอยู่ตามลำคลอง ชาวบ้านจะเก็บแล้วนำมาสับให้ละเอียดให้แพะกิน สลับกับหญ้าเนเปียร์ และยังมีใบยอ ใบเม่า ใบแคฝรั่ง และหญ้าพันธุ์พื้นถิ่นที่ขึ้นตามธรรมชาติ สามารถนำมาเป็นอาหารแพะได้ทั้งสิ้น โดยให้หมุนเวียนกันไปให้หลากหลาย บางครั้งก็ปล่อยเข้าสวนให้กินอาหารตามธรรมชาติ และออกกำลังกาย จากประสบการณ์ของคนเลี้ยง พบว่าแพะที่กินผักกระฉูด จะมีขนที่เรียบ ขนาดตัว    มีความอ้วนท้วนสมบูรณ์ สุขภาพดี จนเจ้าหน้าที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้เข้ามานำตัวอย่างผักกระฉูดไปตรวจหาสารอาหาร จึงได้ทราบจากผลการตรวจพบว่า  มีโปรตีนสูงกว่าพืชผักในพื้นที่ชนิดอื่น ๆ เหมาะในการนำมาเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก

          จากโครงการนำร่องที่เริ่มต้นด้วยแพะพระราชทานเพียง 25 ตัว เมื่อรวมกับการเลี้ยงแบบเป็นระบบจากความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากหน่วยงาน ปัจจุบัน ตำบลท่าน้ำ มีแพะประมาณ 270 ตัว และทั้งอำเภอ ปะนาเระ มีแพะประมาณ 7,000 ตัว จากเดิมที่เลี้ยงแบบตามมีตามเกิดแพะที่คลอด 5-6 เดือนจะขายได้ครั้งละ 6-7 พันบาท แต่เมื่อมีความรู้ เช่น เมื่อได้แพะตัวเมียจะเก็บไว้ขยายพันธุ์ ปัจจุบันชาวบ้านมีแม่พันธุ์นับสิบตัว รายได้การขายแพะต่อครั้งก็เพิ่มเป็นเกือบ 2 หมื่นบาท นอกจากแพะที่ขายเป็นตัวแล้ว “มูลแพะ” ยังเป็นอีกส่วนที่สร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงนำไปทำปุ๋ยขายได้อีกด้วย

ความคิดเห็น